เดิมพันลงทุนไทย ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ เจอวิกฤตซ้อนวิกฤต!!/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

เดิมพันลงทุนไทย

ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ

เจอวิกฤตซ้อนวิกฤต!!

ขณะนี้การลงทุนทางเลือกสำคัญในการสู้ศึกเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญปัจจัยลบรอบด้าน กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งโรคระบาดที่ยังไม่จบสิ้น ทำให้การท่องเที่ยวอาจไม่ฟื้นตัวเต็มที่

พิษสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลต่อราคาพลังงาน วัตถุดิบแพงยับ เกิดปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ และผลจากเงินเฟ้อของหลายประเทศสำคัญพุ่งแรงจนต้องขึ้นดอกเบี้ยสกัด โดยเฉพาะดอกเบี้ยสหรัฐจนกดดันค่าเงินบาทไทยอ่อนยวบทะลุ 36 บาท แม้เป็นบวกต่อกลุ่มส่งออก แต่ถัวเฉลี่ยแล้วอาจไม่คุ้ม เพราะไทยนำเข้าพลังงานเป็นหลัก โดยเฉพาะน้ำมัน จึงกดดันราคาพุ่งทะยาน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดหนี้ทะลุแสนล้านบาท

ล่าสุดแม้ราคาตลาดโลกเริ่มลดลงเพราะกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ก็ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด รวมทั้งปัจจัยอื่นที่อาจขยายวิกฤตให้กลับมารุนแรงกว่าเดิม

เพื่อให้การลงทุนไทยคือทางเลือกและทางรอด!! ล่าสุดหน่วยงานขับเคลื่อนการลงทุน ทั้งสำนังานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (กนอ.) ต่างเดินหน้าเปิดเกมรุกการลงทุนไทย ออกไปโรดโชว์ประเทศเป้าหมายเจรจานักลงทุนทั้งหน้าเก่าและเริ่มติดต่อนักลงทุนหน้าใหม่ เพื่อเร่งการลงทุนไทยให้กลับมาคึกคัก

ดันจีดีพีไทยให้แข็งแกร่ง

 

ตัวอย่างทริปที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัดคือ ทริปโรดโชว์ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับ กนอ. เมื่อวันที่ 14-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม และเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นให้มาลงทุนในประเทศไทย

ผู้นำทริปคือ “ณัฐพล รังสิตพล” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ว่าที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่

กิจกรรมสำคัญ อาทิ ดีพร้อมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับเมืองโยโกฮามะ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่นลักษณะวิน-วิน ซึ่งเมืองโยโกฮามะจะส่งบุคลากรภาครัฐมานั่งประจำการโต๊ะญี่ปุ่นดีพร้อม ภายในเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นได้ไม่ต่ำกว่า 150 คู่ภายในปี 2566

นอกจากนี้ ยังพบปะผู้ประกอบการญี่ปุ่น 50 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร พลาสติกชีวภาพ การบินและโลจิสติกส์ เคมีภัณฑ์ชีวภาพ ดิจิตอล อาหารแห่งอนาคต ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ เพื่อเชิญชวนให้ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย

ในครั้งนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ร่วมทริปด้วย ยังนำเสนอความพร้อมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศไทย รวมถึงความพร้อมของนิคมฯ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์

พร้อมแจ้งนักลงทุนญี่ปุ่นถึงการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ อาจได้รับการยกเว้นภาษีสูงถึง 10 ปี และจากนั้นอาจขอลดได้อีก 50% ถือเป็นไฮไลต์ที่สร้างความน่าสนใจให้กับการลงทุนไทยพอสมควร

 

ด้านบีโอไอ ล่าสุดจัดทริปออกไปโรดโชว์อย่างเข้มข้นเช่นกันในหลายประเทศ ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ล่าสุดมีรายงานตัวเลขเป็นที่ยืนยันว่า ยอดขอส่งเสริมการลงทุนแม้ตัวเลขคำขอช่วงครึ่งปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2565) จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนมูลค่าแม้ลดลงแต่ไม่น่ากังวล เพราะปีที่ผ่านมี 2 โครงการใหญ่มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ฐานตัวเลขปีที่ผ่านมาจึงสูง โดยบอร์ดบีโอไอจะพิจารณาตัวเลขคำขอเดือนสิงหาคมนี้

ขณะที่ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2565) สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนถือว่าเติบโตท่ามกลางวิกฤตที่โควิดกลับมาระบาดอย่างหนัก โดยมีจำนวนโครงการรวม 378 โครงการ เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่ารวม 110,733 ล้านบาท ลดลง 6%

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 77,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29%

โดยแหล่งที่มาของเงินทุนที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน 37,076 ล้านบาท ญี่ปุ่น 13,788 ล้านบาท และจีน 13,361 ล้านบาท

อุตสาหกรรมที่ยื่นขอรับการส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน การเกษตรและแปรรูปอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่บรรยากาศการลงทุนจริง ผ่านการตั้งโรงงานใหม่ ขยายการลงทุนที่มีอยู่เดิม กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) หรือกรมโรงงานฯ รายงานข้อมูลน่าสนใจ พบว่า ช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2565 ยอดตั้งใหม่อยู่ที่ 1,680 โครงการ ลดลง 12% มูลค่า 1.21 แสนล้านบาท ลดลง 46% จ้างงาน 5.1 หมื่นคน ลดลง 12.35%

แต่พบว่ายอดขยายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 234 โครงการ เพิ่ม 7.38 โครงการ แต่มูลค่าลดลงเหลือ 6.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 11.98% ที่น่าสนใจคือการจ้างงานสูงขึ้นอยู่ที่ 4.5 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 26.34% โดยยอดตั้งโรงงานใหม่สูงสุดอยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ รองลงมาคือ อาหาร ผลิตไฟฟ้าและอุปกรณ์

ขณะที่ยอดขยายสูงสุดคืออาหาร สิ่งทอ ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์

 

เรื่องนี้ “วันชัย พนมชัย” อธิบดีกรมโรงงานฯ ระบุว่า การตัดสินใจลงทุนในเวลานี้คือการสร้างโอกาสจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ทั้งโควิดและสงครามที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก วิกฤตต้นทุนพลังงานต่อเนื่องไปยังเงินเฟ้อ ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น น่าจะเป็นอีกเหตุผลให้ผู้ประกอบการลงทุนน้อยลง

อธิบดีกรมโรงงานฯ ระบุด้วยว่า จากข้อมูลพบนักลงทุนชิ้นส่วนยานยนต์ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทยเพราะเล็งเห็นศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคตลอดจนเป้าหมายการมุ่งสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนกลุ่มที่ขยายลงทุนพบว่าอาหารมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะสงครามส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ไทยมีจุดแข็งด้านนี้ การใช้โอกาสนี้เร่งส่งออกจึงเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการดำเนินการ ขณะเดียวกันผลจากการเปิดประเทศทั่วโลกก็ทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นด้วย เป็นโอกาสสำคัญของไทย

“ยอดตั้งและขยายโรงงานปีนี้มูลค่าคงไม่กลับไปสูงเหมือนช่วงก่อนโควิด ซึ่งอยู่ระดับ 4 แสนล้านบาท เพราะปัจจัยลบยังมีอยู่ แต่ก็พบว่านักลงทุนที่ตั้งโรงงานอยู่แล้วตัดสินใจขยายโรงงานเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย” อธิบดีวันชัยทิ้งท้าย

ทุกหน่วยระดมความร่วมมือขนาดนี้ น่าลุ้นว่าลงทุนไทยจะฝ่ามรสุมเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้หรือไม่