หลักฐานฝ่ายล้านช้าง ‘นางยอดคำ’ มิใช่ราชนิกุลล้านนา? (จบ)

หลังจากที่ดิฉันได้จัดรายการคลับเฮาส์ร่วมกับกลุ่ม THEA’S CLUB ของคุณซอนญ่า สร้อยนภา (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมัคคุเทศก์และการท่องเที่ยว) ไปแล้วเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อหัวข้อเสวนาว่า “ใครเป็นใคร ในทำเนียบมหาเทวี ช่วงปลายอาณาจักรล้านนา” โดยได้เชิญวิทยากรหลักสองท่านมาร่วมเสนอหลักฐานใหม่ ได้แก่ คุณชัยวุฒิ ไชยชนะ และ คุณธีรานนท์ โพธะราช

สิ่งที่ได้รับจากการเสวนาครั้งนี้ ทำให้ดิฉันได้ข้อมูลใหม่เพิ่มเติมมากขึ้น แน่นขึ้น ฉบับนี้จึงขอหวนกลับมาปิดจ๊อบบทความที่ค้างไว้ ว่าด้วย “นางยอดคำ” คือใครกันแน่?

(โปรดสังเกตว่าฉบับนี้ได้เปลี่ยนชื่อจาก “พระนางยอดคำทิพย์” มาเป็น “นางยอดคำ” โดยยึดเอาตามเอกสารโบราณที่ปรากฏ)

จิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างไทลื้อ ที่วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน

 

หน่อเนื้อเชื้อสายเชียงใหม่

ตั้งแต่รุ่นย่าทวด “เจ้านางน้อยอ่อนสอ”

ฉบับก่อนหน้านี้ ดิฉันได้ทิ้งท้ายถึงเอกสารลาวชิ้นหนึ่งชื่อ “พื้นขุนบรมราชาธิราช ฉบับวัดธาตุหลวง นครหลวงพระบาง” เป็นเอกสารที่รจนาขึ้นในปี จ.ศ.1222 (พ.ศ.2403) ตามรับสั่งของพระเจ้าน้องนางเธอของพระเจ้าจันทรเทพประภาคุณ ผู้เป็นกษัตริย์หลวงพระบาง

ดูจากศักราชแล้ว เขียนขึ้นราว 160 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ธีรานนท์ โพธะราช ยืนยันว่าเนื้อหาของเอกสารนี้ น่าจะเก่าไปถึงรัชกาลพระไชยองค์เว้เป็นอย่างน้อย (หมายถึงต้นรัตนโกสินทร์)

พื้นขุนบรมฯ ระบุว่า เจ้านางหอสูง (นางยอดคำ) สืบเชื้อสายมาจากท้าวคำเต็มซ้า (พระญาจิกคำ) กษัตริย์หลวงพระบางลำดับที่ 5

ดิฉันได้เขียนค้างไว้แค่นั้น ด้วยข้อสันนิษฐานว่า หากเจ้านางหอสูงเป็นธิดาสายตรงที่ประสูติแต่ท้าวคำเต็มซ้า ก็จักดูกระไรๆ อยู่ เหตุที่นางต้องมีสถานะเป็นถึงเจ้าพี่เจ้าน้องกับรุ่นพ่อของพระเจ้าโพธิสาลราช (คือพระเจ้าวิชุน) ฉะนี้แล้ว “ป้า-หลาน” จักเสกสมรสกันได้อย่างไร

กระทั่งได้สอบถามคุณธีรานนท์ โพธะราช อย่างละเอียดอีกครั้ง สรุปความว่า เจ้านางหอสูงนั้น ยังไม่ใช่พระธิดาสายตรงของท้าวคำเต็มซ้าแต่อย่างใด ทว่า นางเป็นชั้นหลานต่างหาก กล่าวคือ นางเป็นธิดาของโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าคำเต็มซ้า (ซึ่งพ่อของนางหอสูงนี้เราไม่ทราบชื่อ)

ส่วนพระเจ้าคำเต็มซ้านั้นเป็นโอรสของ “พระเจ้าสามแสนไท” กษัตริย์ล้านช้างองค์ที่ 2 ที่เสกสมรสกับมเหสีชื่อ “เจ้านางน้อยอ่อนสอ”

น่าสนใจทีเดียวที่ “เจ้านางน้อยอ่อนสอ” ผู้นี้เป็นเจ้าหญิงมาจากเชียงใหม่ การสืบค้นน่าจะหยุดอยู่แค่นั้น เหตุที่เรายังไม่ได้ตั้งคำถามต่อกันไปให้ลึกอีกว่า นางท่านนี้เป็นธิดาใครหรือในราชวงศ์มังราย?

เห็นได้ว่า แม้เอกสารของฝ่ายล้านช้างจะยืนยันว่า เจ้านางหอสูง (นางยอดคำ) ไม่ใช่พระราชธิดาของพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์ล้านนา ก็จริงอยู่ แต่อย่างน้อยที่สุด ย่าทวด (นางน้อยอ่อนสอ) ของเจ้านางหอสูง ก็สืบเชื้อสายมาจากราชสำนักเชียงใหม่

 

พระไชยเชษฐามีลุงเป็น “พระยากลาง”

เอกสารพื้นขุนบรมฯ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ลุงของพระไชยเชษฐา หรือพี่ชายของเจ้านางหอสูงนั้น มีชื่อว่า “พระยากลาง” ดังข้อความตอนที่กล่าวว่า

“…มีเสนาใหญ่ตนหนึ่ง ชื่อว่าพระยากาง เจ้าตนนี้เป็นพี่ชายนางหอสูง…” โดยพระยากลางเป็นหนึ่งในเสนาบดีที่ขึ้นไปช่วยราชการพระไชยเชษฐาที่เชียงใหม่ด้วย จากนั้นกลับมาสำเร็จราชการและจัดการบ้านบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณให้พระไชยเชษฐาอีกหลายครั้ง

ลุงท่านนี้มีตำแหน่งเป็น “แสนเมือง” หรืออัครมหาเสนาบดี จึงมักออกพระนามอีกอย่างว่า

“พระยาแสนลุง” ธีรานนท์ โพธะราช วิเคราะห์ว่า พระยาแสนลุงท่านนี้ ย่อมไม่ใช่โอรสพระเมืองเกศเกล้าแน่นอน

ตามข้อมูลเดิมที่เคยเชื่อกันว่า นางยอดคำเป็นธิดาของพระเมืองเกษเกล้า ในขณะที่พระเมืองเกษเกล้าเองก็มีโอรสอยู่สองพระองค์คือ ท้ายซ้ายคำกับท้าวจอมเมือง ไม่เคยปรากฏชื่อ พระยากลาง หรือท้าวกลาง แต่อย่างใด ดังนั้น พระยาแสนลุงคือใคร หากเรายึดว่าท่านเป็นพี่ชายของนางยอดคำ และนางยอดคำเป็นธิดาของพระเมืองเกษเกล้า

จึงวกมาสู่คำถามที่ว่า นางยอดคำจะยังคงเป็นธิดาของเมืองเกษเกล้าได้อยู่อีกหรือไม่?

สาแหรกราชวงศาล้านช้าง ที่คุณธีรานนท์ โพธะราช จัดทำเพื่ออธิบายให้เห็นสายวงศ์ของ “พระไชยเชษฐา” ทั้งฝ่ายพระราชบิดาและพระราชมารดา

ปมปัญหาเรื่องใครนั่งเมืองเชียงใหม่

พ่อหรือลูก?

ประเด็นที่ทุกคนคาใจคือ หากพระไชยเชษฐามิได้มีพระราชมารดา (นางยอดคำ) เป็นธิดาของฝ่ายล้านช้างแล้วไซร้ พระองค์จะเหลือความชอบธรรมอันใดอยู่อีกหรือ จึงสมควรได้รับเชิญให้ขึ้นนั่งเมืองเชียงใหม่ หากทั้งสายพ่อและสายแม่ต่างเป็นล้านช้างล้วนๆ?

เป็นปัญหาที่น่าขบคิดมาก หากพิจารณาถึง “สิทธิอันชอบธรรม” ของผู้นั่งบัลลังก์ ว่าทำไมจึงไม่เลือกคนที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขล้านนา?

เรื่องนี้ ธีรานนท์อธิบายต่อไป โดยอ้างอิงเอกสารพื้นเชียงใหม่ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงที่แสนคร้าว ขุนนางเชียงใหม่ก่อรัฐประหาร และปลงพระชนม์พระเกษเมืองเกล้าแล้ว แสนคร้าวพยายามหาเจ้านายในแว่นแคว้นข้างเคียงมาครองล้านนา เพื่อจะให้เป็น “หุ่นเชิด”

ในชั้นแรก แสนคร้าวไปเชิญเจ้าฟ้าเชียงตุงให้มาครอง แต่เจ้าฟ้าเชียงตุงไม่รับ จึงไปเชิญเจ้าฟ้าเมืองนาย คราวนี้เจ้าฟ้าเมืองนายรับจะมาครองล้านนา

ในระหว่างที่เจ้าฟ้าเมืองนายยังมาไม่ถึงนั้น ขุนนางล้านนาซึ่งเป็นขั้วอำนาจตรงข้ามกับแสนคร้าวประกอบด้วย เจ้าหมื่นสามล้านอ้ายเจ้าเมืองลำปาง เจ้าหมื่นแก้วเจ้าเมืองเชียงราย เจ้าหมื่นมโนเจ้าเมืองเชียง แสน เจ้าหมื่นยี่เจ้าเมืองพาน ได้ไปรวมตัวกันที่เชียงแสน แล้วส่งขุนนางไปเชิญ “พระโพธิสาลราช” กษัตริย์ล้านช้าง ให้มาครองล้านนา แข่งกับเจ้าฟ้าเมืองนายของฝ่ายแสนคร้าว

“…เจ้าขุนทั้งหลายพร้อมกันยังเชียงแสน จิ่งหื้อหมื่นตาแสงพ่อนาย ไพราธนาพระญาล้านช้าง ก็รับปฏิญาณว่าจักมากินเชียงใหม่…” (จากพื้นเชียงใหม่ ฉบับ 700 ปี)

ธีรานนท์กล่าวว่าเหตุการณ์นี้ บันทึกตรงกันกับเอกสารพื้นขุนบรมฯ ของฝ่ายล้านช้าง ที่กล่าวว่า

“…แต่นั้นพระสังฆเจ้าทั้งหลาย ทั้งสวนดอก ทั้งป่าแดง แลชื่อเมืองทั้งมวล เป็นต้นว่า พระยาแสนหลวง พระยาสามล้าน พระยาเชียงแสน พระยาเชียงราย พระยาฝาง พระยาพะยาว พระยาน่าน พระยานคร พระยาแพร่ เขาเจ้าทั้งหลาย พร้อมกันจึงมาราธนานิมนต์ขอเอาพระโพธิสาราชเจ้า เมือเป็นเจ้าแผ่นดินในเมืองพิงเชียงใหม่ถึงสองที สามที ก็จึงเมือตามนิมนต์ เขาหั้นแล…”

การกว่าจะได้ครองราชย์ของกษัตริย์ล้านช้างในแผ่นดินล้านนาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลังจากนั้นยังมีผ่ายอยุธยาและฝ่ายไทใหญ่เข้ามาผสมโรงกันอีกอีนุงตุงนัง (ซึ่งเหตุการณ์ช่วงนี้ ขอยกยอดไปเขียนอย่างละเอียด ตอนวิเคราะห์ว่าพระมหาเทวีจิรประภาคือใคร ฉบับหน้า)

 

ขอตัดเหตุการณ์ไปสู่ตอนที่ ในที่สุดขุนนางล้านนากลุ่มหนึ่งสามารถกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญ “พระโพธิสาลราช” ให้ขึ้นครองราชสมบัติที่เมืองเชียงใหม่เลย เพราะถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ล้านนาที่ตกหล่นหรือขาดหายไป

แทบไม่เคยมีนักประวัติศาสตร์ล้านนาพูดถึงหรือนับว่า พระโพธิสาลราช เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งในทำเนียบกษัตริย์ล้านนาเลย อาจเป็นเพราะว่าพระองค์ครองราชสมบัติอยู่เพียง 1 เดือนก็เป็นได้

จากนั้นพระองค์มีพระราชดำริกับขุนนางล้านนาว่าจะสละราชสมบัติให้กับพระอุปโย (ยุวราช) โอรสองค์โตพระนามว่า พระไชยเชษฐาธิราช ดังที่ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญไชยเขียนว่า

“…พระญาล้านช้างพระนามว่าโพธิสาร มาเสวยเมืองเชียงใหม่อยู่ 1 เดือน แล้วทรงมอบเมืองเชียงใหม่ให้พระญาอุปโยวผู้เป็นราชโอรสขึ้นเสวยเมืองเชียงใหม่แทน ส่วนพระองค์เสด็จกลับคืนไปครองเมืองล้านช้างตามเดิม…”

เห็นได้ว่า การอภิเษกเจ้านายจากล้านช้างขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงใหม่นั้น ครั้งแรกยังไม่ใช่ “พระไชยเชษฐา” ตามที่เคยเข้าใจกันไม่ หากแต่กลายเป็นพระบิดาของพระองค์คือ “พระโพธิสาลราช”

พระโพธิสาลราชเอง ก็ไม่ได้มีเลือดเนื้อไขจากสายล้านนาเช่นกัน การที่พระองค์ถูกเสนอชื่อให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ล้านนา ทั้งที่ไม่ได้สืบสายตระกูลกันมาก่อนนี้ก็มีเงื่อนงำ ธีรานนท์วิเคราะห์ว่า สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ “ชิงไหวชิงพริบ” ของฝ่ายขุนนางที่ต่างขั้วกันนั่นเอง บางฝ่ายต้องการหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ ใครก็ได้ที่เข้มแข็งมั่นคงแม้ไม่ได้สืบสายเลือดจากราชวงศ์มังราย แต่ก็มีบางฝ่ายที่ต้องการเอาสายเลือดล้านนาแท้ๆ เท่านั้นขึ้นปกครอง

เมื่อพระโพธิสาลราชได้ครองล้านนาแล้ว ถามว่าจะให้พระองค์ดำเนินการอย่างไรต่อกับล้านช้าง อาณาจักรของพระองค์เองเล่า แน่นอนว่า พระองค์ย่อมประสงค์จะกลับไปปกครองบ้านเมืองของตัวเอง จึงมีความคิดที่จะเวนราชบัลลังก์ล้านนาให้แก่พระโอรสไชยเชษฐาแทน

ความสัมพันธ์ของพระไชยเชษฐากับล้านนาแนบแน่นขึ้น เมื่อมีการอภิเษกราชนารี 2 พระองค์ชื่อ “นางตนทิพ” และ “นางตนคำ” ให้เป็นอัครชายาซ้ายขวาแก่พระไชยเชษฐา

นางทั้งสองนี้ ไม่ระบุว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร หลายท่านสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระธิดาของพระเมืองเกษเกล้า ที่ประสูติแต่มเหสีองค์หนึ่ง (มารดาคนละองค์กับท้าวซายคำ ทั้งคู่อาจเป็นพี่สาวหรือน้องสาวของท้าวจอมเมือง)

หากเป็นตามนี้ ก็เท่ากับว่า พระไชยเชษฐาย่อมมีสถานะเป็น “ลูกเขย” ของกษัตริย์ล้านนา (พระเมืองเกษเกล้า) โดยปริยาย

 

เรื่องราวที่เราเสวนากันนี้ นานกว่า 3 ชั่วโมงครึ่ง ผู้สนใจสามารถติดตามฟังรายละเอียดในจากยูทูบในช่อง “เพ็ญ ภัคตะ” ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ แล้วใครเป็นคนเอาพระแก้วมรกตจากเชียงใหม่ไปไว้ที่หลวงพระบาง ในเมื่อพระไชยเชษฐาไม่มีพระมารดาเป็นราชนิกุลล้านนาแล้วไซร้ จักอาจหาญเอาพระคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ออกนอกราชอาณาจักรไปตั้งหลายองค์ได้อย่างไร

ขอยกยอดคำอธิบายทั้งหลายทั้งปวงไปไว้ในประเด็นใหม่ว่าด้วย พระมหาเทวีจิรประภา ฉบับหน้า

หมายเหตุ การเสนอข้อมูลใหม่ที่เป็นเอกสารฝ่ายล้านช้างในบทความนี้ ดิฉันทำหน้าที่ในฐานะ “คอลัมนิสต์” ที่เห็นว่าในระยะ 3-4 ปีมานี้ ได้มีนักวิชาการอิสระรุ่นใหม่ ค้นพบเอกสารจำนวนมากที่ไม่เคยมีการกล่าวถึงในประวัติศาสตร์กระแสหลักมาก่อน จึงอยากช่วยทำหน้าที่เป็น “สื่อกลาง” หรือ “ตัวเชื่อม” เปิดเผยข้อมูลอันซีนเหล่านี้ให้ผู้อ่านรับรู้

โดยที่ส่วนตัวของดิฉันเองนั้นก็ยังงงๆ อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะนานหลายทศวรรษทีเดียวที่เราเคยเชื่อกันว่า “พระไชยเชษฐา” มีพระมารดาชื่อ “ยอดคำทิพ” เป็นราชนารีฝ่ายล้านนา •

 

หลักฐานฝ่ายล้านช้าง ‘พระนางยอดคำทิพย์’ มิใช่ราชนิกุลล้านนา? (1)

หลักฐานฝ่ายล้านช้าง ‘พระนางยอดคำทิพย์’ มิใช่ราชนิกุลล้านนา? (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ