‘ทางหลวง’ กับประชาธิปไตย / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘ทางหลวง’ กับประชาธิปไตย

 

ระหว่างนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ กำลังฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรกอยู่พอดี

ขณะฟังการอภิปรายก็นึกถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือ “ราษฎรปฏิวัติ : ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร” โดย “ดร.ณัฐพล ใจจริง”

ในบทที่ 11 ของหนังสือเล่มดังกล่าว ที่มีชื่อว่า “เขียน ‘โลกใหม่’ ในเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญ” มีหนึ่งในหัวข้อย่อย ที่ใช้ชื่อว่า “‘ทางหลวง’ แห่งความเจริญสมัยปฏิวัติ”

ในเนื้อหาส่วนนี้ อาจารย์ณัฐพลได้อ้างอิงถึงเรียงความหัวข้อ “การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญอำนวยผลแก่ประเทศไทยอย่างไร?” ของ “วิชิต หอมโกศล” คนหนุ่มวัย 19 ปี นักเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ปีที่ 2 ซึ่งได้รับรางวัลบทความที่ดีที่สุดในการประกวดเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญระดับนักเรียนมัธยม เมื่อ พ.ศ.2482

ในเรียงความชิ้นนั้น วิชิตได้เปรียบเทียบการก่อสร้างทางหลวงฯ กับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทย ไว้อย่างคมคาย

หนังสือ “ราษฎรปฏิวัติ : ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร” โดย “ดร.ณัฐพล ใจจริง” สำนักพิมพ์มติชน

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐบาลคณะราษฎรได้อนุมัติแผนการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินทั่วประเทศ (พ.ศ.2479) เพื่อเชื่อมโยงท้องถิ่นต่างๆ เข้าหากัน และอำนวยประโยชน์แก่การคมนาคมและการพาณิชย์

การสร้างระบบทางหลวงแผ่นดินขึ้นมาใหม่ คือ การสร้างความเจริญก้าวหน้าผ่าน “ถนนแห่งความเจริญ” และถือเป็น “การปฏิวัติระบบคมนาคม” ซึ่งเข้ามาแทนที่รถไฟ อันเป็นกลไกในการรวมศูนย์อำนาจของระบอบอำนาจเดิม ตลอดจนการคมนาคมทางน้ำแต่ก่อนเก่า

นักเรียนเตรียม ม.ธ.ก. เช่น วิชิต แสดงความเห็นว่า ในเวลาเพียง 4 ปี รัฐบาลคณะราษฎรได้ก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสำเร็จไปแล้วหลายสาย

เช่น ถนนสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ สายฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-สัตหีบ สายนครปฐม-กาญจนบุรี สายตะพานหิน-เพชรบูรณ์ สายชนบท-มหาสารคาม สายขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย สายเด่นไชย-แพร่ สายลำปาง-เชียงราย-เชียงแสน สายบ้านชะอำ-หัวหิน สายกระบุรี-ชุมพร สายตะกั่วป่า-ท่านุ่น-พังงา สายนครศรีธรรมราช-ปากพนัง สายหาดใหญ่-สตูล สายสงขลา-สะเดา และสายโคกโพธิ์-ปัตตานี-นราธิวาส

ทั้งยังมีทางหลวงที่กำลังก่อสร้างอีกมากมาย เช่น สายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา สายกรุงเทพฯ-ขาณุฯ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ สายบ้านภาชี-อรัญประเทศ ผ่านจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สายเพชรบูรณ์-หล่มเก่า สายพิษณุโลก-สุโขทัย สายขอนแก่น-เชียงคาน สายเลย-นครพนม ผ่านจังหวัดอุดรธานีและสกลนคร สายอุบลฯ-นครพนม สายอุบลฯ-มหาสารคาม สายพังงา-กระบี่ และสายคันหยงมัส-เบตง ฯลฯ

นอกจากนี้ รัฐบาลยุคนั้นยังได้ขยายและปรับปรุงถนนบางสายในกรุงเทพมหานครให้กว้างขวางขึ้น รวมทั้งมีการจัดระเบียบการจราจรและตั้งตำรวจจราจรขึ้นมา เพื่อรักษาความปลอดภัยในการสัญจรเดินทางของผู้คน

สัญลักษณ์สำคัญยิ่งประการหนึ่ง ที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของโครงการก่อสร้าง “ทางหลวงแผ่นดิน” และ “การปฏิวัติระบบคมนาคม” สมัยคณะราษฎร หลัง พ.ศ.2475 ก็คือ การสร้าง “ป้ายกิโลเมตรที่ 0” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางที่เชื่อมโยงทางหลวงแผ่นดินสายประธานเส้นต่างๆ

อันเป็นการสื่อสารความหมายว่า “ระบอบประชาธิปไตยเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเจริญที่แผ่กระจายไปทั่วประชาชาติ”

 

นี่คือเรื่องราวของการกำหนดนโยบายด้านคมนาคมที่มีความสัมพันธ์กับอรุณรุ่งของระบอบประชาธิปไตยไทยในยุคคณะราษฎร

ซึ่งอาจมีสปิริต-เจตจำนงแตกต่างจากสภาพการณ์ของระบอบประชาธิปไตยยุคหลัง ตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ที่ความเจริญทุกสาย การพัฒนาทุกเส้น มักมุ่งหน้าไปสู่ “บุรีใดบุรีหนึ่ง”

โดยอิงแอบอยู่กับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ “นักเลือกตั้ง” “บ้านใหญ่” และการสร้าง “เครือข่ายอุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่น” •