มองมุมลบ ‘โซลาร์เซลล์’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ภาพประกอบ : latimes

“ราเชล คิเซลา” เขียนบทความในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิส ไทม์ส ซึ่งเป็นสื่อชั้นนำของสหรัฐอเมริกา เตือนให้ทุกคนหันมามองผลกระทบการติดตั้งแผง “โซลาร์เซลล์” บนหลังคาบ้านที่หมดอายุการใช้งานแล้วจะเป็นปัญหาในการกำจัดอย่างมากและมีผลลบต่อสิ่งแวดล้อม

รัฐแคลิฟอร์เนียปลุกกระแสการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มานานกว่า 20 ปี ด้วยเล็งเห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์คือพลังงานหมุนเวียนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหามลพิษในอากาศ

แผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ rooftop solar cell power ในรัฐแคลิฟอร์เนียขายดิบขายดีเป็นอันดับหนึ่งของสหรัฐมาหลายปี เพิ่งโดนรัฐเท็กซัสแซงหน้าเมื่อปี 2564 นี่เอง

แต่กระนั้นก็คาดกันว่าโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่กำลังปรับปรุงใหม่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นตัวเร่งให้ชาวแคลิฟอร์เนียติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคามากขึ้นราว 1.3 ล้านหลัง และปริมาณกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกราว 10,000 เมกะวัตต์

โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ Net Energy Metering (NEM) program ซึ่งเป็นระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติได้จากกระแสไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคากับค่ากระแสไฟฟ้าที่ใช้จากการไฟฟ้า

ถ้าเปรียบเทียบ NEM กับบ้านเรา อย่างเช่นในเดือนมิถุนายน 2565 ใช้ไฟฟ้าไปทั้งสิ้น 755 หน่วย การไฟฟ้าฯ คิดหน่วยละ 4 บาท ต้องเสียค่าไฟ 3,020 บาท

ถ้าบ้านหลังนั้นติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ในกลางวันผลิตไฟฟ้าใช้เอง หากกระแสไฟเหลือใช้จะไหลผ่านมิเตอร์เข้าสู่ระบบสายส่ง หลังพระอาทิตย์ตกดิน กระแสไฟจากการไฟฟ้าฯ ไหลผ่านมิเตอร์เข้าบ้าน

สมมุติว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านได้ 500 หน่วย เท่ากับ 2,000 บาท

ถ้าคิดตามระบบ NEM บ้านหลังนั้นเสียค่าไฟฟ้าในเดือนมิถุนายน 2565 เพียง 255 หน่วย หรือเท่ากับ 1,020 บาท

NEM ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย สร้างรายได้และเป็นหนทางแก้ปัญหาโลกร้อน ขณะที่ภาครัฐได้ประโยชน์ทั้งจากความมั่นคงทางพลังงาน ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง

 

ในรัฐแคลิฟอร์เนีย นำระบบ NEM มาใช้ตั้งแต่ปี 2549 ด้วยมาตรการสนับสนุนครัวเรือนที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในราคาถูก เช่น การลดหย่อนภาษีโซลาร์ (solar tax) แจกคูปองคืนเงินให้บางส่วน ฯลฯ ช่วยให้รัฐแคลิฟอร์เนียผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมกันแล้วเกือบๆ 25 กิกะวัตต์ (Gigawatt)

1 กิกะวัตต์ เทียบได้กับหลอดไฟแอลอีดี 110 ล้านดวง ถ้า 25 กิกะวัตต์ก็เท่ากับหลอดไฟแอลอีดี 2,750 ล้านดวง

แต่ละปี รัฐแคลิฟอร์เนียจัดงบประมาณสนับสนุนโครงการ NEM 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1 แสนล้านบาท ถือว่าคุ้มค่าเพราะอัตราการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มีสัดส่วนมากถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณพลังงานทั้งหมดในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยชาวแคลิฟอร์เนียประหยัดค่าไฟไม่น้อยทีเดียว

รัฐแคลิฟอร์เนียจะเดินเข้าใกล้เป้าหมายเลิกผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2588 ได้เร็วขึ้น

 

แต่ในมุมมองของ “คิเซลา” เห็นว่ารัฐแคลิฟอร์เนียจะใช้มาตรการอะไรในการควบคุมซากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุแล้วไม่ให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่จำเพาะเจาะจงกับการนำแผงโซลาร์เซลล์มารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่

“คิเซลา” คาดว่าอีกไม่กี่ปีจะมีซากขยะโซลาร์เซลล์ในปริมาณมหาศาล เนื่องจากอายุการใช้งานของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่เกิน 25 ปี และการนำนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์มากขึ้นยิ่งเพิ่มปริมาณขยะชนิดนี้มากมหึมา

ทุกวัน ชาวอเมริกันทั่วสหรัฐติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ย 140,000 แผง ระหว่างปี 2565-2573 อุตสาหกรรมผลิตโซลาร์เซลล์จะเติบโตมียอดขายเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว

ทิศทางการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐในปี 2568 คาดว่ามีปริมาณมากถึง 202 กิกะวัตต์

แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งเมื่อ 20 ปีก่อนนั้นเคลือบสารที่เป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น แคดเมียม ตะกั่ว การนำมารีไซเคิลไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีเครื่องมือพิเศษแยกกระจก กรอบอะลูมิเนียมออกจากแผงโซลาร์เซลล์

ประเมินว่า วัสดุที่แยกออกจากซากโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุนำไปขายได้เพียง 60-130 บาทต่อ 1 แผงเท่านั้น

อนาคตกระบวนการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐประเมินว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อแผงไม่น้อยกว่า 700 บาท เมื่อเทียบกับการเก็บไปทิ้งในหลุมฝังกลบ เสียแค่แผงละ 40-70 บาท

แต่ปัญหาในการฝังกลบนั้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารโลหะหนักทั้งตะกั่วและแคดเมียมที่เป็นส่วนประกอบในแผงโซลาร์เซลล์ รั่วไหลปนเปื้อน ถ้าเอาไปเผาทิ้ง ยิ่งเกิดอันตรายจากควันพิษ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไดออกซิน

ผู้เชี่ยวชาญด้านรีไซเคิลแสดงความเป็นห่วงว่า ราคาโซลาร์เซลล์ลดลงต่ำ จำนวนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านยิ่งเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์จะพัฒนาทำให้มีประสิทธิภาพสูง ผลิตกระแสไฟได้มาก มีระบบเก็บประจุไฟฟ้าที่เหลือใช้แต่อายุการใช้งานสั้นลง ที่สำคัญก็คือไม่มีใครใส่ใจในปัญหาหลังจากโซลาร์เซลล์หมดอายุการใช้งาน

 

รัฐแคลิฟอร์เนียหันมาให้ความสำคัญกับกระบวนการใช้แผงโซลาร์เซลล์ครบวงจรตั้งแต่ปี 2564 ด้วยการวางกฎกติการะบบการผลิต การขนส่งและการเก็บ รวมไปถึงแนวคิดการรีไซเคิลที่มีผลคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ

ทีมวิจัยการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ในระบบการผลิตนั้น มีการศึกษาวัตถุดิบชนิดต่างๆ ที่นำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นซิลิคอน อินเดียม (indium เนื้อโลหะสีขาวเงินใช้ทำฟิล์ม นำกระแสไฟฟ้าได้ดี) เทลลูเรียม (tellurium ธาตุกึ่งโลหะ มีสีขาวเงินเหมือนดีบุก ใช้ประโยชน์ในการทำโลหะผสมและสารกึ่งตัวนำ) เงินและทองแดง นำมาผลิตให้มีราคาถูกลง และนำไปรีไซเคิล หรือส่งไปกำจัดโดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและคุ้มค่ากับการรีไซเคิลหรือไม่

นอกจากนี้ ยังศึกษาครอบคลุมไปถึงแผงโซลาร์เซลล์ที่วางขายในตลาดสหรัฐทุกยี่ห้อใช้วัสดุประเภทใดบ้างที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการหาวิธีกำจัด การวางหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่ารีไซเคิลจากผู้ผลิต

 

กลับมาที่บ้านเรา

เวลานี้แผงโซลาร์เซลล์ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนโครงการโซลาร์ฟาร์ม และโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา

ขณะเดียวกันมีโรงงานผลิตและประกอบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในเมืองไทยกว่า 35 รายมีทั้งส่งออกและขายในประเทศ

รัฐบาลจัดการวางแผนควบคุมมาตรฐานการผลิตการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

และเตรียมรับมือกับขยะพิษหลังจากหมดอายุการใช้งานไปมากน้อยแค่ไหน? •