Mother! : โลกภายในบ้าน และแรงกาย-หัวใจ-การผลิตซ้ำของผู้หญิง [คนมองหนัง]

คนมองหนัง

บทความนี้จะทดลองตีความ “Mother!” ภาพยนตร์ของ “ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้” โดยมีโจทย์/ข้อจำกัดใหญ่ๆ สองข้อ

(1) ผมจะพยายามไม่มองหนังผ่านกรอบเรื่องคริสต์ศาสนา เพราะเห็นหลายคนทำกันไปแล้ว

(2) ด้วยความที่เป็นคนดูหนังมาไม่เยอะนัก ผมจึงไม่มีความสามารถมากพอจะเชื่อมโยงหนังเรื่องนี้เข้ากับภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้า ในฐานะ “สัมพันธบท” ระหว่างกัน

นอกจากนั้น ผมยังได้รับแรงบันดาลใจเล็กๆ อีกประการหนึ่ง หลังดู “Mother!” จบลงที่โรงภาพยนตร์ในห้างสรรพสินค้าฝั่งธนบุรี

กล่าวคือ ตรงที่นั่งด้านหลังผมมีคู่รักชาย-หญิง ซึ่งตีตั๋วมาดูหนังเรื่องนี้ด้วยกัน ระหว่างเอ็นด์เครดิตขึ้นจอ ทั้งสองคนพยายามขบคิดตีความว่าสัญลักษณ์ต่างๆ ในหนังมีความหมายสื่อถึงอะไรบ้าง?

ฝ่ายชายเริ่มพูดถึงพระเจ้า ศาสนาคริสต์ ฯลฯ ก่อนจะสรุปความเอาไว้อย่างน่าสนใจทำนองว่า สุดท้ายแล้ว “ความรัก” ก็ทำให้โลกใบนี้ดำรงอยู่ เพราะไม่ว่าโลกจะวุ่นวายสับสน เต็มไปด้วยเหตุการณ์รุนแรงบ้าคลั่งขนาดไหน แต่มันก็สามารถกลับมารีเซ็ตตั้งต้นใหม่ได้ทุกครั้ง ด้วย “ความรัก” ของผู้หญิง

ผมฟังการตีความของคุณพี่ผู้ชายท่านนั้นอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่อีกใจหนึ่ง ก็เกิดคำถามขึ้นว่า การที่ตัวละครนำชายใน “Mother!” เอามือแหวกอกควักหัวใจผู้หญิงคนหนึ่งออกมา ณ ช่วงท้ายเรื่องนั้น มันเป็นปฏิสัมพันธ์ที่วางฐานอยู่บน “ความรัก” จริงๆ หรือ?

เท่าที่อ่านบทวิจารณ์/งานเขียนในภาษาไทย ซึ่งตีความ-คิดต่อจาก “Mother!” ผมค่อนข้างมีความเห็นสอดคล้องกับข้อเขียนของ “คุณ Filmsick” โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการขูดรีดแรงงานของพระแม่ เพื่อการดำรงอยู่ซึ่งความรักของพระเจ้า

บทความชิ้นนี้จะดำเนินไปในแนวทางใกล้เคียงกันกับความเห็นข้างต้น โดยอาจมีจุดแตกต่างหรือส่วนขยายเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเติมเข้ามาบ้าง

จุดแรกที่สะดุดใจผมมากๆ เมื่อดูหนังเรื่องนี้ไปได้สักพักหนึ่ง คือ การยึดโยงผูกติด “ผู้หญิง/แม่” เข้ากับ (พื้นที่ภายใน) “บ้าน”

ตรรกะของเรื่องราวในหนังดำเนินไปตามรากฐานความคิดที่เห็นว่า “โลกในบ้าน” เป็นพื้นที่สำหรับผู้หญิง ส่วน “โลกนอกบ้าน” เป็นพื้นที่สำหรับผู้ชาย

จากรากฐานการมองโลกเช่นนั้น ก็มีแนวคิดเชิงวิพากษ์ตามมาว่า ขณะที่ผู้ชายคล้ายจะออกไปทำงาน ลงแรงทำการผลิต ตลอดจนมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆ ของสังคม ผ่านการแลกเปลี่ยนวัตถุ-คุณค่าต่างๆ อันนำมาซึ่งการได้รับเกียรติยศศักดิ์ศรีหรือผลตอบแทนบางอย่าง ณ โลกภายนอกบ้าน

แต่ผู้หญิงก็ต้องลงแรงหนักไม่แพ้กัน (หรืออาจหนักกว่า) ในกระบวนการผลิตซ้ำวัตถุ-คุณค่าบางชนิด อยู่อย่างเงียบๆ ภายในบ้าน เพื่อเป็นฐานค้ำจุนสถานะทางเศรษฐกิจ-สังคม และอำนาจทางการเมืองของผู้ชาย

เนื้อหาของ “Mother!” คล้ายจะเดินไปตามระบบวิธีคิดเชิงวิพากษ์ชุดนี้

เราจึงได้เห็นผู้หญิงลงมือลงแรงสร้าง-ซ่อมแซมบ้าน ตลอดจนผลิตซ้ำ (reproduce) บุตรชาย อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นวงจรไม่รู้จบ

ส่วนผู้ชายคือผู้ที่คอยติดต่อสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกบ้าน (รวมถึงเป็นผู้ที่สามารถ -มีสิทธิ์หรืออำนาจ- จะเดินทางออกไปยังโลกข้างนอกได้)

และการเปิดรับคนนอกเข้ามาในบ้านของผู้ชายนี่เอง ที่สร้างความฉิบหายวายป่วงตามมาเป็นระลอกๆ

อย่างไรก็ดี มีรายละเอียดอีกด้านของหนังที่ย้อนแย้งกับกรอบความคิดข้างต้นเช่นกัน

โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่า แม้จะติดต่อกับสังคมข้างนอกหรือออกเดินทางสู่โลกภายนอกเป็นครั้งคราว แต่ตัวละครผู้ชายก็นั่งทำงาน (เขียน) อยู่ภายในบ้านเป็นหลักเหมือนกัน

โลกภายในบ้านของหนังเรื่องนี้ จึงประกอบไปด้วยสองตัวละครสำคัญ คือ ผู้หญิงที่ทุ่มเทแรงกายของตน/ถูกขูดรีดแรงงานอย่างหนัก กับผู้ชายที่ทำงานผ่านความคิด/จินตนาการเป็นหลัก โดยไม่ต้องออกแรงอะไรมากนัก

ก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายคู่นี้จะค่อยๆ คลี่คลายและฉายภาพให้เห็นว่า แม้กระทั่ง “บ้าน” ก็อาจมิใช่พื้นที่ของผู้หญิงดังที่มักเข้าใจกัน

อาจเป็นไปได้ว่าเรื่องราวทั้งหมดใน “Mother!” นั้นคือ โลก/บ้านที่ “ผู้ชาย” เขียน/สร้าง/กำหนดขึ้น ผ่านความคิด-จินตนาการของเขา

แม้แต่ชีวิตของผู้หญิงก็ถูกกำหนด/เขียนขึ้นโดยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของผู้ชาย

อย่างไรก็ตาม ผมอยากทดลองเสนออะไรให้ยุ่งยากขึ้นอีกนิดว่า ผู้ชายอาจไม่ได้ใช้อำนาจสัมบูรณ์ที่มีอยู่ในมือ/หัว แบบทื่อๆ ตรงๆ ด้วยการสร้างเสกชีวิตของผู้หญิงขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า คนแล้วคนเล่า (ประหนึ่งพระเจ้าผู้สร้างโลกและสรรพชีวิต)

แล้วผลักไสชีวิตของพวกเธอไปตามกฎเกณฑ์ที่เขาวางไว้ และความยุ่งเหยิงวุ่นวายที่เขาพลั้งเผลอทำพลาดไป

ทว่า ผู้ชายอาจต้องทำงาน/เล่นเกมทางความคิดอย่างละเอียดแยบคายพอสมควร เพื่อจะโน้มน้าวให้ผู้หญิงตกเป็นฝ่ายเชื่อมั่นยึดมั่นว่าตัวเธอเองต้องทุ่มเทลงแรง ต้องรับภาระผลิตซ้ำนู่นนี่ อยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จักจบสิ้น เพื่อผู้ชายของเธอ และเพื่อ “บ้านของเรา” (ซึ่งสุดท้าย ก็ไม่ใช่ “บ้านของเธอ”)

พูดอีกอย่างได้ว่าผู้หญิงอาจลงแรงอย่างกระตือรือร้นจริงจังตั้งใจ (ไม่ใช่ทำทุกอย่างชนิดไร้ชีวิตชีวา ราวกับเป็นหุ่นชักหรือตัวละครบนแผ่นกระดาษ ในมือ/จากปลายปากกาของผู้ชาย) เพื่อก่อร่างสร้าง “บ้านของเรา” ขึ้นมา

แต่ความกระตือรืนร้นดังกล่าวก็ดำเนินไปภายใต้ระบบความคิด-ความเข้าใจโลกอันจำกัดจำเขี่ยของเธอ ที่ถูกครอบงำหรือก่อรูปโดยอิทธิพลของผู้ชาย (เธออ่านและเชื่อในตัวหนังสือของเขา) และเป็นไปเพื่อค้ำจุนอำนาจของเขา

ความสัมพันธ์ทางอำนาจลักษณะนี้วนเวียนเป็นวงจรสามัญปกติ จนมีฐานะประหนึ่ง “หลักธรรมชาติสากล” ที่พบเห็นได้เสมอในเรื่องเล่าหลากชนิด

จึงไม่แปลกที่ระหว่างดูหนัง เราจะสามารถเชื่อมโยงตัวละครหลักหญิง-ชายใน “Mother!” เข้ากับนางมัทรี-พระเวสสันดร, สีดา-ราม, พระแม่-พระเจ้า (กระทั่งไม้ขีดไฟ-ดอกทานตะวัน ถ้าไม้ขีดไฟเป็นผู้หญิง)

แต่จริงๆ ทั้งหมดคือ “วัฒนธรรม” วิถีชีวิต รหัสความหมาย ที่ล้วนถูกออกแบบเพื่อเอื้อต่ออำนาจของผู้ชาย หรือถูกกำหนดกฎกติกาโดยผู้ชาย

มองในแง่นี้ ผู้หญิงในบ้านจึงไม่ได้ถูกเอารัดเอาเปรียบเชิงแรงงานเท่านั้น

หากเธอยังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ของการถูกขูดรีดความคิด-จินตนาการ-อารมณ์ความรู้สึกด้วย

เรื่องความคิด-จินตนาการ ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่าเธอถูกทำให้เชื่อให้ทึกทักแต่เพียงว่าตนเองต้องลงแรงกายทุกอย่างเพื่อผู้ชาย เพื่อบ้านของเขา (และเธอ) และเพื่อลูกชายของเขา (และเธอ) ขณะที่เขาแทบไม่เคยลงมือทำสิ่งใดหรือคิดอะไรเพื่อเธอเลย

สำหรับในแง่อารมณ์ความรู้สึก สุดท้ายเราจะเห็นได้ว่า แม้แต่อารมณ์ความรู้สึกที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งของมนุษย์อย่าง “ความรัก” ก็ยังถูกแปรให้มีลักษณะเป็นรูปธรรม และถูกรีดเร้นแหวกแยกออกมาจากร่างกายของผู้หญิง

ทั้งนี้ ก็เพื่อธำรงสถานะให้ (พวก) เธอเป็น “มารดา!” ผู้ต้องคอยผลิตซ้ำหรือค้ำจุนวงจรชีวิตแบบเดิมๆ ที่มีผู้ชายเป็นฝ่ายยึดกุมครอบครองอำนาจนำต่อไป ตราบนานเท่านาน