ล้านเอกลักษณ์ / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
จิตรกรรมสุภาษิตหัวล้านพลอยตายบนบานแผละหน้าต่างพระวิหารวัดโสมนัสวิหาร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

ล้านเอกลักษณ์

 

แม้เส้นผมจะมีส่วนเสริมบุคลิกให้ดูดี แต่ผมน้อยหรือไร้ผมคือจุดเด่น เป็นลักษณะประจำตัวที่สังคมให้ความสำคัญ ชวนให้คิดว่าจำนวนคนหัวล้านน่าจะมีไม่น้อยในสังคมไทย

มีถ้อยคำสำนวนมากมายเกี่ยวกับคนหัวล้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากหนังสือหลายเล่ม เริ่มจาก “อักขราภิธานศรับท์” ที่หมอบรัดเลย์ รวบรวมไว้เป็นเรื่องเป็นราว

“ล้าน, โกร๋น, อย่างหนึ่งคนหัวไม่มีผมนั้น

ล้านง่าม, คือ หัวคนที่หน้าผากเข้าไป, แต่ริมแง่สองข้างมีผมอยู่บ้างเล็กน้อยนั้น.

ล้านหน้า, โกร๋นหน้า, คือ หัวคนล้านแต่ข้างหน้า, ฝ่ายข้างหลังดีมีผมบริบูรณนั้น

ล้านปัตหลอด, โกร๋นปัตหลอด, คือ หัวคนล้านแต่ข้างหน้าตะหลอดไปจนท้ายกำด้นนั้น (กำด้น=ท้ายทอย-ผู้เขียน)

ล้านหลัง, เกลี้ยงหลัง, คือหัวคนล้านข้างท้ายทอยไม่มีผม, ฝ่ายข้างหน้านั้นดีมีผมเปนปรกตินั้น”

 

นอกจากนี้ มีคำโบราณผูกไว้คล้องจองจำง่ายว่าด้วยหัวล้าน ๗ แบบ

“ทุ่งหมาหลง

ดงช้างข้าม ง่ามเทโพ

ชะโดตีแปลง แร้งกระพือปีก

ฉีกขวานฟาด ราชคลึงเครา”

อีกทั้ง ดร.นววรรณ พันธุเมธา ได้อธิบายลักษณะหัวที่สัมพันธ์กับปริมาณเส้นผมไว้ใน “คลังคำ” ดังนี้

หัวฉอก = ผมแหว่งเข้าไปจากหน้าผาก เห็นเป็นง่าม

หัวล้าน = ผมเหลือน้อย

หัวโล้น = โกนผมไปหมด

หัวเหน่ง, หัวเหม่ง = หัวล้านเกลี้ยงเป็นมัน

หัวเกลี้ยง, ล้านเลี่ยนเตียนโล่ง = ไม่มีผม

หัวโกร๋น = ผมร่วงเกือบหมด

“พจนานุกรมฉบับมติชน” ให้คำจำกัดความว่า

“ล้าน = ว. เลี่ยน, เรียกหัวที่ผมร่วงแล้วไม่ขึ้นอีก”

“พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” อธิบายทั้งคำและสำนวนว่า

“ล้าน = ว. ลักษณะของหัวที่ไม่มีผมมาแต่กำเนิดหรือผมร่วงแล้ว ไม่ขึ้นอีก, โดยปริยายเรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ภูเขาหัวล้าน”

หัวล้าน = ว. มีหัวไร้ผมบางแห่งหรือทั้งหมด

หัวล้านได้หวี = (สำ) น.ผู้ที่ได้สิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ตน มักพูดเข้าคู่กับ ‘ตาบอดได้แว่น’ เป็นหัวล้านได้หวี ตาบอดได้แว่น

คบหัวล้านสร้างเมือง = (สำ) น. ทำงานใหญ่ร่วมกับคนหัวล้านมักไม่เป็นผล เพราะคนหัวล้านมักใจน้อย โกรธง่าย, ใช้เข้าคู่กับ ‘คบเด็กสร้างบ้าน’ เป็น ‘คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง’

 

สํานวนเกี่ยวกับคนหัวล้านนั้นแพร่หลายจดจำกันได้ดี ที่มาของสำนวนชวนฮาน่าสนใจ ดังที่ ‘กาญจนาคพันธุ์’ หรือขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เล่าไว้ในหนังสือ “สำนวนไทย” ว่า

“หัวล้านนอกครู”

เป็นสำนวนหมายความว่า ทำนอกแบบแผน ทำเผลอไปจากแบบอย่างที่ทำกัน ไม่ทำตามรอยที่เขาปฏิบัติกัน ฯลฯ

มีนิยายเล่าว่าครูมีลูกศิษย์หัวล้าน ลูกศิษย์ขอให้ครูช่วยให้ผมขึ้น ครูจึงพาลูกศิษย์ไปที่สระน้ำสั่งให้ลูกศิษย์ดำน้ำในสระ 3 ครั้ง ผมจะขึ้น ลูกศิษย์ดำลงไปครั้งที่หนึ่ง ผมงอกขึ้นเล็กน้อย ครั้งที่สองงอกมากขึ้นอีก ครั้งที่สามงอกเต็มหัวที่ล้าน ลูกศิษย์เห็นความศักดิ์สิทธิ์ อยากจะให้ผมดกมากๆ จึงดำลงไปเป็นครั้งที่สี่ โผล่ขึ้นมาหัวเลยล้านไปอย่างเดิม ทั้งนี้เพราะทำนอกคำสั่งครู

สำนวน ‘หัวล้านนอกครู’ ว่ามาจากเรื่องนี้ ใครทำอะไรแผลงไปจากที่เขาทำกันมา ก็พูดกันว่า ‘หัวล้านนอกครู’ หัวไม่ล้านก็พูดได้ เช่นพูดว่า “หัวไม่ล้านสักหน่อยแต่นอกครู”

“หัวล้านพลอยตาย”

เป็นสำนวนหมายความว่า ไม่ใช่ธุระของตน แต่เอาเป็นธุระก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ไปเกี่ยวข้องทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของตัวก็ต้องลำบาก ฯลฯ

เรื่องหัวล้านมักจะมีนิยายประกอบแปลกๆ เช่น เรื่องนี้ก็เล่ากันว่า มีเถนคนหนึ่งขึ้นไปอยู่บนยอดต้นตาลสูงลิ่ว ลงไม่ได้ พอดีหัวล้านสี่คนมาพบจึงเอาผ้ากางออกถือคนละมุมให้เถนโจนลงมา น้ำหนักตัวทำให้หัวล้านสี่คนหัวชนกันแตกตาย ดังเช่นปรากฏในโคลงสุภาษิตเก่าบทหนึ่งว่า

หัว ประจบบ่ได้ เลือกหลาย

ล้าน เล่ห์ล้านสี่นาย นึกตื้น

พลอย ด้วยช่วยจนตาย ใช่กิจ ตนนา

ตาย เปล่าเขาบ่ครื้น โอษฐ์โอ้เอ็นดู

 

น่าสังเกตว่าแม้ “โคลงโลกนิติ” (ซึ่งมีมาแต่โบราณ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องมีสุภาษิต ถ่ายมาจากภาษาบาลีโดยมาก เนื่องจากถ้อยคำของเก่าซ้ำและผิด ไม่ประณีตไพเราะ จึงทรงชำระแก้ไขใหม่ให้ดีขึ้นและทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก็ยังมีโคลงที่กล่าวถึงคนหัวล้าน (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

หัวล้านไป่รู้มัก มองกระจก

ผอมฝิ่นไป่อยากถก ถอดเสื้อ

นมยานไป่เปิดอก ออกที่ ประชุมนา

คนบาปไป่เอื้อเฟื้อ สดับถ้อยธรรมกระวีฯ

และโคลงกระทู้ที่นำสำนวน ‘หัวล้านได้หวี’ มาขยายความในใจคนแพ้ผม

หัว หูดูชั่วช้า ไฉไล

ล้าน เลื่อมแลเงาใส เกือบแก้ว

ได้ ส่องกระจกใจ เจียนขาด

หวี แต่จับจ้องแล้ว ลูบโอ้อายเองฯ

แต่สุดยอดโคลงกระทู้ชี้ถึงคุณสมบัติโดดเด่นของ ‘คนหัวล้าน’ คือ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตอบโต้ผู้ล้อเลียนพระเศียรของพระองค์โดยใช้สำนวน ‘หัวล้านนอกครู’ ตั้งเป็นกระทู้หรือคำหลักกำหนดไว้ แล้วแต่งเนื้อความไปตามนั้น ดังนี้

“หัว กูมีแก้วเกิด อยู่ใน

ล้าน จึงเลี่ยนเตียนไป ดั่งนี้

นอก สุกแต่ในใส สุกปราบ

ครู ว่าชาติน้ำพี้ ของ้าวพระแสงทองฯ”

ความหมาย คือ ถึงศีรษะจะไม่มีผม แต่มี ‘แก้ว’ หรือความเฉลียวฉลาด สติปัญญา ความสามารถ คุณภาพระดับเหล็กน้ำพี้ เหล็กแกร่งเนื้อดีที่ใช้ทำศาสตราวุธของกษัตริย์

โคลงบทเดียวอยู่หมัด •