ธุรกิจ-อุตสาหกรรมพลิกตำรา รับมือค่าไฟฟ้าทะลุ 5 บาท/หน่วย กฟผ.หมดแรงอุ้มหนี้บวมแสนล้าน/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ธุรกิจ-อุตสาหกรรมพลิกตำรา

รับมือค่าไฟฟ้าทะลุ 5 บาท/หน่วย

กฟผ.หมดแรงอุ้มหนี้บวมแสนล้าน

 

ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจถึง 7.66% สูงสุดในรอบ 13 ปี อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นนั้นมาจาก “ราคาพลังงาน” คิดเป็นสัดส่วนถึง 60% และยังมีแนวโน้มว่าเงินเฟ้อไทยอาจจะทุบสถิติอีกครั้งในไตรมาส 3 ขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ต่อเนื่องเป็นงวดที่ 3 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ผลจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ภาวะวิกฤต “วัตถุดิบแพง”

หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่าประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีราคาถูกที่สุด แหล่งก๊าซในอ่าวไทยมีปริมาณลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณในอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย ทำให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่เข้าพื้นที่ล่าช้าไปถึง 2 ปี ทำให้ไม่สามารถสานต่อการผลิตก๊าซได้ตามเป้าหมาย

เป็นเหตุให้ไทยจึงต้องเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 40% เพื่อนำมาอุดก๊าซอ่าวไทยที่ผลิตไม่พอ และเป็นจังหวะที่โชคร้ายเพราะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นแรงกดดันทำให้ราคา LNG ในตลาดโลกปรับขึ้นสูงขึ้น 3 เท่า จากราคา 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็น 30-40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่าลง ปัจจุบันอ่อนค่าทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น

 

รายงานข่าวจาก กกพ.ระบุว่า ได้รับทราบสัญญาณ “ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า” ตั้งแต่ปลายปี 2564 และเตรียมแผนรับมือปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เพื่อช่วยให้มีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินในประเทศราคาต่ำมาช่วยพยุง การเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ขยะ โซลาร์รูฟท็อป และการปรับสูตรการผลิตไฟ ด้วยการใช้ “น้ำมันดีเซล” ผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติในบางช่วงที่ราคาก๊าซขยับขึ้นไปสูงๆ

ขณะเดียวกัน กกพ.ต้องใช้มาตรการขยับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) แบบขั้นบันได เริ่มจากงวดที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2565) จัดเก็บ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย งวดที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2565) เพิ่มเป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มจาก 3.78 บาทต่อหน่วย เป็น 4 บาทต่อหน่วย

สำหรับในงวดที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2565) ซึ่งเดิม กกพ.เคยส่งสัญญาณจะมีการจัดเก็บค่าเอฟทีอีก 40 สตางค์ต่อหน่วย แต่รายงานล่าสุดกลายเป็นว่าจะจัดเก็บเพิ่มถึง 90-100 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะมีผลให้ค่าไฟฟ้าขึ้นแตะระดับ 5 บาท/หน่วย

เหตุผลที่ตัวเลข “ค่าเอฟที” งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ก้าวกระโดดนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” หรือ กฟผ. จะช่วยดูดซับต้นทุนค่าไฟฟ้าไว้แทนประชาชน จนทำให้ กฟผ.มีภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าสะสมถึงงวดที่ผ่านมา (AF) ไว้แล้วถึง 83,010 ล้านบาท หากไม่มีการปรับขึ้นค่าเอฟที กฟผ.อาจจะต้องมีภาระแบกรับถึง 1 แสนล้านบาท

ขณะที่ล่าสุด กกพ.ได้เปิดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดกันยายน-ธันวาคม 2565 ผ่านเว็บ https://www.erc.or.th โดยเสนอ 3 สูตรการปรับขึ้นค่าเอฟทีดังนี้

สูตร 1 เรียกเก็บค่าเอฟที (งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565) 139.13 สตางค์/หน่วย (เพิ่มขึ้น 114.36 สตางค์ต่อหน่วย) โดยมาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย บวกกับต้นทุนค่าไฟฟ้าสะสมของ กฟผ.ที่จะทยอยเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้างวดละ 45.70 สตางค์/หน่วยภายใน 1 ปี ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.17 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ขณะที่ภาระที่ กฟผ.แบกแทนประชาชนจะลดลงเหลือ 56,581 ล้านบาท

สูตร 2 เรียกเก็บค่าเอฟที 116.28 สตางค์/หน่วย (เพิ่มขึ้น 91.51 สตางค์ต่อหน่วย) มาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย บวกต้นทุนค่าไฟฟ้าสะสมของ กฟผ.ที่จะทยอยเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้างวดละ 22.85 สตางค์/หน่วย ภายในเวลา 2 ปี ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.95 บาทต่อหน่วย ภาระของ กฟผ.จะลดลงเหลือ 69,796 ล้านบาท

และสูตร 3 เรียกเก็บค่าเอฟที 93.43 สตางค์/หน่วย (ปรับเพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย) จากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย โดยที่ กฟผ.ยังคงแบกภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าแทนประชาชนจำนวน 83,010 ล้านบาท

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ กฟผ.ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟให้ประชาชนได้อีกแล้ว ทั้งยังมีแผนเรียกภาระดังกล่าวคืน ด้วยการส่งผ่านค่าไฟฟ้า ทำให้ตัวเลขค่าเอฟทีจะอยู่ในระดับสูงไปอีก 1-2 ปี

ประเด็นนี้ถือว่าส่งกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและประชาชนถ้วนหน้า และการปรับขึ้นค่าไฟกลายเป็น “ต้นทุน” ค่าครองชีพของประชาชนที่เข้ามาซ้ำเติม ซึ่งยังไม่รวมถึงต้นทุนราคาสินค้าที่อาจจะมีการปรับขึ้นอีกระลอก

เพราะค่าไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งต้นทุนสำคัญการผลิตสินค้า และยิ่งภาวะที่เอกชนแทบจะกลืนเลือดมาตลอด 2 ปี หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด เศรษฐกิจซบเซา หลายอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้น แต่ยังต้องมาเจอวิกฤตทับซ้อนเข้าไปอีก

“เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่ามีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะปรับราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องถึง 1 บาทต่อหน่วยจากต้นทุนพลังงาน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตสัดส่วนที่สูงมากจะเดือดร้อนมากที่สุด เช่น อุตสาหกรรมผลิตแก้ว ซีเมนต์ อะลูมิเนียม เซรามิก เหล็ก และหล่อโลหะ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ผลิตจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อรักษากำไรในการดำเนินธุรกิจ

สอดคล้องกับ “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปไทย ยอมรับว่าค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นจะกระทบต้นทุนการผลิตอาหาร 1-10% ต่อเดือน ขึ้นอยู่กับการใช้กำลังการผลิตของแต่ละโรงงานที่จะเดือนร้อนมาก-น้อยต่างกัน ซึ่งหากนับรวมค่าไฟฟ้าบวกกับภาระต้นทุนอื่นๆ ที่ต้องเผชิญก่อนหน้านี้ เอกชนจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า 5-15% จึงจะครอบคลุม

ขณะที่แนวโน้มค่าไฟที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ก็ทำให้ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมการผลิตก็หันมาการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคที่ต้องการให้ภาครัฐวางมาตรการสนับสนุน

อาทิ การขยายเกณฑ์การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ต้องขออนุญาตขอใบ รง.4 จากปัจจุบันที่กำหนด 1 เมกะวัตต์ ให้เป็น 3 เมกะวัตต์ จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปิดให้ซื้อขายไฟฟ้ากันเองโดยไม่ต้องผ่านการไฟฟ้า

 

ที่สำคัญฝันร้ายเรื่องค่าไฟฟ้าอาจไม่ได้สิ้นสุดแค่ 5 บาท เพราะต้นทุนเชื้อเพลิงที่การผลิตไฟฟ้าที่ประเมินข้ามไปถึงปี 2566 ยังไม่ได้หยุด ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบริหารจัดการปัญหานี้อย่างไร

ที่สำคัญรัฐคงไม่ปล่อยให้ กฟผ.มีสถานะร่อแร่เหมือนกองทุนน้ำมัน

ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้สูตรทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้าไปเรื่อยๆ ให้คนไทยช่วยกันใช้หนี้ชดเชยให้ กฟผ.ไปจนหมด

ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 1-2 ปี