ระวิทาส : ช่างทำรองเท้าผู้ฝันถึงโลกไร้ทุกข์ / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ระวิทาส

: ช่างทำรองเท้าผู้ฝันถึงโลกไร้ทุกข์

 

“อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของฉัน ผู้คนนั้นเรียกขาน เพคัมปุระ ‘นครไร้ความเจ็บปวด’, ไม่มีภาษีหรือการต้องดูแล ไม่มีใครแยแสครองสินทรัพย์, ไม่มีการกระทำผิดหรือความกังวลกลัว ไม่มีความชั่ว ไม่มีโทษทัณฑ์, โอ้ ภราดา! ข้ามาจากบ้านแสนไกลนี้ ที่ซึ่งมีแต่ความถูกต้อง, จักรวรรดินั่นร่ำรวยและปลอดภัย ไร้สอง ไร้สาม มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว, พวกเขาทำนั่นทำนี่ พวกเขามีเสรีที่จะเดินไปตามใจ, พวกเขาทอดน่องท่องวังในนิทาน ไม่มีใครหักหาญท้าทาย, ระวิทาสกล่าว ช่างฟอกหนังถูกปลดปล่อยให้อิสระ, ผู้ใดพร้อมเดินเคียงข้างสู่เมืองนี้ ผู้นั้นคือมิตรแท้”

ก่อนหน้าเพลง Imagine ของ John Lennon จะถูกประพันธ์ขึ้นหลายร้อยปี ช่างทำรองเท้าคนหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นพวกนอกวรรณะที่ต่ำต้อยที่สุดในอินเดีย ใฝ่ฝันถึงสังคมในอุดมคติที่ไร้การแบ่งแยก ไร้การเบียดเบียนทำร้าย และทุกคนมีอิสระเสรี เขาเรียกอาณาจักรในฝันนี้ว่า เพกัมปุระ (Begumpura) หรือนครไร้ความเจ็บปวด

แม้ว่านครในอุดมคติหรือยูโทเปียนี้จะไม่เคยเกิดขึ้น ทว่าระวิทาส (Ravidas) หรือที่เรียกในภาษาฮินดีและคุชราตีว่า ไรทาส (Raidas) และโรหิทาส (Rohidas) ก็ยังคงทิ้งร่องรอยแห่งความใฝ่ฝันนี้ไว้กับขบวนการภักติ ตลอดจนขบวนการเคลื่อนไหวของคนวรรณะต่ำในอินเดียจนทุกวันนี้

 

ระวิทาสเป็นนักบุญกวีแห่งชบวนการภักติที่มีชื่อเสียง ว่ากันว่าท่านกำเนิดในปี ค.ศ.1337 แต่ปีเกิดที่แท้จริงของท่านยังคงมีข้อถกเถียง เมืองที่ท่านเกิดคือมันทูร (Mandur) ใกล้กับพาราณสีในปัจจุบัน อิทธิพลความคิดและกวีของท่านแผ่ไปในภาคเหนือของอินเดีย ไม่ว่าจะแคว้นคุชราต ราชสถาน เรื่อยไปจนถึงปัญจาบ

บทกวีจำนวนมากของระวิทาสถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์คุรุครันถะสาหิพของศาสนาสิกข์ ในฐานะที่ท่านเป็น “ภคัต” หรือนักบุญผู้ภักดีในพระเจ้า ชาวสิกข์ไม่น้อยนับถือท่านไม่ต่างไปจากบรรดาคุรุของเขา และทำให้เกิดองค์กรศาสนาที่นับถือคุรุระวิทาสเป็นพิเศษ เรียกว่าระวิทาสปัณถะ (Ravidaspanth/Ravidassia) เช่นเดียวกับกพีร์ทาส โดยยึดถือ “ระวิทาสพาณี” หรือคำสอนของระวิทาสเป็นสำคัญ

ระวิทาสเกิดในชาติ “จามาร” หรือกลุ่มคนฟอกหนังและทำรองเท้า ซึ่งถือเป็นพวกอวรรณะ (ทลิต) หรือที่คนไทยมักรู้จักในชื่อจัณฑาล เพราะคนฮินดูวรรณะสูงเห็นว่าอาชีพฟอกหนังเป็นอาชีพหยาบช้า เนื่องจากต้องสัมผัสกับซากสัตว์อันมีมลทิน แถมยังต้องทำรองเท้าอันเป็นของใช้เบื้องต่ำของผู้คนอีก

 

แม้เราจะไม่มีรายละเอียดชีวิตในวัยเด็กของท่านมากนัก แต่บางตำนานระบุว่าระวิทาสเป็นศิษย์ของสวามีรามานันทะเช่นเดียวกับกพีร์ บางตำนานเล่าว่าระวิทาสเป็นศิษย์ของรามานันทะถึงสองภพสองชาติ

ชาติแรกท่านเกิดเป็นพราหมณ์ ทว่า ทำผิดต่อคุรุโดยการภิกขาจารอาหารจากคนที่ประพฤติเลวร้าย แล้วนำอาหารนั้นมาถวายต่อคุรุทั้งที่ได้สั่งห้ามไว้แล้ว ด้วยผลกรรมจึงต้องมาเกิดเป็นคนฟอกหนังในอีกชาติหนึ่งโดยที่สวามีรามานันทะยังคงมีชีวิตอยู่ จึงได้มาเป็นครูศิษย์กันอีกครั้ง

แม้ตำนานข้างต้นเป็นเหมือนการสร้างคำอธิบายแก่การเกิดในวรรณะต่ำว่ามีสาเหตุจากบุพกรรมในอดีต ซึ่งดูแล้วเป็นการยอมรับอยู่กลายๆ ว่า คนวรรณะที่ต่ำเกิดจากกรรมเวรของตนเอง ซึ่งไม่ค่อยเข้าท่านักเพราะเท่ากับการยอมรับระบบชนชั้นไปโดยปริยาย แต่ผมคิดว่าตำนานนี้น่าจะพยายามจะบ่งถึงความสัมพันธ์ครูศิษย์ที่ลึกซึ้งข้ามภพชาติ แม้ว่าจะมีเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตามมากกว่า

อีกทั้งตำนานของระวิทาสเรื่องนี้ก็อาจไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ทว่า คงเกิดจากผู้ศรัทธาบางกลุ่มที่พยายามจะอธิบายว่าทำไมคุรุผู้ยิ่งใหญ่ต้องมีกำเนิดเป็นคนนอกวรรณะ มึสถานภาพทางสังคมที่ต่ำต้อย ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะท่านเหล่านี้ยิ่งใหญ่โดยจิตวิญญาณอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวว่ามีชาติกำเนิดอะไร

 

ท่ามกลางความแตกแยกแห่งยุคสมัยระหว่างมุสลิมกับฮินดู ระวิทาสยืนยันว่า “มณเฑียรหรือมัสยิดเป็นหนึ่งเดียว มิได้แตกต่างกัน, ระวิทาสกล่าว มิมีสิ่งใดขัดแย้งระหว่าง ‘ราม’ กับ ‘เราะห์มาน’ (พระนามหนึ่งของพระเจ้าในศาสนาอิสลาม ซึ่งแปลว่า ความเมตตา)”

พระเจ้าของระวิทาสมีทั้งภาคที่ทรงเป็นนิรคุณะ คือปราศจากรูปลักษณ์และคุณสมบัติ แต่ด้วยเหตุนั้นพระองค์จะปรากฏในรูปลักษณาการและนามใดก็ได้ (สคุณะ) ไม่ว่าจะเป็นนารายณ์, หริ, ราม, กฤษณะ, มโท, เราะห์มาน, ราฮีม ฯลฯ แต่ทั้งนี้เราอาจสังเกตได้ว่า พระนามฝ่ายฮินดูนั้น มักบ่งถึงพระวิษณุและอวตารที่ “เที่ยงแท้” ของพระองค์ คือพระกฤษณะและพระราม

นี่เป็นอิทธิพลของไวษณพนิกายที่สืบทอดมาจากอินเดียภาคใต้ พระรามและพระกฤษณะมักถูกสรรเสริญคู่กันเสมอ เพราะสำแดงความอันอัศจรรย์ของพระเจ้าในสองภาค ภาคหนึ่งทรงพระกรุณาและเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม (พระราม) อีกภาคเปี่ยมด้วยความรักและลีลาอันรื่นรมณ์สนุกสนาน (พระกฤษณะ)

ดังนั้น หากนักบุญในขบวนการภักติเหล่านี้จะกล่าวถึงพระรามและพระกฤษณะ ไม่ว่าจะเน้นองค์ใดมากกว่าหรือพอๆ กัน ก็ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดอย่าฉงนสงสัยเลย เพราะเขากำลังกล่าวถึงพระเจ้าเดียวกัน

 

ระวิทาสโต้แย้งระบบวรรณะอย่างรุนแรง ท่านกล่าวว่า “ทุกๆ คนล้วนติดกับในเรื่องชาติกำเนิด ระวิทาสกล่าว มนุษยธรรมถูกกลืนกินสิ้นด้วยโรคร้ายที่ชื่อระบบวรรณะ” และยืนยันว่า พราหมณ์หรือคนวรรณะอื่นก็มิได้ต่างกัน “ทุกคนถูกสร้างจากธาตุดินเดียว จากพระผู้สร้างเดียวกันทั้งสิ้น”

ในช่วงปี ค.ศ.1925 เป็นต้นมา มังกุ ราม (Mangu Ram) นักเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชอินเดียชาวปัญจาบซึ่งมาจากอวรรณะ ได้ก่อตั้งขบวนการเพื่อคนอวรรณะในชื่อ “อทฺธรรม” หรือ “อาทิธรรม” โดยถือว่า ระวิทาสเป็นคุรุคนสำคัญ และยังได้มีการแจกจ่ายรูประวิทาสไปในชุมชนคนอวรรณะเหล่านี้ รวมทั้งการสร้างสถานที่สำหรับสักการะโดยเฉพาะ เนื่องจากทั้งมณเฑียรและคุรุทวาราหลายที่ไม่ต้อนรับพวกเขา

ชีวิตระวิทาสก็เฉกเช่นนักบุญยุคกลางคนอื่นๆ โดยเฉพาะที่มุ่งจะประสานความเชื่อหลากหลายเข้าด้วยกัน ดังนั้น เมื่อท่านเหล่านี้สิ้นชีวิตไปแล้ว อนุชนรุ่นหลังต่างพยายามจะช่วงชิงเอานักบุญมาไว้ใกล้ตัว ไม่ว่าจะชาวฮินดู ชาวมุสลิมหรือชาวสิกข์ หรือแม้แต่การตั้งศาสนาและนิกายใหม่ขึ้นมาเอง

ตำนานหลายต่อหลายเรื่องของนักบุญจึงมักถูกเชื่อมโยงให้เข้ากับความเชื่อทางศาสนาของแต่ละกลุ่ม บางตำนานระบุว่าระวิทาสมีรูปเคารพของพระวิษณุอยู่ในบ้าน บ้างก็ว่าเป็นศิลาศาลครามซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทนองค์พระวิษณุ แต่คนชั้นต่ำแถมยังทำงานฟอกหนังอยู่ทุกวันจะบูชาพระวิษณุในบ้านสกปรกของตนได้อย่างไร ในสายตาพราหมณ์ผู้บริสุทธิ์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

พราหมณ์ผู้จงเกลียดจงชังจึงแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ว่าช่างรองเท้าผู้นี้ทำสิ่งไม่สมควร ทว่า ระวิทาสยืนยันว่าการบูชาของเขาทำด้วยความเหมาะสมดีแล้ว ทางการจึงพิสูจน์ด้วยการให้ทั้งพราหมณ์และระวิทาสขับสวดอ้อนวอน เพื่อให้พระเจ้าทรงสำแดงสัญญานบางอย่างว่าจะทรงเลือกใคร

พราหมณ์สวดพระเวทอย่างเคร่งเครียดแต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อระวิทาสขับบทสรรเสริญไปได้ไม่นาน เทวรูปที่ตั้งอยู่กลางโถงก็กระโจนขึ้นไปอยู่บนตักของท่าน

นั่นทำให้พราหมณ์ถึงกับก้มกราบยอมรับในตัวระวิทาสว่าเป็นผู้ภักดีที่แท้จริง

 

คัมภีร์ “ภักตะวิชัย” ของนักบุญมหิปติเล่าว่า พราหมณ์ผู้หนึ่งเข้าไปยังกระท่อมของระวิทาส เมื่อเห็นเขาบูชาพระศาลครามอันเป็นตัวแทนพระวิษณุแล้วเก็บไว้ในถุงหนังเล็กๆ พราหมณ์ก็รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก ด่าทอว่าระวิทาสทำให้พระศาลครามแปดเปื้อน มิหนำซ้ำรอบๆ ตัวเขายังเต็มไปด้วยแผ่นหนังสกปรก คนเช่นนี้ไม่คู่ควรกับการบูชาพระเป็นเจ้า

ระวิทาสโต้แย้งพราหมณ์ด้วยความนอบน้อมตามปกติวิสัยของท่านว่า “มีสิ่งใดกันหรือที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผ่นหนัง? เครื่องดนตรีและกลองที่ใช้ประโคมบูชาพระหริก็ทำจากแผ่นหนัง น้ำนมอันโสรจสรงพระเจ้าก็มาจากแม่โคอันห่อหุ้มด้วยหนัง วรรณะทั้งสี่ล้วนแต่มีร่างกายห่อหุ้มด้วยหนัง แม้ลิ้นของพราหมณ์ที่สวดพระเวทก็ห่อหุ้มด้วยหนังมิใช่หรือ?”

“มือที่หุ้มด้วยหนังไม่ว่าใครก็ใช้หยิบจับดื่มกินอาหาร และจากกายวิหารอันสร้างจากแผ่นหนังนี้ พระอาตมราม (พระเจ้า) ก็ยังทรงเสด็จเข้าไปประทับภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น แผ่นหนังจะสร้างมลทินได้อย่างไร”

แม้พราหมณ์จะอ้ำอึ้งต่อคำตอบดังกล่าว แต่ก็ยังยืนยันว่าพระวิษณุทรงโปรดความบริสุทธิ์ เป็นผู้สูงสุดในหมู่เทพ มีแต่พราหมณ์ผู้บริสุทธิ์ ผู้สวมสายยัชโญปวีตและสูงสุดในหมู่มนุษย์เช่นกันเท่านั้นที่จะบูชาพระองค์ได้

ตำนานเล่าต่อไปว่า ระวิทาสจึงใช้มีดตัดแผ่นหนังผ่าหน้าอกของท่าน แล้วบอกกับพราหมณ์ว่า มองเห็นยัชโญปวีตซึ่งอยู่ภายในของท่านไหม (คงเป็นอุปมาว่าความบริสุทธิ์แท้จริงอยู่ในหัวใจ ไม่ใช่ภายนอก) พราหมณ์จึงลนลานก้มกราบระวิทาสด้วยความเคารพ และยอมรับว่าท่านคือผู้ภักดีที่แท้จริง

 

ผมขอจบเรื่องราวของนักบุญระวิทาสด้วยกวีสั้นๆ ของท่านว่า

“เมื่อดวงใจพิสุทธิ์ดุจแก้วใส

น้ำในไหก็กลายเป็นคงคาศรี

ไม่ต้องหาท่าลงชลาธี

เพราะทุกที่ย่อมศักดิ์สิทธิ์มิผิดกัน” •