ฉัตรสุมาลย์ : การสัมมนาเรื่องนักบวชหญิงในเนปาล

เมื่อคราวที่ท่านธัมมนันทาเดินทางไปประชุมที่ราชคฤห์ ประเทศอินเดียในเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมานั้น การจัดงานค่อนข้างขลุกขลัก ดูเหมือนจะขาดการประสานงานระหว่างรัฐบาลส่วนกลาง กับรัฐบาลท้องถิ่น

เมื่อเราเดินทางถึงสนามบินปัตนะ ต้องเข้าคิวยาวเพื่อลงทะเบียน และดูว่าเราจะได้ที่พักที่ไหน ตอนนั้นปาก็เข้าไป 3 ทุ่มแล้ว เรายังต้องเดินทางด้วยรถยนต์อีก 2 ชั่วโมง เพราะจุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่ราชคฤห์

ในความยากลำบากนี้เองที่เราได้ช่วยเหลือกัน เพื่อนร่วมทางคนหนึ่ง คือ ดร.ศังกร ธาปะ เป็นชาวเนปาล รัฐบาลกลางส่งตั๋วให้ท่านมาร่วมประชุม แต่ไฟลต์กลับของท่านนั้น หลังจากเสร็จงานประชุมแล้วท่านจะต้องติดอยู่ที่ราชคฤห์ถึงสองวัน ค่าโรงแรมคืนละ 9,000 รูปี จริงๆ แล้ว โรงแรมราชคฤห์นั้น เต็มที่เราก็ให้ได้แค่ 3 ดาว แต่ที่ค่าห้องแพงเพราะเป็นโรงแรมแห่งเดียวในราชคฤห์ค่ะ

อาจารย์ศังกรบอกว่า ไม่สามารถจะจ่าย 18,000 รูปีได้

ท่านธัมมนันทา ก็เลยพาอาจารย์ไปฝากฝังไว้กับพระอาจารย์พระภิกษุไทยที่เป็นเจ้าอาวาสวัดไทยที่ราชคฤห์

ท่านอาจารย์ศังกร ดีใจมาก น้ำใจและความช่วยเหลือกันเล็กๆ น้อยๆ แต่ในช่วงที่เขาต้องการความช่วยเหลือมาก ก็เลยกลายเป็นหนี้บุญคุณสืบมา

 

ท่านธัมมนันทา ปรารภถึงความพยายามที่จะทำงานเพื่อช่วยภิกษุณีและแม่ชีในเนปาลที่ทำอยู่ แต่มีอุปสรรค เพราะผู้ประสานงานคือ ดร.มิน บาหาดูร์ ศากยะ มาเสียชีวิตไปก่อนด้วยโรคมะเร็ง

ท่านอาจารย์ศังกรออกปากยินดีเป็นผู้ประสานงานให้ในเนปาล ท่านเองเป็นฮินดู แต่ท่านติดต่อเข้าไปที่อักเศศวรมหาวิหาร ประธานคนใหม่เป็นชายหนุ่มไฟแรง ชื่อ ราเชศ ศากยะ มหาวิหารนี้ ตั้งอยู่ในลลิตปูร์ ศูนย์กลางชาวพุทธสกุลศากยะทีเดียว

ราเชศเป็นคนที่หัวสมัยใหม่ มีนโยบายสนับสนุนพุทธศาสนาทั้งสามนิกาย ดังที่ปรากฏในเนปาล คือ มหายาน วัชรยาน และเถรวาท

ราเชศรับลูกทันทีว่าจะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมให้ เป็นที่มาของงานสัมมนาเรื่อง “การสร้างความมั่นคงให้กับรากฐานของพุทธศาสนา : นักบวชหญิงในสายเถรวาทในเนปาล”

วันงาน คือวันที่ 27-28 สิงหาคม 2560

 

ตอนเช้าของงานเป็นพิธีเปิด ราเชศทำงานได้ดีมาก โดยเชิญแขกผู้มีเกียรติมาร่วม เช่น เอกอัคราชทูตศรีลังกาประจำเนปาล ท่านเป็นผู้หญิงค่ะ นี่เป็นเหตุผลของเจ้าภาพ เพราะเห็นว่า เราจะสัมมนากันเรื่องนักบวชหญิง ได้เชิญเอกอัคราชทูตจีนที่เป็นผู้หญิงด้วย แต่ท่านไม่ได้มา ผู้แทนจากสถานทูตอินเดีย เป็นเลขาฯ ของท่านทูตอินเดีย

เจ้าภาพหลีกเลี่ยงไม่เชิญนักการเมือง ดูเหมือนว่านักการเมืองไม่ค่อยรักษาเวลา เชิญเปิดงาน 8 โมง มาถึง 10 โมง ประมาณนั้น ฟังดูคุ้นๆ นะ

แม่ชีของเนปาลเรียกว่า อนาคาริกา ใส่สีชมพู มีผ้าพาดบ่าสีน้ำตาล มีบางท่านไปบวชภิกษุณีมาแล้ว แต่กลับมาก็มาลงเอยใส่สีชมพูนี่แหละ มากันสัก 40 รูปได้ มีสามเณรีสายทิเบตจากอินเดียใต้มาร่วม 4 รูป

งานนี้ เป็นงานของนักบวชผู้หญิง ที่นั่งของนักบวชหญิงก็เลยอยู่ตามแนวระเบียงอาคารซึ่งอยู่สูงกว่าพื้นที่ส่วนกลางที่ฆราวาสนั่งโดยปริยาย

แขกสำคัญของงาน สองฝ่าย คือฝ่ายเนปาล นิมนต์ท่านธัมมวตี ภิกษุณีที่มีพรรษาแก่ที่สุด ปีนี้ท่านอายุ 81 แล้ว ท่านมาไม่ได้ ก็เลยเชิญอนาคาริการที่มาจากวัดของท่านแทน อีกฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุณีจากไทย คือท่านธัมมนันทา

ก่อนเปิดงาน ท่านธัมมนันทาได้มีโอกาสทักทายทั้งท่านเลขาฯ ที่มาจากสถานทูตอินเดีย และท่านทูตศรีลังกา

อาศัยความสัมพันธ์ที่ท่านธัมมนันทาเองคุ้นเคยกับอินเดีย เพราะเคยเรียนปริญญาตรีที่นั่น และคุ้นเคยกับศรีลังกาเพราะไปบวชที่นั่น อุปัชฌาย์อยู่ที่นั่น จึงสร้างความสัมพันธ์ได้อย่างสะดวก

 

เนปาลมีพิธีเปิดงานแบบเดียวกับอินเดียและศรีลังกา คือ นิมนต์ท่านธัมมนันทาร่วมจุดเทียนกับท่านทูตศรีลังกา เป็นการเปิดงาน โดยอนาคาริกาและชาวพุทธเนปาลีสวดมนต์ร่วมกัน ชาวพุทธเนปาลสวดมนต์เก่งมากค่ะ เพราะเขาไม่มีพระสงฆ์เช่นบ้านเรา ฆราวาสของเขาเลยเก่ง

อาจารย์ศังกร ธาปะ กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงานครั้งนี้ และตอบคำถามที่ชาวเนปาลสงสัยว่าทำไมไม่นิมนต์พระภิกษุ เพราะในครั้งแรกอยากจะเปิดพื้นที่ให้นักบวชสตรีของเนปาลรู้สึกเป็นอิสระ หากนิมนต์ภิกษุเข้าร่วมตั้งแต่ต้น อาจจะไม่ได้ยินความเห็นของฝ่ายผู้หญิงนัก อันนี้เป็นความอ่อนไหวที่ทางผู้จัดชาวเนปาลจัดการเองค่ะ

ที่รู้สึกดีใจมากอีกอย่างหนึ่งคือ ในช่วงพิธีเปิดนี้ มีการเปิดตัวหนังสือ สตรีในพุทธศาสนา ถาม-ตอบ ต้นฉบับเดิมเป็นงานของผู้เขียน และท่านอาจารย์ศังกร ท่านกรุณาแปลเป็นภาษาเนปาลีให้ รูปร่างหน้าตาดีทีเดียว ทราบว่ามีอาจารย์ที่กำลังทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลุมพินีเป็นสปอนเซอร์ในการจัดพิมพ์ค่ะ

ท่านทูตและท่านธัมมนันทาสองคนร่วมกันเปิดตัวหนังสือ และหนังสือนี้ได้ถวายแก่อนาคาริกาและภิกษุณีชาวเนปาลทุกรูปที่มาในงาน อยากจะยืนยันว่า แปลเป็นภาษาเนปาลีได้ดี เพราะได้เห็นงานของอาจารย์ศังกรเอง ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกภาษาสังสกฤตด้วย ท่านคงไม่แปลงานให้เสียชื่อท่าน

จากนั้น เชิญท่านทูตศรีลังกาขึ้นกล่าวปราศรัย ท่านไม่ได้แตะประเด็นภิกษุณีโดยตรง แต่พูดถึงความสัมพันธ์และความสำคัญของพุทธศาสนาในศรีลังกาและความเชื่อมโยงกับเนปาล โดยเฉพาะที่ลุมพินี สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาเป็นพระพุทธเจ้า

ทางฝ่ายเนปาลได้เชิญอนาคาริกาชาวเนปาลขึ้นปราศรัย ท่านพูดเป็นภาษาเนปาลี น่าจะเกี่ยวกับบทบาทของอนาคาริกาในการช่วยเผยแผ่พุทธศาสนาในเนปาล

 

ท่านธัมมนันทาพูดเป็นคนสุดท้าย ท่านเริ่มต้นโดยเท้าความถึงความตั้งพระทัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะให้มีพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตั้งแต่ครั้งแรกที่เพิ่งตรัสรู้ใหม่ๆ มารมาทูลขอให้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระพุทธธองค์ไม่รับ โดยมีเงื่อนไขว่า พุทธบริษัททั้ง 4 ของพระองค์ยังไม่ตั้งมั่น แสดงว่า พระพุทธองค์ท่านมีความตั้งพระทัยตั้งแต่ต้นว่า เสาหลักที่จะให้ช่วยกันประคับประคองพระพุทธศาสนานั้น ต้องมาจากบุคคล 4 ฝ่าย ทั้งชายหญิง ทั้งนักบวชและฆราวาส อย่าลืมว่า ตอนนั้นยังไม่มีผู้หญิงขอบวชเลยด้วยซ้ำ

หลังจาก 45 ปีผ่านไป มารมาทูลอีกว่า บัดนี้ 45 ปีผ่านไปแล้ว พระศาสนาก็ตั้งมั่นแล้ว พุทธบริษัท 4 ก็ครบแล้ว ขอพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้

คราวนี้ พระพุทธองค์ยอมรับ และทรงปลงอายุสังขารใน 3 เดือนข้างหน้า จากนั้น จึงเสด็จจากเวสาลี มุ่งไปกุสินาราเพื่อปลงอายุสังขารที่นั่น

ข้อมูลตรงนี้เป็นการยืนยันว่า ภิกษุณีบริษัทก็ตั้งมั่นแล้ว และเป็นพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าตั้งแต่แรกทีเดียว ชาวพุทธเนปาลไม่เคยได้ยินความข้อนี้ ให้ความสนใจกันมาก

ท่านธัมมนันทากล่าวขอบคุณมหาวิหารที่เปิดพื้นที่ให้พิเศษเพื่อให้อนาคาริกาของเนปาลเองได้มีพื้นที่พูดคุยกันได้เต็มที่

ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากชาวพุทธเนปาลที่มาร่วม

 

หลังจากการถวายอาหารเพล และเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้เข้าร่วมที่จะอยู่ร่วมสัมมนาต่อในช่วงหลังอาหารกลางวันแล้ว งานสัมมนาจึงเริ่มอย่างเป็นรูปธรรม

เขาจัดให้ผู้เสนอบทความใช้เวลา 20 นาที และเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยตรีภูวันเป็นผู้วิจารณ์ อีก 10 นาที ที่สามารถดึงเอาอาจารย์จากมหาวิทยาลัยของรัฐบาลมาร่วมด้วยได้ เพราะผู้ร่วมจัดคือ ศาสตราจารย์ ดร.ศังกร ธาปะ เองเป็นหัวหน้าแผนกประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนั้น บางครั้งปรากฏว่า ผู้วิจารณ์ใช้เวลามากกว่าผู้เสนอบทความเองก็มี

ที่ประสบความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้ดำเนินรายการ ในช่วงที่ท่านธัมมนันทาเสนอบทความนั้น ผู้ดำเนินรายการเป็นศาสตราจารย์ตรีรัตนะ มนันธร ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงและมีความสามารถในการดำเนินรายการที่ดีมาก

ในบทความที่เสนอนั้น มีรายการดังนี้

การรื้อฟื้นภิกษุณีเถรวาทในเนปาล โดยภิกษุณีธัมมนันทา

วัตรปฏิบัติของผู้หญิงในเนปาล โดย สุเรนทร มัน วัชราจารย์

ผลงานของนักบวชสตรีในเนปาล โดย น.ส.เศรษฐา ศากยะ

พระพุทธเจ้ากับการก่อตั้งภิกษุณีสงฆ์ โดย ดร.ตรีรัตนะ มนันธร

ชาวพุทธจัดการกับยุคข่าวสารข้อมูลอย่างไร โดย ดร.กาญจนา สุทธิกุล

การค้นพบเส้นทางจิตวิญญาณของฉัน โดย สามเณรีธัมมปริปุณณา (ดร.สุรีย์รัตน์)

ประเด็นปัญหาของนักบวชสตรีในเนปาล โดย ราเชนทร์ มนันธร

การอบรมสตรีชาวพุทธที่วัตรทรงธรรมฯ โดยภิกษุณีธัมมวัณณา

พุทธศาสนากับอิสรภาพของสตรี โดย ดร.รีนา ตุลธร

อนาคาริกาในเนปาล โดย ศรัทธาจารี คุรุมา

 

การไปประชุมครั้งนี้ เป็นงานวิชาการแรกของมหาวิหาร มหาวิหารเองก็อยากจะพัฒนาให้งานของมหาวิหารเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ทั้งในเนปาล และในระดับต่างประเทศ นับได้ว่า งานสัมมนาครั้งนี้เป็นการเปิดตัวมหาวิหารในอีกรูปแบบหนึ่งที่จะสอดคล้องกับความพยายามที่มหาวิหารกำลังจะเปิดวิทยาลัยพุทธศาสนาขึ้นด้วย

เรียกว่า ทุกคนได้ปลื้มเพราะทุกคนได้ทำงานตามศักยภาพของตน

เป็นการอิงอาศัยกัน เพื่อสร้างความมั่นคงในพระศาสนาจริงๆ

อาทิตย์หน้าจะเล่าถึงลักษณะของพุทธศาสนาในเนปาลที่ต่างจากบ้านเรามากทีเดียว