จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 6-12 ตุลาคม 2560

จดหมาย

ไล่เบี้ยเก็บเงิน “น้ำ”

มีข่าวรัฐบาลจะเข็น พ.ร.บ.น้ำ

ถ้าออกมาได้ จะสร้างปัญหาให้ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

หนักกว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้าฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. มีหลักการที่ดี

คือ ใครที่ใช้ทรัพยากรของส่วนรวมต้องจ่ายภาษี

ไม่ใช่นำไปใช้ฟรีๆ

เช่น ในกรณีโรงงาน “กระทิงแดง” หากมีการใช้น้ำจำนวนมหาศาลจากเขื่อนอุบลรัตน์ (น้ำพอง) ก็ควรที่จะเสียภาษี

หรืออีกนัยหนึ่งควรซื้อน้ำไปใช้จึงจะสมควร

แต่สำหรับชาวนาที่ต้องเสียค่าน้ำอัตราลูกบาศก์เมตรละ 0.5 บาทนั้น

เป็นวิธีคิดที่ “ชั่วช้า” มาก

เพราะคิดบนฐานว่าประชาชนชาวนาใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง เพราะขาดความรู้ ความเข้าใจในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ

จากข้อมูลการเกษตรพบว่า การใช้น้ำทำนานั้น มีปริมาณประมาณ 600-1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่

สมมติหากใช้น้ำ 900 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ก็ต้องเสียภาษีไร่ละ 450 บาท

ถ้าทำนาได้ 2 ครั้งก็เสีย 900 บาท

ถ้าทำนาปีละ 3 ครั้ง ก็จะเสียเป็นเงิน 1,350 บาท

ถ้าสมมติให้เป็นเงินภาษีที่ต้องเสียปีละ 1,000 บาท และที่ดินเพื่อการเกษตร มีมูลค่าไร่ละ 100,000 บาท ก็เท่ากับเสียภาษี 1%

ในขณะที่ที่ดินเกษตรกรรมตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เกษตรกรที่มีที่ดินที่มีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี และหากต้องเสียก็จะเสียภาษีในอัตราเพดานเพียง 0.2%

ตามข้อมูลของทางกรมชลประทาน ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำรวมของทั้งประเทศในปี พ.ศ.2560 อยู่ที่ประมาณปีละ 151,750 ล้านลูกบาศก์เมตร

เป็นความต้องการน้ำเพื่อการเกษตร สูงถึง 113,960 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 75 ของความต้องการน้ำทั้งหมด

ถ้ามีการเก็บภาษีที่ 0.5 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ก็เท่ากับจะได้ภาษีถึง 56,980 ล้านบาท

ถ้ามีการเก็บภาษีจำนวนนี้ ก็คงทำให้สินค้าต่างๆ พาเหรดขึ้นราคากันยกใหญ่

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ รายได้จากการจัดเก็บภาษีนี้อาจไปสู่ “25 ลุ่มน้ำ” ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเป็นคนได้รับภาษีนี้ไปใช้

แตกต่างจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เก็บในท้องถิ่นและใช้ในท้องถิ่น

ถ้าท้องถิ่นใดเสียภาษีน้ำแล้ว แต่เงินไม่ได้เข้าท้องถิ่น แต่ไปเข้าที่อื่น ก็คงจะเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นอีก

และหากเงินเข้าท้องถิ่น ก็จะสามารถตรวจสอบได้ชัดเจนกว่าที่จะเข้าสู่ส่วนกลางหรือผ่าน “25 ลุ่มน้ำ”

สิ่งที่รัฐควรดำเนินการก็คือการขายน้ำให้กับกิจการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น บริษัทกระทิงแดงแถวเขื่อนอุบลรัตน์ บริษัทเบียร์ เช่น เบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง บริษัทของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่นำน้ำดิบมาใช้ เป็นต้น

แต่คงไม่ใช่ ณ อัตรา 3 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เพราะเป็นอัตราที่สูงเกินจริง

การจัดเก็บภาษีนี้ และโดยเฉพาะค่าสัมปทานน้ำบาดาล ยิ่งต้องมีการจัดเก็บที่สมเหตุสมผล หาไม่ก็จะสร้างความไม่เท่าเทียมในสังคม

ดร.โสภณ พรโชคชัย

www.area.co.th

 

มีการโวยวายพวกคัดค้าน ว่าไปเอา “ร่างต้น” ที่ยังไม่ใช่ของจริงมาวิพากษ์วิจารณ์

ว่าที่จริง ต้นเรื่องที่ทำให้สังคม “ตื่น” ก็มาจากกรมทรัพยากรน้ำ

แต่ก็ไม่ควรไปต่อว่า “อธิบดี”

แบบ “กูไปสั่งมึงเมื่อไหร่วะ” (ฮา)

ควรจะขอบคุณด้วยซ้ำ ที่นำข้อมูลมาบอกสังคม

ด้วยเรื่องนี้ เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว

มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ขึ้นมาพิจารณา

ไม่ค้านหรือไม่แสดงความเห็นตอนนี้ แล้วจะไปทำตอนไหน

รอให้ พ.ร.บ. เสร็จก่อนหรือ ไม่น่าจะเหมาะ

ถึงได้บอก ควรขอบคุณอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ

ถ้าไม่บอก เกษตรกร “จมน้ำ” แหงๆ

 

ไล่เบี้ย “อภิสิทธิ์”

เรียน บ.ก.

อภิสิทธิ์ ยังคงเป็นอภิสิทธิ์

ไม่ว่าจะไปพูดในเวทีไหน ไม่ว่าจะไปพูดในมุมไหนของโลก

อภิสิทธิ์ยังคงเป็นอภิสิทธิ์คนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

เป็นอภิสิทธิ์ที่พูดเอาดีใส่ตัว และเอาเรื่องไม่ดีใส่คนอื่น

ล่าสุดอภิสิทธิ์ได้มีโอกาศไปพูดบนเวทีเสวนาที่ฮาร์วาร์ด

ซึ่งแน่นอนว่าอภิสิทธิ์ผู้ชอบพูดๆๆ และหาโอกาสที่จะได้พูดๆๆ ยกตัวเอง (ยิ่งพูดบนเวทีใหญ่ๆ อภิสิทธิ์ยิ่งชอบ)

ย่อมไม่ยอมพลาดโอกาสที่จะพูดเอาดีใส่ตัว เอาเลวใส่คนอื่น เหมือนเช่นเคย

แต่ในคราวนี้ เวทีนี้ อภิสิทธิ์ต้องมาเจอกับ ดันแคน แม็กคาร์โก นักวิชาการที่เขียนหนังสือเรื่องการเมืองไทยจากมหาวิทยาลัยลีดส์เป็นผู้ร่วมเสวนา

ผู้ซึ่งคอยให้ความจริงอีกด้าน ที่งัดแย้งกับอภิสิทธิ์กลายๆ

อภิสิทธิ์จึงไม่อาจจะสร้างภาพให้ตัวเองเป็นคนดี นักการเมืองที่ดี ได้อย่างที่ต้องการอย่างเต็มที่

และไม่อาจจะให้ร้ายคนอื่นได้อย่างเต็มที่เช่นกัน

รายละเอียดเพิ่มเติมตามลิงก์นี้ครับ

https://news.voicetv.co.th/thailand/527119.html

วิรุฬ หอมวิเชียร

 

“วิรุฬ หอมวิเชียร”

คงถูกมองเป็นเจ้าประจำ ที่คอยไล่เบี้ย “อภิสิทธิ์”

ไปเรียบร้อยแล้ว

กระนั้น “อภิสิทธิ์” ซึ่งประกาศตนเป็น “นักประชาธิปไตย”

คงไม่หงุดหงิดกับ “แสงไฟส่อง” นี้กระมัง