รั้วของชาติ-รั้วของทำเนียบ/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

รั้วของชาติ-รั้วของทำเนียบ

 

เราได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ ว่า ประเทศชาติต้องมีกองทัพที่เข้มแข็งเกรียงไกรเพื่อปกป้องอาณาเขตประเทศ พิทักษ์รักษาอธิปไตยของชาติ นั่นคือภารกิจอันสำคัญยิ่ง เป็นคำตอบว่าทหารมีไว้ทำไม เพียงแต่ปัญหาของประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย คือ การนำเอากองทัพมาใช้แทรกแซงทางการเมือง

ทหารจึงต้องมาใช้เวลาในการค้ำยันรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร สนับสนุนผู้นำรัฐบาลที่มาจากกองทัพ

ที่ดูเสียหายร้ายแรงคือ การนำมาเป็นเครื่องมือล้มรัฐบาลประชาธิปไตย ด้วยข้ออ้างมีนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งที่ทหารไม่ได้มีภารกิจอะไรเลยในการปราบปรามคอร์รัปชั่น และไม่ได้มีหน้าที่ล้มกระดานการเมือง ด้วยเหตุผลเพื่อปราบนักการเมืองโกงกิน

ภาพที่ประชาชนคนไทยได้เห็นบ่อยๆ คือ รถหุ้มเกราะ รถถัง กองกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือ เข้ามายึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสถานที่ราชการ ยึดสถานีโทรทัศน์ ยึดสถานีวิทยุ ตั้งบังเกอร์กระสอบทรายตามสี่แยกในกรุงเทพฯ

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ กรณีเครื่องบินรบพม่าล้ำน่านฟ้าไทยเข้ามา ในภารกิจปราบปรามกองกำลังชนกลุ่มน้อย แล้วเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีกองทัพไทยแสดงท่าทีอย่างล่าช้า ไม่มีการตอบโต้อย่างทันท่วงที

ที่สำคัญการแสดงออกของนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมด้วย แถมเป็นนายพลเอกเป็นอดีตผู้นำกองทัพ ไปจนถึงท่าทีของ ผบ.ทหาร

กลายเป็นท่าทีอันอ่อนข้อ แถมพยายามชี้แจงแทน อ้างว่าเป็นแค่การตีวงเลี้ยวเครื่องบิน หรือแค่เพื่อนบ้านที่เดินลัดสนามหญ้าบ้านเรา

จึงยิ่งทำให้รัฐบาลและกองทัพถูกวิจารณ์อย่างอื้ออึง ว่าไม่แสดงความเข้มแข็งเด็ดขาดในการปกป้องเขตประเทศ

แต่เสียงวิจารณ์นี้ไม่ได้แปลว่าเป็นแนวคิดคลั่งชาติ ไม่ใช่การเรียกร้องให้เปิดศึกสงคราม เพราะจุดสำคัญคือ การบินล้ำแดนเข้ามาของเครื่องบินรบพม่า น่าเชื่อว่าเพื่ออ้อมภูเขา แล้วย้อนเข้าโจมตีฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่า เท่ากับเป็นการอาศัยเขตประเทศเราเพื่อทำศึกสงครามกับฝ่ายต่อต้าน

ซึ่งกลายเป็นปัญหาละเมิดหลักของยูเอ็นและละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

การที่รัฐบาลและกองทัพไทยไม่มีท่าทีเด็ดขาดกับเหตุการณ์นี้ จะถูกตีความได้ว่าร่วมรู้เห็นเป็นใจ ให้กองทัพพม่าล้ำเขตในการกวาดล้างศัตรูของรัฐบาลพม่า

เสียงเรียกร้องให้กองทัพไทยเข้มแข็ง ไม่ใช่ต้องการให้รบกับพม่า แต่ให้เข้มแข็งเพื่อไม่ปล่อยให้มีการใช้เขตบ้านเราในการปราบปรามเข่นฆ่าคู่ขัดแย้ง

 

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ากองทัพไทยไม่แสดงความเข้มแข็งกับปัญหาการล้ำแดนของพม่า ยังทำให้บานปลายถึงการตั้งข้อสงสัยประสิทธิภาพในภารกิจหลักของกองทัพ นั่นคือ การเป็นรั้วของชาติที่เข้มแข็งเกรียงไกร

เกิดข้อเปรียบเทียบเชิงเสียดสีว่า เก่งกับการปราบม็อบเสื้อแดง แต่เฉยๆ กับการล้ำแดนของเครื่องบินรบต่างชาติ

หรือเก่งแค่การจัดโชว์เด็กในวันเด็ก

ทั้งหลายทั้งปวง ทำให้โยงไปถึงบทบาทของกองทัพในช่วงที่ผ่านๆ มา ซึ่งถูกใช้มาเป็นเครื่องมือแทรกแซงทางการเมือง กลายเป็นเครื่องมือล้มประชาธิปไตยอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ

ด้วยข้ออ้างนักการเมืองโกงกินบ้าง หรือข้ออ้างล่าสุดในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรัฐประหาร 2557 คือ หยุดความขัดแย้งแตกแยก หยุดสงครามกลางเมือง

แต่พิสูจน์แล้วว่า การรัฐประหารในแต่ละครั้งนั้น มีมูลเหตุที่ชัดเจนว่า เป็นการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง เป็นความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับรัฐบาลนักการเมือง

ครั้งล่าสุด เป็นการช่วงชิงอำนาจของเครือข่ายฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง เพราะหวาดกลัวการเติบโตของพรรคการเมืองเครือข่ายทักษิณ ช่วงชิงความนิยมของประชาชนส่วนใหญ่ไว้มากจนกลัวว่าฝ่ายตัวเองจะสูญเสียอำนาจ

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยกระจัดกระจาย

แต่จุดสำคัญคือ ต้องหยุดยั้งพรรคฝ่ายทักษิณให้ได้

ด้วยข้ออ้างเหล่านี้แหละ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องเป็นนายกฯ ยาวนาน

ทั้งที่ประเทศชาติควรจะมีผู้นำในการบริหารประเทศ ที่สอดคล้องกับวิกฤตในขณะนั้น ที่ผ่านมาเราเจอวิกฤตโรคระบาดโควิด กระทบเศรษฐกิจอย่างหนัก

ตามด้วยวิกฤตพลังงาน น้ำมันแพงไม่หยุด กระทบต่อราคาสินค้าทุกชนิด กระทบต่อปากท้องประชาชนอย่างรุนแรง

ก็ยังใช้ผู้นำรัฐบาลชุดที่อ้างเรื่องยุติความขัดแย้งแตกแยกเมื่อปี 2557 อยู่ต่อไป ไม่ได้คำนึงถึงประชาชนว่าจะมีกินหรือไม่ เศรษฐกิจเมื่อไหร่จะฟื้นตัว

ขณะที่ผู้นำกองทัพก็ยังเป็นนายกฯ นั่นจึงทำให้กองทัพก็มีหน้าที่ค้ำยันรัฐบาลนี้ต่อไปเรื่อยๆ

แถมทหารใหญ่จำนวนมาก ต้องเข้าไปนั่งเป็น ส.ว. เพื่อโหวตให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ และคอยค้ำรัฐบาลในทางรัฐสภา

นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กองทัพถูกวิจารณ์อย่างหนัก

ยิ่งรัฐบาลเริ่มเสื่อมในสายตาประชาชน เพราะไม่สามารถแก้ไขเศรษฐกิจได้ ย่อมทำให้กองทัพผู้สนับสนุนรัฐบาลพลอยเสียหายไปด้วย!

 

มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อท่าทีของรัฐบาลไทยในกรณีเครื่องบินรบพม่าในอีกแง่มุมที่น่าสนใจ นั่นคือ รัฐบาลพม่าขณะนี้เป็นรัฐบาลทหารเต็มตัว ก่อรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ผลจากการล้มประชาธิปไตย จับกุมนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยไปคุมขังดำเนินคดี

ก่อให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าไปทั่วประเทศ

หลังรัฐประหารใหม่ๆ ประชาชนพม่าออกมาประท้วงตามท้องถนน นำโดยคนรุ่นใหม่ชู 3 นิ้ว แล้วถูกปราบปรามด้วยกองกำลังรัฐ พร้อมกระสุนจริง ล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่คลื่นการประท้วงก็ไม่หยุดนิ่ง ขยายวงไปทั่ว

การต่อต้านรัฐประหารพม่าพัฒนาต่อไป เมื่อคนหนุ่มสาว นางงาม ดารา แห่กันเข้าป่า ไปฝึกอาวุธกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ก่อนจะจัดตั้งกองกำลังของประชาชนขึ้นมาต่อสู้ด้วยอาวุธ

ทำให้กองทัพพม่าต้องเจอกับสงคราม ทั้งจากประชาชนคนหนุ่มสาวที่จับปืนสู้ และกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า ก็เปิดศึกสงครามอย่างหนัก

การสู้รบของกองทัพพม่ากับกองกำลังต่างๆ จึงเริ่มประชิดแดนไทย แล้วกลายเป็นเหตุการณ์เครื่องบินรบล้ำแดนไทย ซึ่งก็คือรุกรบที่ติดพัน

ท่าทีของรัฐบาลไทยและกองทัพไทย ซึ่งโอนอ่อนให้ทหารพม่า ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า เพราะการเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จึงทำให้รัฐบาลนี้กับรัฐบาลพม่า มีอะไรที่คล้ายคลึงกัน

แล้วถ้าหากรัฐบาลทหารพม่าต้องพ่ายแพ้กับฝ่ายต่อต้าน จะเกิดแรงกระเพื่อมมาถึงชาว 3 นิ้วในบ้านเราด้วย

ชะตากรรมของรัฐบาลทหารพม่า จึงผูกพันมาถึงนักรัฐประหารในไทยด้วย

และพร้อมๆ กัน เมื่อกองทัพไทยไม่แสดงความเข้มแข็งที่ชายแดน จึงเกิดเสียงวิจารณ์ว่า ภารกิจหลักของกองทัพนั้น ควรเป็นรั้วที่เข้มแข็งของประเทศชาติ

แต่กลับมาเน้นภารกิจเป็นรั้วให้รัฐบาลประยุทธ์ เพื่อให้นั่งทำเนียบต่อไปยาวนานนั่นเอง!