มองไทยใหม่ : เสียงควบกล้ำใหม่ในภาษาไทย (๑)

ในปัจจุบันพยัญชนะคู่หรือพยัญชนะซึ่งเรียงต่อกัน ๒ ตัวในภาษาไทยที่ออกเสียงควบกล้ำกันนั้นมีอยู่ไม่มาก พยัญชนะตัวที่ ๒ ก็มีเพียง ๓ ตัว คือ ร ล ว ส่วน ฤ ซึ่งในภาษาไทยออกเสียงเดียวกันกับ ร นั้นก็ปรากฏได้ในบางคำ ดังภาพสรุป

 

ในแง่เสียงถือว่ามี ๑๒ คู่ คือ /กร/ /กล/ /กว/ /คร/ /คล/ /คว/ /ตร/ /ทร/ /ปร/ /ปล/ /พร/ /พล/ แต่ในแง่ของรูปพยัญชนะที่นำมาคู่กันมีอยู่ ๒๐ คู่ ดังในภาพ

อย่างไรก็ตาม ยังมีรูป ทร อยู่จำนวนหนึ่งในภาษาไทยปัจจุบันที่ออกเสียง /ซ/ ดังที่อาจารย์ กำชัย ทองหล่อ ได้เรียบเรียงเป็นคำประพันธ์ไว้ในหนังสือ หลักภาษาไทย ดังนี้

ทรวดทรงทราบทรามทราย ทรุดโทรมหมายนกอินทรี

มัทรี อินทรีย์มี เทริด นนทรี พุทรา เพรา

ทรวงไทรทรัพย์แทรกวัด โทรมนัสย์ฉะเชิงเทรา

ตัว “ทร” เหล่านี้มาออกสำเนียงเป็นเสียง “ซ”

(ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๓๗ หน้า ๕๖๔-๕๖๕) (ตัวสะกดตามเดิม)

แสดงว่า ทร นั้น ออกเสียงได้ ๒ อย่าง คือ ออกเป็นเสียงเดียวคือ /ซ/ กับออกเป็นเสียงควบกล้ำคือ /ทร/

เสียงใดคือเสียงเดิม และเสียงใดคือเสียงที่เกิดขึ้นใหม่ในภาษาไทย

ในตำรา ปกีระณำพจนาดถ์ ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร ซึ่งพิมพ์ครั้งที่ ๑ ใน พ.ศ.๒๔๒๒ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีคำประพันธ์ที่ระบุเสียงอ่านของ ทร ไว้ ดังมีความตอนหนึ่งว่า

หนึ่งคำใช้ทอรอแทนซอนั้น มีสำคัญควรพิเคราะห์ได้เสาะสาว

คือนิทราอินทราจันทราดาว อิกคำกล่าวอินทรีมีไม้ไทร

ทราบอิกโทรมทรามทรายรายกันไป ทอรอใช้ต่างซอข้อคดี

(จากหนังสือ ภาษาไทย ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร พิมพ์ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๑๕ หน้า ๑๓๓) (ตัวสะกดตามเดิม)

จะเห็นได้ว่าในสมัยนั้น คำว่า นิทรา อ่านว่า /นิดซา/ คำว่า อินทรา อ่านว่า /อินซา/ และคำว่า จันทรา อ่านว่า /จันซา/ แสดงว่ามีการเปลี่ยนเสียงจาก /ซ/ มาเป็น /ทร/

คำถามที่น่าสนใจในช่วงนี้ก็คือ เหตุใดจึงมีการเปลี่ยนเสียง