เอสซีจี ในตลาดหุ้น / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com

 

เอสซีจี ในตลาดหุ้น

 

เครือข่ายธุรกิจเอสซีจี หวนกลับเข้าตลาดหุ้นอีกระลอก จากเว้นวรรคกว่า 3 ทศวรรษ เป็นเรื่องเร้าใจยิ่งนัก

เริ่มตั้งแต่กรณีเอสซีจี ซึ่งมีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ในตลาดหุ้น (ชื่อย่อ SCC) อย่างยาวนาน (ตั้งแต่ปี 2518) ได้ดำเนินตามกระบวนการมาตรฐานเต็มรูปแบบ “เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“SCGP”) และอนุมัติการนำหุ้นสามัญของ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ…” จากปลายปี 2562 จนบรรลุเป้าหมายในอีกราวหนึ่งปีเต็ม (ซื้อขายวันแรก 22 ตุลาคม 2563)

ประกอบเป็นภาพกว้าง “เอสซีจีมีประสบการณ์ครั้งสำคัญนานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว โดยเฉพาะกรณีบริษัท ยางสยาม จำกัด (มหาชน) หรือ STC เข้าตลาดหุ้นในปี 2522

และ บริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) หรือ SPP ถือเป็นครั้งล่าสุดการนำกิจการเข้าตลาดหุ้นของเครือข่ายเอสซีจี เกิดขึ้นในปี 2530 อันเป็นทศวรรษ (2520-2530) เอสซีจีขยายอาณาจักรธุรกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ว่าในบางจังหวะธุรกิจไทยโดยรวมเผชิญปัญหา แต่สำหรับเอสซีจีกลับเป็นโอกาสทางธุรกิจ” ดังที่เคยเสนอไว้

นอกจากนี้ ในอีกมิติหนึ่ง เอสซีจีมีประสบการณ์ด้านตรงข้าม นำกิจการออกจากตลาดหุ้น เมื่อช่วงเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ คงเหลือไว้เพียงบริษัทหลักแห่งเดียว-บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

 

ขณะเดียวกันมีข้อมูลอีกด้านระบุว่า ก่อนหน้า SCCP จะเข้าตลาดหุ้น ได้มีบริษัทอื่นๆ เกี่ยวข้อง 2-3 แห่งอยู่ในตลาดหุ้นก่อนแล้ว

คงหมายถึง บริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ Q-CON และบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO และบางทีอาจรวมถึงบริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL ด้วย ว่าไปแล้วทั้งสามกรณีมีความน่าสนใจ มีนัยยะที่แตกต่างกันออกไป

กรณี Q-CON ถือว่าไม่ซับซ้อน (โปรดพิจารณาข้อมูลจำเพาะด้วย) มีบางตอนระบุที่มาไว้ว่า “…เป็นการ spin off มาจาก LH” ก่อตั้งโดยบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ตั้งแต่ปี 2537 ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู และเข้าตลาดหุ้นในอีกทศวรรษต่อมา เมื่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจคลี่คลาย ในจังหวะเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจียุคกานต์ ตระกูลฮุน เป็นผู้จัดการใหญ่ เดินแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจดั้งเดิม (ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง) ให้กระฉับกระเฉง ด้วยแผนการ Merger & acquisition หนึ่งในนั้นเป็นการลงทุนถือหุ้นข้างมากใน Q-CON (ปี 2553)

คล้ายๆ กับกรณี GLOBAL เครือข่ายร้านค้าวัสดุก่อสร้าง กิจการซึ่งอยู่ในตลาดหุ้น (ตั้งแต่ 2550) ก่อนเอสซีจีเข้ามาถือหุ้นข้างน้อยอย่างมีนัยสำคัญ (2555)

“เป็นดีลไม่ใหญ่เลย สำหรับเครือข่ายกิจการระดับภูมิภาค และบริษัทเก่าแก่ของสังคมไทยอย่างเอสซีจี ด้วยการลงทุนไม่ถึงหนึ่งหมื่นล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นประมาณหนึ่งในสามในบริษัทโกลบอลเฮ้าส์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่อยู่ภาคอีสาน ถือเป็นธุรกิจไทยรายแรกๆ เอสซีจีให้ความสำคัญ”

ผมเคยกล่าวไว้ในช่วงนั้น

 

อีกกรณีหนึ่งถือว่าซับซ้อนซ่อนเงื่อนพอสมควร อันที่จริงเกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2551 เมื่อเอสซีจีถือหุ้นข้างมากในอีกบริษัทซึ่งอยู่ในตลาดหุ้นเช่นกัน – บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGCI ผู้บุกเบิกธุรกิจเซรามิกในไทย (ก่อตั้ง 2512) ก่อนเอสซีจีจะเข้าสู่ธุรกิจราว 1 ทศวรรษ TGCI ได้เข้าตลาดหุ้น ถือว่าอยู่ในยุคบุกเบิกตลาดหลักทรัพย์ไทยก็ว่าได้ (2523)

TGCI เผชิญสถานการณ์ใหม่อันพรั่นพรึงถึง 2 ช่วง ต่อเนื่องราว 3 ทศวรรษ ตั้งแต่เอสซีจีเดินแผนเชิงรุกอย่างเข้มข้นสู่ธุรกิจเซรามิก จนมาถึงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ตามมาด้วยเหตุการณ์สำคัญ เอสซีจีกว้านซื้อธุรกิจเซรามิกเป็นการใหญ่ ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ TGCI ด้วย (2551)

แผนการอันซับซ้อนที่ว่า เกิดขึ้นในอีกทศวรรษ (2561) เมื่อเอสซีจีควบรวมกิจการเซรามิกทั้งหมด โดยยึดฐานะ TGCI บริษัทในตลาดหุ้นไว้ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ดังข่าวสารที่ปรากฏในช่วงนั้น

“คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งเพิกถอนหลักทรัพย์ของ TGCI จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และรับหลักทรัพย์ของ COTTO เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบบริษัท ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 และเริ่มซื้อขายได้ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2561”

 

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบ กรณี SCCP จึงตื่นเต้น เร้าใจยิ่งกว่า ด้วยตำนานธุรกิจแห่งยุคสมัยใหม่เอสซีจี จากกรณีศึกษาอันลือลั่นบริษัทสยามคราฟท์ ถึงบริษัทเยื่อกระดาษสยาม อยู่ในตลาดหุ้นถึง 24 ปี ก่อนจะถอนตัวออกมา กลายเป็นเอสซีจีเปเปอร์ (2546) บริษัทแกนกลุ่มธุรกิจหลัก 1 ใน 3 ของเอสซีจี (ต่อมาปี 2558 เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นเอสซีจี แพคเกจจิ้ง)

ผ่านไป 17 ปี จึงหวนคืนกลับเข้าตลาดหุ้นครั้งใหญ่อีกครั้ง กรณี SCGP เป็นความท้าทายที่เป็นไปด้วยดี ท่ามกลางสังคมโลกและไทยเผชิญภัยพร้อมเพรียงอย่างคาดไม่ถึง กลายเป็นช่วงเวลา Great Lockdown ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีอีกกรณีหนึ่ง ถือเป็นแผนการเข้าตลาดหุ้นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ •

ข้อมูลจำเพาะ

Q-CON : บริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่น โปรดัคส์ จำกัด (มหาชน)

ก่อตั้ง 2537 จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ 6 มกราคม 2547

จำนวนหุ้นจดทะเบียน (ล้านหุ้น) 400

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (ล้านบาท) 2,120 (1 กรกฎาคม 2565)

ลักษณะธุรกิจ

ผลิตและจำหน่ายคอนกรีตมวลเบาเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก รวมถึงผลิตภัณฑ์ทั้งประเภทไม่เสริมเหล็ก ได้แก่ บล็อก (Block) ขนาดต่างๆ และประเภทเสริมเหล็ก ได้แก่ คานทับหลังสำเร็จรูป (Lintel), แผ่นผนัง (Wall Panel), แผ่นพื้น (Floor Panel) และแผ่นบันได (Stair) โดยเป็นการ spin off มาจาก LH

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (4 เมษายน 2565) 1.บริษัท เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด 61.01% 2.บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) 21.16%

COTTO : บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน)

ก่อตั้งและจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ 1 สิงหาคม 2561

จำนวนหุ้นจดทะเบียน (ล้านหุ้น) 5,962.62

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (ล้านบาท) 12,044.49 (1 กรกฎาคม 2565)

ลักษณะธุรกิจ

ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกปูพื้นและบุผนังเป็นธุรกิจหลัก ภายใต้เครื่องหมายการค้า COTTO, SOSUCO และ CAMPANA และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมหนองแค

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (4 เมษายน 2565)-บริษัท เซรามิคซิเมนต์ไทย จำกัด 82.75%

SCGP : บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ 22 ตุลาคม 2563

จำนวนหุ้นจดทะเบียน (ล้านหุ้น) 4,292.92

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (ล้านบาท) 239,330.30 (1 กรกฎาคม 2565)

ลักษณะธุรกิจ

บริษัทประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) เพื่อให้บริการโซลูชั่นด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร โดยแบ่งออกเป็น 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ (1) สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Chain) และ (2) สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Chain) โดยมีบริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักซึ่งก่อให้เกิดกำไรหลัก

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (7 เมษายน 2565)-บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 72.12%