เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : นักเขียนหญิงในศตวรรษที่ 18 ในมุมมองของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ

หนังสือ A Room of One’s Own หรือในภาคภาษาไทย “ห้องส่วนตัว” สำนวนแปลของ มาลินี แก้วเนตร ซึ่งผู้เขียนขอยกย่องให้เป็นเพชรในวงการนักแปลอีกคนหนึ่งนั้น

หากใครก็ตามเตะตากับหนังสือแปลเล่มนี้ แล้วซื้อมาวางไว้บนโต๊ะก่อน มองแล้วมองอีก หยิบแล้ววาง วางแล้วหยิบ ด้วยขยาดชื่อเสียงอันน่าเกรงขามของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ แล้วละก็ ก็ขอเชียร์ว่าอย่าได้กลัว ให้หยิบขี้นมาเลย แล้วก็จะเพลินโดยไม่รู้ตัว

มันไม่ได้อ่านยากอย่างที่คิดหรอกนะคะ

 

ในบทแรกๆ VW (เวอร์จิเนีย วูล์ฟ) พูดถึงสภาพที่ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้หญิงอ่านเขียนหนังสือ เพราะสังคมให้ความยอมรับเพศหญิงไม่เท่าเพศชาย สังคมไม่ยอมรับความสามารถของผู้หญิง และผู้หญิงถูกมองว่ามีหน้าที่ทำงานในบ้านเท่านั้น จะเปิดโลกทัศน์ก็ยากเพราะไม่มีเงินใช้จ่ายเป็นของตัวเอง

ในช่วงท้ายของหนังสือ VW ได้พูดถึงผู้หญิงที่เป็นนักเขียนในศตวรรษที่ 18 เธอได้เอ่ยถึง อัฟรา เบย์น ไว้ว่าอย่างนี้

“อัฟรา เบย์น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราสามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยการเขียนหนังสือ แม้จะหมายถึงการต้องเสียสละคุณสมบัติดีๆ บางอย่างทิ้งไปบ้าง (เธอไม่ได้เฉลยว่าคือคุณสมบัติอะไร) ดังนี้อาชีพเขียนหนังสือค่อยแปรความหมายไปทีละน้อย มันไม่ได้หมายถึงความบ้าหรือจิตฟั่นเฟือนอีกต่อไปแล้ว”

หากได้อ่านตั้งแต่ต้นเล่มมา นี่ก็คือข้อเปรียบเทียบกับนักเขียนหญิงในศตวรรษที่ 16 ที่เข้าข่ายเพ้อฝัน หรือเขียนตามที่ผู้ชายคาดหวัง หรือไม่ก็เขียนแบบกลัวๆ กล้าๆ

VW ยังบอกอีกว่า “ผู้หญิงในศตวรรษที่ 18 นับร้อยคนเริ่มหารายได้เพิ่ม เพื่อมาช่วยค่าใช้จ่ายเดิมเล็กๆ น้อยๆ ทั้งของส่วนตัวและของครอบครัว ด้วยการแปลงานหรือเขียนนวนิยายห่วยๆ จำนวนนับไม่ถ้วนซึ่งจะไม่มีวันปรากฏในหน้าหนังสือประวัติวรรณคดีเล่มใดๆ แต่กลับมีผู้ซื้อหาไปอ่าน”

VW กำลังบอกเราว่า อย่างน้อยถึงนักเขียนหญิงในศตวรรษที่ 18 จะเขียนอะไรที่ดูไม่ค่อยมีคุณค่าแต่พวกเธอก็มีรายได้มาใช้จ่าย ก็นับว่าเป็นศักดิ์ศรีของพวกเธอ

สำหรับ VW เธอบอกว่าถ้าเขียนประวัติศาสตร์ตรงนี้ได้เธอก็จะเขียนว่าสมควรบันทึกไว้เลยว่าในปลายศตวรรษที่ 18 นี้ผู้หญิงชนชั้นกลางได้เริ่มเขียนหนังสือ

และเรื่องนี้สำหรับเธอสำคัญกว่าสงครามครูเสดเสียอีก

เมื่ออ่านความเรียงของ VW มาถึงตอนที่เธอบอกว่าค่านิยมของเพศชายกับค่านิยมของเพศหญิงนั้นต่างกัน เช่น ผู้ชายเห็นเรื่องฟุตบอลสำคัญ และการชื่นชอบแฟชั่นหรือการจับจ่ายใช้สอยเสื้อผ้าแพรพรรณเป็นเรื่องไร้สาระ

ดังนั้น เมื่ออ่านนวนิยายทั้งหลายที่มีอยู่ในสมัยนั้นจึงอดคิดไม่ได้ว่านักเขียนหญิงทั้งหลายเขียนท่ามกลางความหวาดระแวงต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของพวกผู้ชาย

จะมียกเว้นนักเขียนหญิงที่เขียนด้วยความกล้าหาญอยู่สองคนเท่านั้นคือ เอมิลี บรองเต้ และ เจน ออสเตน

“ในจำนวนผู้หญิงเป็นพันๆ คนที่ลุกขึ้นมาเขียนนวนิยายในสมัยนั้นก็มีแต่นักเขียนหญิงสองคนนี้เท่านั้นที่เพิกเฉยโดยสิ้นเชิงต่อคำตักเตือนไม่หยุดหย่อนของบรรดาท่านศาสตราจารย์ผู้ไม่มีวันเลิกคร่ำครึ – เขียนอย่างนี้สิ คิดอย่างนี้สิ สองคนนี่เท่านั้นที่ไขหูต่อเสียงสั่งสอนที่ไม่มีวันเลิกรา”

เวลานี้เราอยู่ในศตวรรษที่ยี่สิบ ผู้เขียนกำลังคิดว่าพวกเราผู้หญิงก้าวกันมาไกลแล้ว ผู้หญิงเป็นนักเขียนกันเยอะแยะมากมาย และก็ช่างน่าแปลก เมื่อมาดูที่เมืองไทยเรา นักเขียนนวนิยายขายดีมักจะเป็นผู้หญิง และก็เป็นผู้หญิงที่หารายได้เลี้ยงครอบครัวเสียด้วย

ผู้เขียนคิดว่าสิ่งนี้เกิดจากการต่อสู้ในจิตใจของผู้หญิงที่ต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าอาชีพนักเขียนนี่แหละทำให้เลี้ยงตัวและครอบครัวได้ และเท่าที่รู้มานักเขียนหญิงแถวหน้าบางคนก็ไม่ได้เขียนในห้องส่วนตัวด้วยซ้ำ เธอเขียนไป สอนการบ้านลูกไป

 

ความช่างคิดของ VW ทำให้หนังสือของเธอน่าอ่าน เธอพูดถึงเงื่อนไขทางกายภาพของผู้หญิง เธอบอกว่าหนังสือนั้นไงๆ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับร่างกาย เธอบอกว่าหนังสือของผู้หญิงนั้นจะต้องมีความยาวที่สั้นกว่า กระชับกว่าหนังสือที่เขียนโดยผู้ชาย ออกแบบมาเพื่อว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องใช้เวลาต่อเนื่องกันนานๆ ในการอ่านเพราะหล่อนจะถูกขัดจังหวะอยู่เป็นนิตย์

VW กำลังพูดถึงผู้หญิงที่เป็นผู้อ่าน ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงนวนิยายที่ลงต่อเนื่องกันในนิตยสารแบบพลอยแกมเพชร หรือสกุลไทย ที่ผู้หญิงชอบอ่านกัน เห็นท่าจะจริง

แต่ถึงหากจะพูดถึงผู้หญิงที่เป็นผู้เขียนก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน คือกายภาพของผู้หญิงทำให้ไม่มีเรี่ยวแรงจะเขียนเรื่องยาวขนาด สงครามและสันติภาพได้ หรือตลุยเขียนแบบ การ์เซีย มาร์เกซ ที่เขียน A Hundred Year of Solitude แต่ทว่าก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน

นั่นคือ เจ. เค. โรว์ลิ่ง ไงล่ะ เขียนแต่ละเล่มหนาทีเดียว แต่เคยได้อ่านที่ไหนจำไม่ได้ว่า โรว์ลิ่ง ไปนั่งเขียนตามร้านกาแฟ หาใช่ในห้องส่วนตัวไม่

ในบทท้ายๆ ของห้องส่วนตัว หนังสือที่เหมือนกับคนเขียนจะพร่ำบ่นไปเรื่อยๆ เล่มนี้ก็มีพัฒนาการที่ชัดเจนเหมือนกัน VW พูดถึงในยุคปัจจุบัน (ของเธอ) ว่าเมื่อมองไปที่หิ้งหนังสือ บัดนี้ก็มีหนังสือของผู้หญิงกับผู้ชายพอๆ กันแล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีพัฒนาการและความก้าวหน้าต่างๆ ที่น่ายินดีสำหรับผู้หญิง เช่น การมีสถาบันระดับอุดมศึกษาสำหรับสตรีในอังกฤษถึง 2 แห่ง (ปี 1866)การที่ผู้หญิงที่สมรสแล้วมีสิทธิ์ที่จะได้ครอบครองสมบัติของตนเอง (ปี 1880) และการที่ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งในอังกฤษ (ปี 1919)

เอาละค่ะ VW คงจะเป็นสุขใจที่ประเทศอังกฤษอันเกรียงไกรของเธอได้มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นหญิงที่สามารถอย่าง มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ และอีกไม่นานมหาอำนาจเพื่อนสนิทของอังกฤษคือสหรัฐอเมริกาก็กำลังจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้หญิงอีกเช่นกัน

สมหวังแล้วใช่ไหมคะ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ