กางแนวปฏิบัติ ‘กัญชง-กัญชา’ ใน…สถานศึกษา-มหาวิทยาลัย สกัด ‘น.ร.-น.ศ.’ เข้าถึงจริงหรือ?? / การศึกษา

การศึกษา

 

กางแนวปฏิบัติ ‘กัญชง-กัญชา’

ใน…สถานศึกษา-มหาวิทยาลัย

สกัด ‘น.ร.-น.ศ.’ เข้าถึงจริงหรือ??

 

หลังรัฐบาลประกาศ “ปลดล็อก” พืชกัญชา ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 (ยส.5) ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่ “เปิดเสรีกัญชา”

แม้จะมีผู้ที่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีกัญชา เพราะมอง “ประโยชน์” ที่เกิดจากการใช้กัญชา กัญชง ซึ่งมีเป้าหมายหลักๆ เพื่อประโยชน์ทาง “การแพทย์” ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย นอกจากนี้ ยังสามารถนำส่วนต่างๆ ของกัญชาไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม

แม้ประโยชน์จะมีมากมาย แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่วิตกกังวลว่ากัญชาจะถูกนำไปใช้ในทางที่ “ไม่เหมาะสม” เพราะยัง “ไม่มี” กฎหมายควบคุม เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ยังไม่มีผลบังคับใช้

โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยง อาทิ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร หรือเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี อาจส่งผลต่อสุขภาพจิต และร่างกาย รวมถึงผู้ปกครองที่มีลูกหลานอยู่ในวัยเรียน เป็นห่วงว่าการปล่อยเสรีกัญชา อาจทำให้เกิดผลกระทบกับเด็กๆ เพราะหากนำไปใช้ไม่ถูกต้อง จะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ และสมอง

เพราะหลังปลดล็อกกัญชาได้เพียงไม่กี่วัน ก็มีข่าวว่าผู้ที่เสพ หรือผู้ที่ได้รับกัญชา ที่ผ่านการนำไปดัดแปลงในรูปแบบต่างๆ ใช้เสพ หรือกินอาหารประเภทต่างๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชา ถูกหามส่งโรงพยาบาลหลายสิบราย แต่บางแห่งก็มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกัญชานับร้อยราย อาการตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนถึงอาการหนัก มากกว่าก่อนเปิดเสรีกัญชา

บวกกับมีตู้เครื่องดื่มที่ผสมกัญชาบางเจ้า เจาะกลุ่มลูกค้าถึงใน “โรงเรียนอนุบาล”…

ยิ่งทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง กังวลว่าถ้ากัญชาทะลักเข้า “สถานศึกษา” ได้อย่างง่ายดาย จะทำให้เด็กๆ ไม่ปลอดภัย…

จึงมีกระแสเรียกร้องให้ “สถานศึกษา” ต้องเป็นสถานที่ “ปลอด” กัญชา!!

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เด้งรับลูกผู้ปกครองอย่างรวดเร็ว ออกประกาศ กทม.เรื่องการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชา หรือกัญชง ในนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม.จำนวน 437 โรง โดยประกาศมาตรการ และการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชา หรือกัญชง ให้โรงเรียนสังกัด กทม.เป็นพื้นที่ “ปลอดกัญชา หรือกัญชง”

โดยให้งดขาย ห้ามโฆษณา อาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชา หรือกัญชง ภายในโรงเรียน…

ตามมาติดๆ ด้วยประกาศ ศธ.เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชา หรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของ ศธ.ที่ลงนามโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

หลังเจ้าตัวประกาศเสียงดังก่อนหน้านี้ว่า “โรงเรียน” ต้องเป็นสถานที่ “ปลอดสารเสพติด” ทุกชนิด ไม่ว่าบุหรี่ ยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงกัญชา หรือกัญชง

ซึ่งกำหนดมาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้กัญชา หรือกัญชงในนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากรในสถานศึกษา ให้สอดรับกับประกาศ สธ.เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่กำหนดให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่สามารถใช้ และเข้าถึงกัญชา หรือกัญชงได้

โดย ศธ., สธ.และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชา หรือกัญชงในสถานศึกษา ให้เหมาะสม อาทิ สถานศึกษาห้ามใช้กัญชา หรือกัญชงกับนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร โดยเด็ดขาด เพราะอาจมีผลต่อการพัฒนาสมอง ห้ามใช้เพื่อการนันทนาการใดๆ เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เช่น อาการทางจิต และระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย

อีกทั้งยังให้ผู้บริหารสถานศึกษาควบคุมร้านค้าที่จำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มในบริเวณสถานศึกษา ห้ามขายอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนใดๆ ของกัญชา หรือกัญชง และห้ามไม่ให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร นำอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนใดๆ ของกัญชา หรือกัญชง เข้ามาบริโภคในสถานศึกษาอย่างเด็ดขาด ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังให้อำนาจผู้บริหารสถานศึกษา ออกมาตรการ หรือแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดจากกัญชา หรือกัญชง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา!!

 

ภายหลัง กทม.และ ศธ.ออกประกาศถึงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชา หรือกัญชงในสถานศึกษาแล้ว ในส่วนของสถานศึกษาอาชีวศึกษา นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ย้ำว่า ที่ผ่านมามีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้เรียนเสพสารเสพติดในสถานศึกษาอยู่แล้ว

นอกจากนี้ จะไม่อนุญาตให้ร้านอาหารนำอาหารแปรรูปที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมเข้ามาขาย รวมทั้งไม่อนุญาตให้ร้านอาหารในสถานศึกษานำกัญชามาประกอบอาหารด้วย

ขณะที่ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ลงนามในประกาศ มม. ห้ามจำหน่าย โฆษณา และบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา หรือกัญชง ในพื้นที่ มม. เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่อาจเกิดจากการบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา หรือกัญชง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของเยาวชน และประชาชนทั่วไป

โดยห้ามจำหน่าย ห้ามโฆษณา ห้ามบริโภค อาหาร และเครื่องดื่มทุกชนิด รวมถึงส่วนประกอบของอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา หรือกัญชง ในพื้นที่ มม. ห้ามโฆษณาอาหาร และเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีส่วนผสมของกัญชา หรือกัญชง ในพื้นที่ มม.

แต่อนุญาตให้ศึกษา วิจัย ค้นคว้าองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชา หรือกัญชง รวมถึงการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ตามข้อบ่งชี้ ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด

ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อยู่ระหว่างหารือ และศึกษารายละเอียดด้านกฎหมาย เพื่อออกประกาศแนวทางปฏิบัติเรื่องการใช้กัญชา หรือกัญชง ใน มธ.

เช่นเดียวกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เตรียมนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพราะแม้ผู้เรียนระดับมหาวิทยาลัยจะมีวุฒิภาวะแล้ว แต่ยังไว้วางใจไม่ได้

ดังนั้น ต้องหารือถึงข้อดี ข้อเสีย และต้องดูข้อกฎหมายอย่างละเอียด!!

 

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ทิ้งท้ายถึงผลกระทบของการเปิดเสรีกัญชา ว่าจะทำให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะขณะนี้กัญชาเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยแล้ว คาดว่าอีกไม่นาน กัญชาจะกลายมาเป็นสิ่งหลักที่เด็กและเยาวชนนำมาใช้สันทนาการในกลุ่ม ซึ่งเสรีกัญชาจะมาพร้อมกับการ “ทำลาย” ถ้าหน่วยงานรัฐไม่มีระบบป้องกัน การคุ้มครอง และสร้างทักษะชีวิตให้ประชาชนรู้จักกัญชา หรือกัญชง ที่ดี

ที่สำคัญ “ผู้ใหญ่” กลับมองกัญชาสำคัญกว่าชีวิตเด็กและเยาวชน บวกกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ ศธ.ไม่ตื่นตัว ทั้งที่ควรจะให้ความรู้เรื่องกัญชา หรือกัญชง กับนักเรียน นักศึกษา และบุคลากร ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศปลดล็อกพืชกัญชา เพื่อให้เด็กเข้าใจ และมีภูมิต้านทาน

ต้องติดตามว่า มาตรการ “สกัด” ไม่ให้ “กัญชา-กัญชง” เข้าถึงตัวนักเรียน และนักศึกษา ในสถานศึกษาทั่วประเทศ จะทำได้จริงหรือไม่!! •