‘เครือข่าย’ ของ ‘ชัชชาติ’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘เครือข่าย’ ของ ‘ชัชชาติ’

 

จุดแข็งทางการเมืองประการหนึ่งของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ปรากฏชัดตั้งแต่ในกระบวนการหาเสียง การได้คะแนนสนับสนุน 1.38 ล้านเสียง การได้ทีมงานที่มีศักยภาพสูง-เกียรติประวัติดีมาร่วมบริหาร กทม. และการได้รับแรงสนับสนุนร่วมมืออย่างกว้างขวางจากภาคประชาสังคมต่างๆ

ก็คือการค่อยๆ ก่อรูปของ “การเมืองเชิงเครือข่าย” ซึ่งหลายคนอาจเรียกขานว่าปรากฏการณ์ “เพื่อนชัชชาติ”

กิจกรรม “ดนตรีในสวน” ที่กำลังได้รับความนิยม ช่วยยืนยันตอกย้ำถึงความสำเร็จของ “การเมืองเชิงเครือข่าย” ได้เป็นอย่างดี

นี่คือการทำงานของ “เครือข่าย” ที่มิได้มีลักษณะ “บนลงล่าง” หรือ “ศูนย์กลางสู่ชายขอบ” แต่เป็นปฏิสัมพันธ์สองทาง (หรือหลายทางกว่านั้น) ที่มีการสื่อสาร-โต้ตอบกันไปมา

กิจกรรม “ดนตรีในสวน” ที่มีอยู่แต่เดิมเริ่มถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีวิตชีวาในยุค “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ด้วยความกระตือรือร้นของเครือข่ายอย่าง “ดร.สุกรี เจริญสุข”

ในสัปดาห์ถัดมา คนกรุงเทพฯ ก็พากันหลั่งไหลเข้าไปชมการแสดงดนตรีของ “วงนั่งเล่น” และ “ธีร์ ไชยเดช” ที่มิวเซียมสยาม

แม้งานดังกล่าวจะถือเป็น “กิจกรรมคู่ขนาน” ที่ไม่ได้ถูกริเริ่มขึ้นด้วยไอเดียของ “เพื่อนชัชชาติ” โดยตรง แต่ก็ได้รับการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับทราบของมหาชนวงกว้างผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”

ความสำเร็จต่อเนื่องของงาน “ดนตรีในสวนรูปแบบเดิม” สู่ “ดนตรีในสวนรูปแบบอื่นๆ” แสดงให้เห็นภาพการกระจายตัวของ “เครือข่ายเพื่อนชัชชาติ” ที่ถูกต่อยอด ขยายวง ออกไปอย่างไม่รู้จบ

โดยมิต้องถูกบังคับควบคุมให้อยู่ในกรอบ/โจทย์/เป้าประสงค์ที่แน่นิ่งตายตัวแบบใดแบบหนึ่ง

ประสิทธิภาพของ “การเมืองเชิงเครือข่าย” คือการเข้าไปโอบอุ้มความแตกต่างหลากหลาย ไม่ใช่การบดขยี้ฝ่ายอื่นๆ ให้สิ้นซาก

เช่น เมื่อกิจกรรม “ดนตรีในสวน” ของกรมดุริยางค์ทหารไม่ได้รับความนิยมมากนัก สิ่งที่ “เครือข่ายชัชชาติ” พยายามทำ ก็ได้แก่ การเข้าไปประคับประคองและดึงเอากิจกรรมอันว้าเหว่เดียวดายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน “ดนตรีในสวนในภาพใหญ่”

มิใช่การผลักไสให้ “วงดนตรีทหาร” กลายเป็นตัวอย่างความล้มเหลวหรือเป้าหมายแห่งการโดนหัวเราะเยาะเย้ย

 

หากย้อนไปในทศวรรษ 2530-40 การก่อตัวของ “การเมืองเชิงเครือข่าย” แบบ “เพื่อนชัชชาติ” อาจไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสักเท่าใดนัก

ถ้าปรากฏการณ์ “เครือข่ายชัชชาติ” ถือกำเนิดขึ้น ณ เวลานั้น เครือข่ายดังกล่าวก็อาจมีสถานะเป็นซับเซ็ตหรืออนุจักรวาลหนึ่ง ที่ดำรงอยู่เคียงข้าง “การเมืองเชิงเครือข่าย” รูปแบบอื่นๆ อีกหลายวง และเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของ “การเมืองเชิงเครือข่าย” ที่ใหญ่โตกว่า

อย่างไรก็ดี ในราวทศวรรษที่ผ่านมา การทำงาน “การเมืองเชิงเครือข่าย” ดูจะห่างหายไปจากสังคมการเมืองไทยแทบสิ้นเชิง

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะไม่มีใครที่มีบารมี/อำนาจ/อิทธิพล/ภูมิปัญญามากเพียงพอ ที่จะทำให้เกิด “เครือข่าย” อันมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถดึงดูดและแสวงหาการยอมรับจากผู้คนหลากหลายกลุ่มอุดมการณ์-กลุ่มผลประโยชน์ได้

แต่ดูคล้ายว่าวัฒนธรรมการเมืองแบบ “เพื่อนชัชชาติ” กำลังจะส่งผลให้ “การเมืองเชิงเครือข่าย” ในลักษณะนั้นฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกหน

หลายคนวิตกกังวลว่า การดำรงตนเป็น “เครือข่ายทางการเมือง” อันฉายแสงโดดเด่น ท่ามกลางตัวแสดงทางการเมืองรายอื่นๆ ที่ไร้ความสามารถในการสร้าง “เครือข่าย” จะนำไปสู่การถูกหมั่นไส้ อิจฉา ริษยา และโดนกลั่นแกล้งหรือไม่?

น่าเชื่อว่า ฉันทามติร่วม 1.4 ล้านเสียง บวกด้วยวิธีการทำงาน การสื่อสารกับสาธารณะ ความรู้-สติปัญญา และบุคลิก-นิสัยส่วนตัวของ “ชัชชาติ” รวมถึงทีมงานใกล้ชิด

จะช่วยปกป้องให้ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน แคล้วคลาดจากอุปสรรคภยันตรายไปได้ในระยะเวลายาวนานพอสมควร

สิ่งที่ควรประเมินคาดหมาย จึงได้แก่ “พลังทางการเมือง” หรือความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจาก “เครือข่ายเพื่อนชัชชาติ” มากกว่า

 

หากมองในแง่บวกสุด “เครือข่ายชัชชาติ” อาจประสบความสำเร็จไปถึงขั้นที่ “อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์” เคยเสนอเอาไว้ในบทความ “เทคโนโลยีในสุญญากาศ” ก่อนหน้าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่า

“คุณชัชชาติเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามกับผู้สมัครส่วนใหญ่เลย นั่นก็คือเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาได้ กระบวนการจัดการกับปัญหาต่างหากที่สำคัญกว่า

“กระบวนการที่ผ่านมาทำประหนึ่งว่า ปัญหาถูกแก้ด้วยความ ‘ชำนัญการ’ (expertee) ของระบบหรือของบุคคลเพียงอย่างเดียว คุณชัชชาติกลับไปเน้นกระบวนการทางสังคมในการแก้ปัญหา ต้องมีกระบวนการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่ช่วยกันคิดไปจนถึงช่วยกันบริหาร

“คุณชัชชาติทำให้ดูด้วยการจัดองค์กรของผู้สนับสนุนในลักษณะดังกล่าว คุณชัชชาติยืนยันว่านโยบายทั้งหลายไม่ใช่ของตนแต่ผู้เดียว แต่เป็นการร่วมกันคิดมาจากประชาชนที่เข้ามาทำงานร่วมกัน

“จะว่า ‘ท่าที’ อย่างนี้ไม่ใช่ของใหม่แท้ก็ได้ เพราะเป็นท่าทีของการเคลื่อนไหวในภาคประชาชนมานานแล้ว แต่การจัดองค์กรในภาคประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นข่าวมักทำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง

“ในขณะที่การจัดองค์กรของคุณชัชชาติดูจะแตกต่าง เพราะเป็นการจัดองค์กรระยะยาว เพื่อจัดการกับภารกิจประจำวัน ทั้งพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำได้ในทางปฏิบัติด้วย (คือมีอายุมาสองปีแล้ว ก็ยังอยู่ ซ้ำขยายขึ้นด้วย)

“อย่างไรก็ตาม ถ้าเราย้อนกลับไปคิดว่า เทคโนโลยีทางสังคมไม่เคยได้รับความใส่ใจจากผู้ปกครองไทยเลย โดยเฉพาะหลังการปฏิรูปในสมัย ร.5 เป็นต้นมา ก็ต้องถือว่า สิ่งที่คุณชัชชาติกำลังทำให้ดูนั้น เป็นทั้งเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่มาก

“แทบจะพูดได้ว่าหันเหการบริหารสาธารณกิจแบบไทยไปเลย รวมทั้งปฏิเสธการบริหารแบบเผด็จการไปพร้อมกัน ไม่มีการปฏิรูปที่แท้จริงภายใต้การกำกับในโลกนี้”

สำหรับความสำเร็จขั้นต่ำ ถ้าเรามองว่า “การเมืองเชิงเครือข่ายแบบชัชชาติ” ไม่ได้มีความก้าวหน้าที่สุด แต่วางน้ำหนักไว้บนการประนีประนอมและมุ่งแสวงหาแนวร่วมให้กว้างขวางที่สุด

อย่างน้อย ปรากฏการณ์ “เพื่อนชัชชาติ” ก็คงโน้มน้าวให้กลุ่มชนชั้นนำที่ควรทำงาน “การเมืองเชิงเครือข่าย” แต่กลับหันไปเล่นเกมการเมืองแบบอื่นๆ ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้ครุ่นคิดพิจารณาตนเอง และย้อนคืนมาสู่ร่องรอยเสียที

เวลามีคนบอกว่าสังคมไทยกำลังต้องการ “ฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีคุณภาพ” นั่นอาจมิได้หมายถึงปัจเจกบุคคล ผู้โพสต์แสดงความเห็นทัดทานฝ่ายอนุรักษนิยม-ฝ่ายขวาด้วยกัน ผ่านโซเชียลมีเดียเท่านั้น

แต่หมายถึงคณะบุคคลหรือ “การเมืองเชิงเครือข่าย” ในลักษณะ “เพื่อนชัชชาติ” มากกว่า •