บันทึกประวัติศาสตร์ จำคุก “ยิ่งลักษณ์” 5 ปี ไม่รอลงอาญา-สั่งล่าตัว บทสรุป คดีจำนำข้าว : ในประเทศ

ปิดฉากคดีประวัติศาสตร์ทางการเมือง

เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเอกฉันท์ พิพากษาคดีจำนำข้าว สั่งจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 5 ปี ไม่รอลงอาญา พร้อมออกหมายบังคับให้นำตัวมารับโทษ

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฐานละเลย ไม่ระงับยับยั้งโครงการ จนเกิดการทุจริต ทำให้รัฐเสียหายหลายแสนล้านบาท

โดยคำพิพากษาสรุปว่า

คดีดังกล่าว อัยการสูงสุด โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเกิดเหตุ จำเลยดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 จำเลยแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

นโยบายเร่งด่วนคือยกระดับราคาสินค้าเกษตร นำระบบจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ สร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้เกษตรกร ด้วยการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท และ 20,000 บาท

จำเลยและ ครม. มีมติให้ดำเนินโครงการ 5 ฤดูกาลผลิตติดต่อกัน โดยไม่จำกัดปริมาณข้าวที่รับจำนำทั้งโครงการ และไม่จำกัดปริมาณข้าวของเกษตรกรแต่ละราย

ขณะเริ่มโครงการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ป.ป.ช. และ ธ.ก.ส. มีหนังสือถึงจำเลย แจ้งปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวในอดีต

พร้อมระบุลักษณะความเสียหาย สาเหตุที่ทำให้โครงการไม่ประสบผลสำเร็จ มีการทุจริตทุกขั้นตอน ผู้ได้รับประโยชน์มีเพียงคนบางกลุ่ม ไม่ครอบคลุมเกษตรกรทั่วถึง

นอกจากนี้ ส.ส. นักวิชาการ สื่อมวลชน ได้มีหนังสือ การอภิปราย และแสดงความคิดเห็นถึงปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการ

ปัญหาด้านการเงิน การคลัง ผลขาดทุนสะสม ที่สร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินและเกษตรกร

อีกทั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการ มีหนังสือถึงจำเลย ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายรายงานผลปิดบัญชีโครงการวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 มีผลขาดทุนสะสม 332,372.32 ล้านบาท

ผลจากโครงการ ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล ทั้งที่คำนวณเป็นเงินได้และไม่ได้ ตามที่หน่วยงานเคยเสนอแนะและทักท้วงไว้

ผลขาดทุนสูงมาก ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูง เกิดความเสี่ยงต่อระบบการคลังของประเทศ การจ่ายเงินให้เกษตรกรล่าช้า เนื่องจากเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ บางส่วนไม่ได้รับเงิน

และความเสียหายจากการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และโดยวิธีอื่น จำเลยได้ทราบถึงปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น จากการเสนอแนะ แจ้งเตือน ทักท้วงจากภาคส่วนต่างๆ แต่กลับมิได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอ

งดเว้นการป้องกันความเสียหาย ไม่ระงับยับยั้งโครงการ หรือระงับความเสียหาย หรือปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้บรรเทาปัญหาและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นซ้ำต่อเนื่อง

จึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ทำธุรกิจค้าข้าวจากการทุจริตในขั้นตอนรับซื้อข้าวเปลือก ขั้นตอนระบายข้าว

รวมถึงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการ แสดงพฤติการณ์หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ปกปิดข้อมูลขั้นตอนการระบายข้าว ส่อไปในทางรู้เห็นและได้ผลประโยชน์กับการทุจริต

แต่จำเลยกลับปล่อยให้ดำเนินโครงการต่อ โดยงดเว้นไม่ป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ผู้ทุจริตได้รับประโยชน์จากโครงการต่อไปอีก

จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่

และใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ

คดีดังกล่าว อัยการสูงสุด โจทก์นำพยานเข้าไต่สวน 15 ปาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลยนำพยานเข้าไต่สวน 30 ปาก กำหนดนัดไต่สวนรวม 25 นัด เริ่มนัดแรก 15 มกราคม 2559 นัดสุดท้าย 21 กรกฎาคม 2560

ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ ได้วินิจฉัยใน 3 ประเด็นปัญหา

ในประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย จำเลยต่อสู้ว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาล ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารในการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน

ศาลเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2550 แบ่งอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ฝ่าย คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลกัน

รัฐธรรมนูญยังบัญญัติว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่แถลงไว้ และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนฯ และต่อรัฐสภา

แต่ในส่วนการกระทำในฐานะฝ่ายปกครองหรือการดำเนินการทางปกครอง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าฝ่ายปกครอง ย่อมต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการหรือศาลได้ หากการดำเนินการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งอาจมีความผิดทั้งทางปกครอง ทางแพ่ง หรือทางอาญา แล้วแต่กรณี ไม่ใช่มีเพียงความรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนฯ หรือรัฐสภาเท่านั้น

ดังนั้น แม้โครงการรับจำนำข้าวจะเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา แต่หากปรากฏว่าขั้นตอนการปฏิบัติไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

ก็ย่อมถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรมได้ โดยเฉพาะคดีนี้ เป็นการกล่าวหาจำเลยซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้ และโจทก์มีอำนาจฟ้อง

ในประเด็นปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

ศาลเห็นว่า ในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวทั้ง 5 ฤดูกาลผลิต แม้จะพบความเสียหายหลายประการ เช่น การสวมสิทธิการรับจำนำ การนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ ข้าวสูญหาย การออกใบประทวนเป็นเท็จ การใช้เอกสารปลอม การโกงความชื้นและน้ำหนักเพื่อกดราคารับซื้อจากชาวนา ข้าวสูญหายจากโกดัง ข้าวเสื่อม ข้าวเน่า ข้าวไม่ตรงตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์

แต่เป็นความเสียหายที่เกิดจากฝ่ายปฏิบัติ จำเลยในฐานะประธาน กขช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อป้องกันความเสียหายไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มโครงการ

อีกทั้งเมื่อพบความเสียหายดังกล่าวขณะดำเนินโครงการ ก็ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันความเสียหาย

ในส่วนนี้ จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนประเด็นเรื่องการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ

โดยกรมการค้าต่างประเทศขายข้าวในสต๊อกของรัฐให้กับบริษัทกว่างตงฯ และบริษัทห่ายหนานฯ รัฐวิสาหกิจของมณฑล สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น

ศาลฎีกาฯ มีคำวินิจฉัยว่าเป็นการขายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการแอบอ้างสัญญาแบบรัฐต่อรัฐเพื่อนำข้าวมาเวียนขายให้แก่ผู้ค้าข้าวภายในประเทศ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต

เรื่องนี้ ส.ส. นำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ ให้จำเลยทราบรายละเอียดและวิธีการที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติของการขายแบบรัฐต่อรัฐ ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจค้าข้าวที่เคยเกี่ยวข้องกับการทุจริตเกี่ยวกับการค้าข้าวในอดีต และผู้ช่วย ส.ส. พรรคที่จำเลยสังกัด ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนของรัฐวิสาหกิจจีนที่มาซื้อข้าว

อีกทั้งก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จำเลยให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐจริง

หลังการอภิปราย แม้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

แต่องค์ประกอบคณะกรรมการ ล้วนแต่เป็นข้าราชการภายใต้การบังคับบัญชาของนายบุญทรง และตรวจสอบไม่ตรงตามประเด็นที่อภิปราย แสดงให้เห็นว่าไม่ตั้งใจตรวจสอบอย่างจริงจัง

และจำเลยเพิ่งปรับนายบุญทรง ออกจากตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2556

ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า จำเลยทราบว่าสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้มีการส่งมอบข้าวให้รัฐวิสาหกิจจีนต่อไป อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น

การกระทำของจำเลย จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1

ลงโทษจำคุก 5 ปี