ไม่ยึดโยง ‘ประชาชน’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ไม่ยึดโยง ‘ประชาชน’

 

มนุษย์ทั่วโลกได้เคลื่อนสู่ชีวิตในโลกดิจิตอลอย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้จะไม่ทั้งหมด หรือเต็ม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวโน้มมีแต่เพิ่มขึ้น และหากนับรวมกับการเข้าเกี่ยวข้องในทางอ้อมเข้ามาด้วย ย่อมเท่ากับว่าแทบไม่เหลือใครที่ถูกตัดขาดจากโลกเสมือนจริงนี้

กิจกรรมทุกสิ่งอย่างของชีวิตล้วนขับเคลื่อนไปกลไกของระบบดิจิตอลแล้ว

เพราะความเป็นโลกใหม่ของชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคมดิจิตอลจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบระบบมารองรับ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการอยู่ร่วมกัน

ประเด็นที่เห็นว่าควรจะหยิบยกมาแลกเปลี่ยนกันคือ อะไรหรือมุมไหนที่ควรจะเป็นวาระจำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องร่วมกันออกแบบเพื่อกำหนดเป็นกติกาการอยู่ร่วมกัน

ทุกการออกแบบระเบียบสังคมล้วนแล้วแต่ต้องเป็นการจัดสมดุลระหว่างเสรีภาพกับสิทธิของผู้คน มีเสรีภาพแต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น หรือทุกคนใช้สิทธิได้เต็มที่ตราบที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเดือดร้อนจากเจตนาที่จะคุกคามให้เสียหายต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน จำเป็นและเร่งด่วนจะต้องจัดการก่อน

ผู้มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามคืออำนาจรัฐ

กระทรวงที่เกี่ยวข้องควรปฏิบัติภารกิจเพื่อคลายกังวลของประชาชนร่วมสังคม

 

เมื่อเร็วๆ นี้ สวนดุสิตโพล ทำสำรวจเรื่อง “คนไทยกับโลกดิจิตอล”

ร้อยละ 89.30 ตอบว่าพร้อมแล้วกับการเป็นคนไทยในโลกดิจิตอล มีแค่ร้อยละ 10.70 เท่านั้นที่ตอบว่ายังไม่พร้อม

หลังเกิดโควิด-19 ร้อยละ 76.9 ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมากขึ้น, ร้อยละ 20.94 ใช้เท่าเดิม, ร้อยละ 2.09 ใช้น้อยลง

กิจกรรมที่ใช้ร้อยละ 79.96 ติดต่อสื่อสาร พูดคุยออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย, ร้อยละ 78.44 ชำระเงินแบบดิจิตอล ฝาก ถอน โอน จ่าย, ร้อยละ 75.19 ความบันเทิงออนไลน์ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม

นั่นหมายถึงประชาชนไทยส่วนใหญ่เข้าสู่โลกดิจิตอลกันเต็มตัวแล้ว

จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาดูแลอำนวยความสะดวกให้การใช้มีปัญหาน้อยที่สุด และเพราะรัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชนจึงควรจัดการกับปัญหาที่ประชาชนวิตกกังวล

ซึ่งผลสำรวจชิ้นนี้ออกมาว่าปัญหาที่ประชาชนพบ ร้อยละ 82.40 คือการส่งต่อเฟกนิวส์ หรือข้อมูลความเชื่อผิดๆ, ร้อยละ 63.04 มิจฉาชีพออนไลน์ หลอกให้โอนเงิน, ร้อยละ 62.04 การแฮ็กข้อมูล แอบอ้างชื่อ สร้างบัญชีปลอม

เมื่อนำเอาปัญหาที่ประชาชนประสบกับผลต่อความเดือดร้อน ย่อมไม่ยากที่จะสรุปว่าที่ต้องแก้ก่อนคือมิจฉาชีพออนไลน์

เพราะไม่ว่าจะเป็นเฟกนิวส์ หรือการแฮ็กข้อมูล แม้จะเสี่ยงกับความเสียหาย แต่เป็นเรื่องที่หากจัดความสูญเสียตามความจำเป็นและเร่งด่วนที่ต้องหาทางป้องกันแล้ว

มิจฉาชีพออนไลน์น่าจะต้องต้องจัดการก่อน

 

และนี่เองที่น่าพิจารณา เนื่องจากว่าการดำเนินการของอำนาจรัฐนั้น ดูเหมือนการจัดลำดับความสำคัญจะไม่ขึ้นอยู่กับเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนสักเท่าไร

โดยจะพบว่าสิ่งที่อำนาจรัฐใช้เกี่ยวข้องกับชีวิตในวงจรดิจิตอล ส่วนใหญ่จะเน้นการลงแรง ลงงบประมาณ และสร้างระเบียบเพื่อคุ้มครองอำนาจรัฐเองเสียมากกว่าเอาเป็นเอาตายกับความเป็นไปในทางนั้น

แต่สำหรับเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ดูจะเป็นเพียงลมปาก ที่หวังพึ่งอะไรไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ

ดังนั้น จึงน่าต้องหาคำตอบกันอย่างยิ่งว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร