เอ็นไอเอร่วมต้อนรับเทศกาลไพรด์มันท์ พาเปิด 2 สีสันกลุ่ม LGBTQIA+ผู้รันวงการนวัตกรรมไทย ความหลากหลายที่ฉายแสงบนโลกของศิลปวัฒนธรรม และการทะลายข้อจำกัด “เพศ – อาชีพ”

เมื่อปฏิทินเปลี่ยนผ่านก้าวเข้าสู่เดือนมิถุนายนของทุกปี ภาพความรื่นเริงของขบวนพาเหรดที่เรียกว่า “ไพรด์ พาเหรด (Pride Parade) และการประดับประดาธงสีรุ้งที่แสดงถึงการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQIA+ การเฉลิมฉลองเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือ “Pride Month” เป็นสิ่งที่ผู้คนและองค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญ ขณะที่ประเทศไทยปีนี้เป็นปีแรกที่ได้เปิดพื้นที่ให้จัดกิจกรรมหรือแคมเปญต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ชาว LGBTQIA+ หรือกลุ่มเพศทางเลือกภาคภูมิใจ เพราะเป็นสัญญาณที่ดีว่าปัจจุบันสังคมไทยเริ่มเปิดกว้าง และยอมรับความแตกต่างได้มากกว่าในอดีต

เมื่อก้าวออกมาจากขบวนพาเหรด และหันมาโฟกัสความเท่าเทียมในการทำงาน จะเห็นได้ว่า LGBTQIA+ ยังเป็นกลุ่มคนที่มีความน่าภูมิใจเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคุณสมบัติด้านความคิดสร้างสรรค์ มันสมอง และไอเดียที่เรามักจะได้เห็นความแปลกใหม่และเป็นสีสันของวงการต่าง ๆ อยู่เสมอ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนที่แสดงออกซึ่งความภาคภูมิใจและสิทธิความเท่าเทียมของความหลากหลายทางเพศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หน่วยงานสนับสนุนนวัตกรรมในทุกมิติ จะพาไปส่อง 2 โซลูชั่นใหม่ที่คิดค้นขึ้นโดยนวัตกรที่มีความโดดเด่นด้านการคิดและสร้างสรรค์อย่างกลุ่ม LGBTQIA+ “เมื่อนวัตกรรมไม่ได้ขีดเส้นจำกัดอยู่ที่คำว่าเพศสภาพ”

นวัตกรสีรุ้ง รังสรรค์ด้วยใจ ปลุกพลัง soft power ในอุตสาหกรรมผ้าทอ

เพราะเชื่อว่านวัตกรรมไม่ได้มีเส้นแบ่งของคำว่าเพศ แต่กลับเป็นเรื่องใหม่ที่มีความท้าทายและน่าเรียนรู้ บวกกับการเป็นคนที่ชอบคิดค้น ประดิษฐ์ และพัฒนาสิ่งใหม่อยู่เสมอ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ คุณปิ่นมนัส โคตรชา กรรมการผู้จัดการบริษัท อัตลักษณ์ จำกัด เลือกที่จะนำจุดเด่นด้านการมีความคิดสร้างสรรค์ ความชื่นชอบและหลงไหลเกี่ยวกับความสวยความงามของ LGBTQ มาเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการออกแบบและพัฒนาสินค้าแปรรูปจากผ้าทอพื้นเมืองกาฬสินธุ์อย่างสร้างสรรค์ ด้วย “นวัตกรรมอัตลักษณ์คุ้มค่า” ผ่าน โครงการผ้าทอทวารวดีศรีกมลาไสย: นวัตกรรมการผลิต สินค้าอัตลักษณ์ครบห่วงโซ่ด้วยการส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายแบบครบวงจรให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ในพื้นที่อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ แหล่งผลิตที่ได้ชื่อว่าเป็นเมือง “ราชินีแห่งผ้าทออีสาน” แล้ว ยังแฝงไปด้วยพลังแห่งอำนาจอ่อน (soft power) ที่จะผลักดันและเร่งให้เกิดการแข่งขันพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าทอในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย

คุณปิ่นมนัส โคตรชา กรรมการผู้จัดการบริษัท อัตลักษณ์ จำกัด เล่าว่า แม้ความเป็น LGBTQIA+ จะค่อนข้างไกลตัวจากคำว่า นวัตกรรม แต่เมื่อมั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการอบรมได้ จึงเริ่มฝึกฝน เรียนรู้ และทำความเข้าใจความเป็นนวัตกรรม เพื่อนำมาบูรณาการกับทักษะ ประสบการณ์ฝึกสอนอาชีพที่มีมาแต่เดิม ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ คือการออกแบบลายผ้าให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นถิ่น ถ่ายทอดอัตลักษณ์ความล้ำค่าทวารวดี รวมถึงการย้อมสีและการควบคุมโทนสีของผ้าจากดินและวัสดุธรรมชาติ สู่กระบวนการกลางน้ำ คือการแปรรูป ถักทอ สร้างแบบและตัดเย็บผลิตภัณฑ์แบบประณีต จนถึงกระบวนการปลายน้ำ คือการจำหน่ายและการบรรจุหีบห่อด้วยบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติ เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพ เพิ่มพูนรายได้อย่างยั่งยืน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่เพิ่มความภาคภูมิใจให้กับชาวกมลาไสย

จะเพศไหนก็เป็นนวัตกรได้ แค่ได้ “โอกาสและการยอมรับ”

หากพูดถึงการเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศ คุณปิ่นมนัส มองว่า การที่ LGBTQIA+ เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนวัตกรรมในท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะชุมชนทางภาคอีสานเข้าใจและยอมรับเพศทางเลือกมานานแล้ว เห็นได้จากบทบาทการเป็นผู้นำในกิจกรรมฟ้อนรำมาหลาย 10 ปี และช่วยลดช่องว่างด้านการทำงานเพราะชุมชนมีความไว้ใจกลุ่ม LGBTQIA+ มากกว่าเพศชายหรือหญิง จึงสามารถพูดคุยและทำความเข้าใจร่วมกันได้รวดเร็วมากขึ้น ต่างจากการทำงานร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานที่เพศสภาพยังมีผลต่อการยอมรับความสามารถของคนกลุ่ม LGBTQIA+ เพราะในช่วงแรกอาจไม่มั่นใจในศักยภาพ แต่เมื่อมีการพูดคุย ทำความเข้าใจ และได้ทำงานร่วมกันก็จะเกิดความเข้าใจและยอมรับในวงกว้างมากขึ้น

การทำงานร่วมกับ NIA องค์กรนวัตกรรมที่เปิดกว้างและให้โอกาสกับนวัตกรทุกคนอย่างเท่าเทียม ทำให้รู้สึกไม่มีกำแพงกั้น อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ให้ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยต่อยอดแนวคิดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยอาศัยความได้เปรียบทางความคิดสร้างสรรค์และมุมมองในแบบ LGBTQIA+ ที่มักมีความคิดแปลกใหม่ แต่คงความสวยงาม และอ่อนช้อย มีกลิ่นอายของชุมชน วัฒนธรรม และสะท้อนความเป็นไทยอยู่ในงานทุกชิ้น ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้แล้ว ยังสามารถช่วยให้ชุมชนและสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมกันได้อีกด้วย

ให้เกียรติ เข้าใจ สร้างเซฟโซนการทำงานเพื่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

คุณศรุต ผิวขาว ผู้ก่อตั้งบริษัท รีมิค-บิทซ์ จำกัด ผู้ก่อตั้ง Than Ruea NA WA” โซลูชั่นชวนเที่ยวเมืองรองครบจบในแอพเดียว เล่าว่า หากเจาะลึกเข้าไปในโครงสร้างบริษัท รีมิค-บิทซ์ จำกัด จะพบว่าเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรหลากเพศเข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่จำกัดว่าต้องเป็นกลุ่มใดเพราะมองว่าแต่ละเพศสภาพมีความคิดสร้างสรรค์และความถนัดแตกต่างกัน ผลงานที่ได้จึงมีจุดเด่นที่หลากหลาย ทั้งในด้านของความสมาร์ท ไฮเทค ก้าวทันเทคโนโลยี แต่สอดแทรกกลิ่นอาย และอัตลักษณ์ความเป็นชุมชน ตามมุมมองและแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดความสมบูรณ์ แม้จะต่างเพศก็ไม่มีผลต่อการทำงาน เพราะทุกคนต้องปรับจูนแนวคิดและการทำงานเข้าหากัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตามคือการให้เกียรติ เคารพในความคิดและขอบเขตหน้าที่การทำงานของทุกคน แม้จะหลากหลายทางเพศก็สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข

กว่าจะสร้างแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวชุมชนท่าเรือให้สำเร็จจนสามารถนำมาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชุมชน และบริษัทเอกชนที่เป็นพาร์ทเนอร์ การมีเพศสภาพเป็น LGBTQIA+ ไม่ถือเป็นอุปสรรคสำหรับการดำเนินงานในยุคที่สังคมเปิดกว้าง และพร้อมให้โอกาสคนหลากหลายเพศได้ทำงานอย่างเท่าเทียม เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพจนมองข้ามเรื่องเพศสภาพ และรสนิยมทางเพศ

 

จากกลุ่มคนหลากหลายสู่ผู้ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายขึ้น

ด้วยพื้นฐานที่เป็นคนชอบเดินทางท่องเที่ยว และสนใจศึกษาข้อมูลการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้ คุณศรุตพบว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับแหล่งท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คน แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้อันดับต้นๆ ให้กับประเทศส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลัก แต่แท้จริงแล้วประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวตามเมืองรองอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เพราะไม่มีกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงไม่มีข้อมูลการสื่อสารที่แน่ชัด ส่งผลให้การพัฒนาชุมชนไม่มีจุดเด่น ขาดเครืองมือ และเทคโนโลยีที่จะมาช่วยสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนการทำงานอย่างเป็นระบบ เช่น ชุมชนท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ขาดองค์ประกอบในมิติของการนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยยกระดับรายได้ของคนในชุมชน

บริษัท รีมิค-บิทซ์ จำกัด จัดทำโครงการ “Than Ruea NA WA” แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวชุมชนท่าเรือขึ้น เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มเชิญชวนนักท่องเที่ยวสายรักธรรมชาติที่ชอบเสพงานศิลปวัฒนธรรมมาเยี่ยมชมชุมชนท่าเรือด้วยการจองแพ็กเกจท่องเที่ยวผ่าน https://www.tharueanawa.com/ ซึ่งสามารถจองแพ็กเกจเส้นทางการท่องเที่ยว แนะนำไกด์ชุมชน และที่พัก แบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว คุณศรุต กล่าว

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวทิ้งท้ายว่า โลกของนวัตกรรมคือโลกที่เปิดโอกาส และความหลากหลายเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่จะทำให้นวัตกรรมที่ถูกคิดและผลิตออกมานั้นมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงการแข่งขัน และการสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ การเปิดโอกาสขั้นพื้นฐานประการหนึ่งที่ไทยหรือในระดับโลกจำเป็นต้องให้ความสำคัญลำดับแรกก็คือ “การลดอคติ” ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่ยังเป็นเรื่องของมุมมอง ทัศนคติ สิทธิเสรีภาพเชิงความคิด เพื่อลดบรรทัดฐาน หรือกรอบความเชื่อเดิม ๆ ที่เคยมีในสังคม ตลอดจนสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในด้านการทำงาน หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับ ในส่วนของ LGBTQIA+ นั้น ปัจจุบันถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมทั้งในประเทศไทยและบริบทโลก เนื่องด้วยเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถเป็นผู้ขับเคลื่อนทั้ง Hard Innovation , Soft Innovation รวมถึงกลุ่มงานด้าน Soft Power ตลอดจนรู้จักที่จะดึงทักษะมาผสมผสานสิ่งที่อยู่รอบตัวและนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดย NIA พร้อมที่จะให้การสนับสนุนกลุ่มบุคคลดังกล่าวผ่านทั้งการเปิดพื้นที่ในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ การสนับสนุนทุนนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริงและเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจและสังคม และไม่เพียงแต่จะเปิดกว้างให้กับกลุ่มคนภายนอกเท่านั้น การส่งเสริมบุคลากรภายในก็เป็นเรื่องที่สำนักงานฯ ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยสนับสนุนทั้งในเรื่องความหลากหลายทางความสามารถ เพศ และวิถีปฏิบัติ เพื่อให้การพัฒนานวัตกรรมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด

เดือนมิถุนายนถูกกำหนดให้เป็น Pride Month ตั้งแต่ปี 2542 โดยอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ “บิล คลินตัน” ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “Gay & Lesbian Pride Month” และในปี 2552 อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ บารัก “โอบามา” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “LGBT Pride Month” และเมื่อมีตัวเพศวิถีที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ตัวย่อเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็น LGBTQIA+ ในปัจจุบัน

ตัวย่อของ LGBTQIA+

L ย่อมาจากเลสเบี้ยน (Lesbian) คือ เพศหญิงที่มีความสนใจในเพศหญิงด้วยกัน

G ย่อมาจากเกย์ (Gay) คือ เพศชายที่มีความสนใจในเพศชายด้วยกัน แต่ในสังคมตะวันตก ผู้หญิงก็นิยามตัวเองว่าเป็นเกย์ได้เช่นเดียวกัน

B ย่อมาจาก ไบเซ็กซวล (Bisexual) คือ เป็นกลุ่มที่ชอบเพศได้ทั้ง 2 เพศ ไม่กำหนดตายตัวว่าจะชอบเฉพาะเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกัน

T ย่อมาจาก ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) หรือ คนข้ามเพศ หมายถึง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีคนมีอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิด ทำให้ต้องมีใช้กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแปลงเพศ และการใช้ฮอร์โมนกระตุ้น เพื่อให้เป็นเพศนั้น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

I ย่อมาจาก อินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) หรือ ภาวะเพศกำกวม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีทั้งโครโมโซม อวัยวะเพศ ของทั้งเพศชายและหญิง

A เป็นตัวย่อของ 3 คำ คำแรกคือ อะเซ็กซวล (Asexual) กลุ่มคนที่ไม่รู้สึกดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น หรืออาจรู้สึกเล็กน้อย ซึ่งต้องมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น A ที่ 2 มาจาก อะโรแมนติก (Aromantic) หมายถึงกลุ่มคนที่ไม่มีแรงดึงดูดความโรแมนติกกับผู้อื่น และA สุดท้ายมาจาก อะเจนเดอร์ (Agender) คือ กลุ่มคนที่ไม่ต้องการระบุเพศว่าตนเองเป็นเพศใด ๆ

+ เป็นการขยายว่า นอกเหนือจาก LGBTQIA ยังมีเพศวิถีอื่น ๆ ที่มีอยู่ในสังคมเป็นจำนวนมาก