นักเขียนมือรางวัล ชวนส่งประกวด ‘มติชนอวอร์ด 2022’ / รายงานพิเศษ : กรกฤษณ์ พรอินทร์

รายงานพิเศษ

กรกฤษณ์ พรอินทร์

 

นักเขียนมือรางวัล

ชวนส่งประกวด ‘มติชนอวอร์ด 2022’

 

มติชนอวอร์ด เป็นอีกหนึ่งรางวัลวรรณกรรมที่ได้รับการยอมรับจากบรรดานักเขียนนักอ่านมาอย่างยาวนาน เริ่มต้นโครงการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2555 และในครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2556 คณะกรรมการได้เพิ่มประเภทเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์เข้าไปในการประกวดเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับผู้อ่าน และจัดโครงการประกวดต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกระทั่งได้หยุดการประกวดไปในช่วงเวลาหนึ่ง

เพื่อเป็นการส่งเสริมการอ่าน และกระตุ้นให้แวดวงวรรณกรรมมีความตื่นตัว โครงการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์รางวัลมติชน กลับมาเปิดพื้นที่ให้บรรดานักเขียนมืออาชีพและนักเขียนสมัครเล่นได้วาดลวดลายฝีไม้ลายมือ เพื่อกระตุ้นแวดวงวรรณกรรมให้กลับมาคึกคักกันอีกครั้ง

จากการเปิดรับต้นฉบับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีเรื่องสั้นและบทกวีส่งมาแล้วกว่า 100 เรื่อง จากนักเขียนระดับรางวัล นักเขียนมากฝีมือ นักเขียนดาวรุ่ง และนักเขียนหน้าใหม่ มากมายด้วยเรื่องราวและมุมมองทันสมัย คึกคักกว่าการประกวดในรอบหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนว่านักเขียนต้องการเวทีปล่อยของ ทดลองสื่อสารด้วยวิธีการและเนื้อหาใหม่ๆ อย่างเต็มที่

ยังมิต้องพูดถึงรางวัลรวมมูลค่า 200,000 บาท ที่รออยู่ปลายทาง เพียงแค่การปล่อยของของบรรดานักเขียนก็สะท้อนคุณค่าของการประกวดที่เราจัดขึ้นแล้ว

“นายทิวา” เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร

คำให้การของกวีมือรางวัล

“นายทิวา” เป็นนามปากกาของ “เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร” ผู้เป็นสื่อมวลชนและคอลัมนิสต์ประจำสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ ที่นักอ่านทั้งหลายรู้จักกันดี เขามีผลงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งสารคดี บทกวี และเรื่องสั้น โดยส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรงในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ถ่ายทอดเรื่องราว และแสดงทัศนะต่อสังคมอย่างตรงไปตรงมา

ในปี พ.ศ.2555 นายทิวาเป็นผู้ชนะเลิศการประกวดกวีนิพนธ์รางวัลมติชนสุดสัปดาห์ จากบทกวี “แห่งการรอคอย” เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้ให้สัมภาษณ์ทีมงานถึงการกลับมาของรางวัลมติชนในครั้งนี้ว่า

“รางวัลมติชนอวอร์ดเหมือนสวนอักษรของบ้านหลังหนึ่งครับ ที่นี่มีเรื่องราวมากมาย หลากหลาย เปิดกว้าง และอบอุ่นมากๆ ผมเติบโตมากับตัวหนังสือของบ้านหลังนี้ และวันหนึ่งตัวหนังสือของผม ก็ได้รับเกียรติให้บันทึกไว้ในสวนอักษรของบ้านหลังนี้ รางวัลมติชนอวอร์ดเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของโลกวรรณกรรม ดีใจครับ ที่ได้เห็นการกลับมาอีกครั้งของรางวัลมติชนอวอร์ด”

และเขายังเชิญชวนนักเขียนที่ยังลังเลที่จะส่งผลงานด้วยว่า “ส่งผลงานเขียนกันเถอะครับทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะเป็นมือเก่าหรือมือใหม่ ไม่ว่าท่านจะเขียนบทกวีหรือเรื่องสั้น พื้นที่แห่งนี้เปิดกว้างและพร้อมต้อนรับทุกๆ ผลงาน ที่ต้องการสื่อสารและส่งสารอย่างเต็มที่ เวทีแห่งนี้เปิดพื้นที่ให้กับทุกๆ ท่านแล้วครับ และทุกๆ คนก็กำลังรอคอยผลงานของท่านด้วยความระทึกฤทัยพลันอย่างแน่นอน”

 

นทธี ศศิวิมล

ปากคำจากนักเขียน

รางวัลเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์

นอกจากการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์แล้วนั้น มติชนอวอร์ดยังเปิดรับการประกวดเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2556 และผู้ชนะรางวัลชนะเลิศในงานเขียนประเภทนี้เป็นครั้งแรกคือ นทธี ศศิวิมล นักเขียนมากความสามารถ ที่นักอ่านคุ้นเคยกับผลงานของเธอเป็นอย่างดี จากเรื่องสั้น “ทรงจำ”

นทธี ศศิวิมล เข้าสู่วงการนักเขียนตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรื่องสั้นเรื่องแรกของเธอคือเรื่อง ‘อาถรรพ์ผีเหรียญ’ ที่เธอซีรอกซ์ให้เพื่อนๆ อ่าน เคยได้รับรางวัลเรื่องสั้นยอดเยี่ยมมาแล้วมากมาย อาทิ ‘ดอยรวก’ เรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์อวอร์ด ปี 2551, ‘ลูกของลูกสาว’ เรื่องสั้นรางวัลสุภาว์ เทวกุล ปี 2553, อรุณสวัสดิ์สนธยา รางวัลหนังสือดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2556 เป็นต้น

นทธี ศศิวิมล กล่าวถึงการส่งประกวดเรื่องสั้นรางวัลมติชนอวอร์ดว่า “มติชนอวอร์ดเป็นรางวัลที่เปิดโอกาสในนักเขียนหรือคนที่สนใจในเรื่องการเขียนและอ่าน ได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงานของตัวเอง ความคิด จิตใจ ตัวตน รวมถึงมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย โดยแสดงออกได้อย่างอิสระ เสรี เต็มที่ ไม่มีการปิดกั้น ตีกรอบ (ในแง่เนื้อหา) เป็นเวทีที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง มอบโอกาสให้นักเขียนทั้งเก่าและใหม่ และช่วยกระตุ้นให้วงการวรรณกรรมที่ปกติจะค่อนข้างเงียบและสนใจกันเฉพาะกลุ่ม ให้กลับมามีชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดี ครั้งนี้ก็คาดว่าจะเป็นเช่นนั้น”

“อย่างที่บอกไว้ว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่เปิดกว้าง ให้ทุกคนใช้ความคิดสร้างสรรค์ และแสดงออกได้อย่างอิสระ ทุกวันนี้พื้นที่ของงานประเภทวรรณกรรมค่อนข้างน้อย แต่เวทีมติชนอวอร์ดมอบโอกาสนั้นให้ ในเมื่อมีโอกาสดีๆ แบบนี้แล้วก็อยากให้ทุกคนมาร่วมสร้างปรากฏการณ์ร่วมกันที่นี่อีกครั้งค่ะ”

 

กล้า สมุทวณิช

นักเขียนรางวัลมติชน

คนแรกของประเทศ

ปิดท้ายด้วย กล้า สมุทวณิช นักเขียนรางวัลมติชนคนแรกของประเทศ จากเรื่องสั้น “หญิงเสา” ที่ชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้นรางวัลมติชน ประจำปี พ.ศ.2555 ถูกนำไปรวมเล่มเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น “หญิงเสาและเรื่องราวอื่น” โดยสำนักพิมพ์มติชน และเข้าชิงรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ.2557

กล้า สมุทวณิช กล่าวถึงคุณค่าของการส่งเรื่องสั้นประกวดว่า “การเขียนเรื่องสั้นประกวด มันรับประกันแน่นอนว่าเรื่องสั้นของคุณจะต้องถูกอ่านโดยกรรมการ การประกวดจึงเป็นประตูหรือช่องทางสำคัญในการทำให้คนเข้าสู่วงการวรรณกรรม แม้ว่าในปัจจุบัน การที่เราจะเผยแพร่งานตัวเองมันไม่ยากเหมือนแต่ก่อน คือสามารถโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียหรือช่องทางอื่นได้ แต่ว่าถ้าคุณอยากให้งานของคุณถูกอ่านโดยคนที่มีประสบการณ์ทางด้านวรรณกรรม อยากจะถูกประเมินอย่างยุติธรรม ไม่ว่าเวทีไหนผมเชื่อว่ามีมาตรฐานและความยุติธรรมอยู่ในระดับหนึ่ง”

“โดยเฉพาะกับมติชนอวอร์ด ซึ่งเป็นเวทีที่มีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ ช่วงหลังๆ มานี้เวทีประกวดเรื่องสั้นในประเทศไทยหายไปเกือบหมดแล้ว ที่เหลืออยู่คือการประกวดเฉพาะกิจ เช่น ประกวดเรื่องสั้นแนวสิ่งแวดล้อม เรื่องสั้นเยาวชน ก็จะจำกัดว่าเรื่องสั้นต้องเป็นแนวสิ่งแวดล้อมและผู้เขียนต้องเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี เป็นต้น แต่มติชนอวอร์ดไม่เป็นเช่นนั้น คุณจะเขียนอะไรก็ได้เลย ตามสบาย ไม่จำกัดแนวคิด แล้วก็มีกวีนิพนธ์ด้วย ซึ่งกวีนิพนธ์ผมก็ไม่ค่อยเห็นใครเขาประกวดกันแล้ว ดังนั้น เวทีมติชนอวอร์ดจึงเป็นเวทีที่พิเศษมากๆ”

“ถ้าคุณอยากรู้ว่าการเขียนเรื่องสั้นที่มีความเป็นวรรณกรรม และอยากถูกอ่านงานโดยผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านการอ่านการเขียน ได้รับการประเมินจากคอวรรณกรรมจริงๆ ไม่ใช่การอ่านกันเองระหว่างเพื่อนหรือแวดวงที่คุ้นเคย ผมแนะนำให้เขียนส่งมา อันนี้สำหรับนักเขียนรุ่นใหม่หน่อย แต่สำหรับนักเขียนรุ่นเก๋า ถ้าคุณรู้สึกว่ามันไม่มีที่ไหนเปิดรับประกวดเรื่องสั้นกันอีกแล้ว ที่นี่คือเวทีที่เปิดโอกาสให้คุณ รีบๆ กลับมาได้ครับทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ผมอยากให้ลองส่งมาประกวดกันดู แน่นอนว่าถ้าเรื่องของคุณดีในระดับหนึ่ง คือในระดับที่เข้ารอบคัดสรรก็จะได้ลงในมติชนสุดสัปดาห์ โอกาสที่จะถูกอ่านก็มีมากขึ้น”

“เอาเข้าจริงแล้วโอกาสที่งานเขียนของคุณจะได้ตีพิมพ์ในนิตยสารมันไม่ค่อยมีมากสักเท่าไหร่แล้วในปัจจุบันนี้ อยากให้ลองส่งประกวดกันดูครับ” •

 

รับชมสัมภาษณ์ กล้า สมุทวณิช : พลังวรรณกรรมและมติชนอวอร์ด ได้ที่นี่

 

อ่าน วิธีการส่งประกวดมติชนอวอร์ด ได้ที่นี่

เติมพลังเขียน เสริมพลังอ่าน มติชนสุดสัปดาห์เชิญร่วมประกวดเรื่องสั้น – กวีนิพนธ์ มติชนอวอร์ด 2022