พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ เพื่อทุกคน (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ

เพื่อทุกคน (จบ)

 

เมื่อ 8 มิถุนายน พ.ศ.2565 มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับบริษัท OTTERI (ร้านสะดวกซัก) จัดกิจกรรมที่เรียกว่า “วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ” สำหรับ “คนไร้บ้าน” เพื่อให้เข้าถึงการซักผ้าและการอาบน้ำ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ ณ บริเวณหลังรูปปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผม

ผู้จัดงานอธิบายว่า คนไร้บ้านเข้าถึงการซักผ้าและการอาบน้ำด้วยความยากลำบาก พวกเขาต้องไปซักในห้องน้ำปั๊มน้ำมัน ในห้องน้ำสวนสาธารณะ และที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บางคนซักผ้าเสร็จแล้วไม่สามารถหาที่สำหรับตากผ้าได้ ต้องใช้วิธีสวมมันบนตัวทั้งๆ ที่เสื้อยังเปียก และหากจะอาบน้ำ ก็ต้องแอบอาบในห้องน้ำสาธารณะต่างๆ โดยต้องรีบอาบอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ใครจับได้ (ดูรายละเอียดใน https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_564131)

ผมชอบโครงการนี้มาก เพราะทำให้เรามองเห็นคนที่ไม่ถูกนับรวมในพื้นที่เมืองให้ปรากฏตัวขึ้นในที่สาธารณะ อย่างน้อยก็ 1 วัน ช่วยให้เราเห็นว่า คนเมืองกรุงเทพฯ นั้นหลากหลายและมิได้มีแต่คนชั้นกลางและนักท่องเที่ยวเพียงเท่านั้น

หากใครเคยอ่านงานของบุญเลิศ วิเศษปรีชา เรื่อง โลกของคนไร้บ้าน คงทราบดีว่า คนกลุ่มนี้มีความซับซ้อน มีโลกทัศน์ และมีวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง พวกเขาไม่ได้เป็นโจร ไม่ได้เป็นคนบ้า หลายคนมีบ้านแต่เลือกที่จะใช้ชีวิตแบบคนไร้บ้านและใช้ชีวิตหลับนอนบนพื้นที่สาธารณะในเมือง

แต่ในทัศนกระแสหลัก โดยเฉพาะจากภาครัฐ พวกเขาถูกปฏิบัติเสมือนเป็นโรคร้ายของพื้นที่เมือง ไร้ตัวตน และปราศจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อผมอ่านข่าวนี้ ใจผมก็นึกโยงไปสู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ ของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในทันที และนึกว่า จะเป็นไปได้ไหมที่โครงการนี้จะขยับขยายตัวเองออกจากนิยามทั่วไปของพิพิธภัณฑ์ ไปสู่พิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ หรือพื้นที่ในนิยามใหม่ที่สามารถรองรับผู้คนที่หลากหลายมากขึ้น

เพราะดังที่ผมกล่าวไว้ในสัปดาห์ก่อน เนื้อหาโครงการ (เท่าที่ระบุไว้ในนโยบายของคุณชัชชาติ ณ ตอนนี้) คงไม่เกินไปหากจะกล่าวว่า เป็นไปเพื่อรองรับวิถีชีวิตของคนชั้นกลางและนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว และสุ่มเสี่ยงที่จะกลายมาเป็นอีกหนึ่งสารตั้งต้นในการกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ State-Led Gentrification ในย่านเก่ากรุงเทพฯ

ในทัศนะผม พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ ควรวางแนวทางโครงการไว้ตั้งแต่เริ่มต้นบนฐานคิดเรื่อง inclusive design สำหรับพื้นที่สาธารณะ ที่หากแปลแบบให้ได้ใจความก็อาจแปลว่า การออกแบบที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive design แตกต่างจาก universal design ซึ่งเป็นคำฮิตในสังคมไทยอยู่พอสมควรนะครับ เพราะในขณะที่คำหลังเน้นประเด็นเรื่อง accessibility สำหรับทุกคนเป็นสำคัญ แต่คำแรกจะเน้นเรื่องความหลากหลายของวิถีชีวิตของคนมากกว่า แต่ประเด็นนี้ต้องอธิบายยาว ดังนั้น จะไม่ขอพูดถึงละเอียดในที่นี้)

กล่าวให้ชัดขึ้นก็คือ ความคาดหวังต่อพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ ของผมนั้น จะต้องเป็นพื้นที่ต้นแบบ (แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ไม่เป็นไร) ที่ไม่ทิ้งคนไร้บ้าน คนจนเมือง คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ คนที่มีวิถีชีวิตที่ไม่เป็นไปตาม “มาตรฐานกลางในอุมคติของคนชั้นกลางในเมือง” ให้หายไปจากพื้นที่สาธารณะ

มาตรฐานกลางในอุดมคติดังกล่าวคืออะไร

 

ก็คือมาตรฐานกลางของชีวิตแบบที่ทำงาน (หรือเรียนหนังสือ) วันละ 8 ชั่วโมงในออฟฟิศ (หรือโรงเรียน) โดยตอนเช้าก่อนทำงานหรือเย็นหลังเลิกงานก็หาเวลาไปออกกำลังกายในสวนสาธารณะหรือฟิตเนส วันหยุดก็ไปฟังดนตรีในสวน ปั่นจักรยาน เล่นเซิร์ฟสเก๊ต ถ่ายรูปตามคาเฟ่ เดินห้าง ดูงานศิลปะในแกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์ พอถึงเทศกาลสำคัญ ก็มีอีเวนต์จัดตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ เพื่อให้พักผ่อนหย่อนใจกันเต็มที่

ในขณะที่คนงานก่อสร้างกลับขาดแคลนร้านค้าราคาถูกและสถานที่พักนั่งกินข้าวอย่างถูกสุขลักษณะ แม่บ้านในตึกระฟ้ากลางเมืองอันแสนศิวิไลซ์ทั้งหลายที่ต้องแอบนั่งอยู่ตามห้องเก็บของ ซอกตึก หรือบันไดหนีไฟตอนพักกลางวัน

ยังไม่นับลูกจ้างรายวัน ซาเล้งเก็บขยะ คนกวาดถนน แม่ค้าหาบเร่ ฯลฯ ที่แทบไม่มีพื้นที่สาธารณะให้เขาได้ใช้สอยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ไม่ต้องพูดถึงพื้นที่พักผ่อนนะครับ ไม่มีเลยสำหรับคนกลุ่มนี้

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพวกเขาเหล่านั้นใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการทำมาหากิน หลายครั้งก็ถูกมองว่าเป็นการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะไปเสียอีก ทางเท้าต้องห้ามมีหาบเร่มาแย่งพื้นที่ผิวถนนในการเดิน สวนสาธารณะห้ามคนไร้บ้านนอน ทำได้แค่วิ่ง เดิน โยคะ ไท้เก๊ก และจัดดนตรีในสวนเท่านั้น

ย้อนกลับมาที่ข้อเสนอต่อ พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ ในทัศนะผม ลานคนเมืองด้านหน้าไม่ควรเป็นเพียงแค่ฮับสำหรับการท่องเที่ยว ศูนย์กลางเรื่องจักรยาน และลานแสดงดนตรี ศิลปะ ตามที่คุณชัชชาติบอกเท่านั้น

แต่ควรจะต้องแชร์พื้นที่สำหรับการแบ่งปันสู่คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำให้เข้ามาทำมาหากิน พักผ่อนหย่อนใจ แชร์พื้นที่ยามค่ำคืนสำหรับคนไร้บ้าน ภายใต้ข้อตกลงที่จะไม่ไปรบกวนการใช้สอยพื้นที่ของคนกลุ่มอื่น

อีเวนต์ที่จะเกิดขึ้น นอกจากดนตรีและอีเวนต์แบบคนชั้นกลางแล้ว ก็อาจจัด “วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ” เป็นประจำในพื้นที่ รวมไปถึงอีเวนต์แบบที่เน้นอาหารหาบเร่แผงลอย (มิใช่ food truck ราคาแพง) กิจกรรมเล่นว่าว ประกวดนกเขา ลิเก ฯลฯ

ส่วนพื้นที่ในอาคาร ที่วางไว้เป็นพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองและอื่นๆ เป็นเรื่องดีซึ่งผมเห็นด้วยทุกประการ

แต่ด้วยขนาดของพื้นที่อาคารที่ค่อนข้างใหญ่ ผมคิดว่าเราสามารถแชร์พื้นที่ให้กับกิจกรรมสำหรับคนกลุ่มอื่นในสังคมได้ด้วย

แน่นอน พิพิธภัณฑ์ต้องเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ แต่ที่ผ่านมาเรามักเน้นแต่การเรียนรู้เรื่องราวในอดีตเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่มีจากโครงการลักษณะนี้ในอดีต ก็เป็นเพียงการพัฒนาทางเทคนิคการเรียนรู้ให้ทันสมัยตามเทคโนโลยีเท่านั้น โดยเนื้อหาก็ยังคงเป็นแบบเดิมๆ

แต่ที่นี่ควรขยายนิยามไปสู่การเรียนรู้ที่จำเป็นและกินได้สำหรับคนจนเมืองให้มากขึ้น เช่น เป็นพื้นที่เรียนรู้การฝึกอาชีพด้วยวิธีการแบบสมัยใหม่ เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่พวกเขา โดยอาจเป็นอาชีพที่มีรากมาจากอาชีพโบราณในย่านเก่ากรุงเทพฯ ให้คนที่สนใจมาต่อยอดทำกิน เช่น การฝึกปั้นหัวฤๅษี การหลอมทอง การทำกรงนกเขา แม้กระทั่งของกินหายากที่กำลังจะสูญหาย

พิพิธภัณฑ์อาจจะมีพื้นที่ห้องสมุด แต่ผมอยากเสนอว่า ไม่ควรทำเป็นห้องสมุดเก็บหนังสือ ห้องสมุดดิจิตอล และ co-working space ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของคนชั้นกลางเท่านั้น

แต่ควรมีห้องสมุดสิ่งของ (Library of Things) ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจมากขึ้นในหลายประเทศ ใส่ไว้ในโครงการด้วย

 

ห้องสมุดสิ่งของ คือ พื้นที่ที่รวบรวมสิ่งของต่างๆ เพื่อให้ผู้คนมาหยิบยืมเอาไปใช้สอยชั่วคราวโดยไม่เสียค่าใช่จ่ายหรือเสียค่าใช้จ่ายน้อย สิ่งของก็มีความหลากหลายตั้งแต่ เครื่องใช้ในครัวเรือน, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องดนตรี, อุปกรณ์ทำสวน ฯลฯ

ซึ่งโดยหลักการแล้ว คือสิ่งของที่มีราคาแพงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะแบกรับค่าใช้จ่ายได้ หรือมีขนาดใหญ่จนเกินกว่าจะมีเก็บเอาไว้ที่บ้านของตัวเอง แต่จำเป็นต้องใช้ในบางครั้งบางคราว

โดยห้องสมุดสิ่งของ หากปรับให้เข้ากับสังคมไทย ผมเสนอว่าควรเต็มไปด้วยอุปกรณ์ของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน หรือของใช้ในการประกอบอาชีพที่อาจมีราคาแพง สำหรับให้คนจนเมืองที่ขาดแคลนมายืมไปใช้ เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือทำกินราคาแพงได้ ซึ่งอาจจะช่วยยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาขึ้นได้

หรือในกรณีคนไร้บ้าน การเปิดห้องสมุดให้ยืมของใช้ เช่น เต็นท์ หม้อต้มน้ำ เครื่องซักผ้า เครื่องดนตรี ฯลฯ ภายใต้กติกาการใช้ที่เคร่งครัด ก็อาจจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นมนุษย์ของพวกเข้าให้มากขึ้นได้

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเท่านั้นนะครับ

ผมเชื่อว่าหากมีการคิดในประเด็นนี้อย่างจริงจัง (ซึ่งเมื่อมองไปที่ทีมงานของคุณชัชชาติ ผมคิดว่ามีความหวังพอสมควร) ก็น่าจะทำให้เรามองเห็นผู้คนอีกมากที่เคยถูกทิ้งไว้ข้างหลังในเมืองกรุงเทพฯ ให้ปรากฏตัวขึ้น

และสามารถเข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะได้อย่างแท้จริงและอย่างมีศักดิ์ศรี

โดยมีพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ เป็นต้นแบบนำร่อง