‘สั้น-ยาว’ ดุลยภาพ ครองราชย์ฉบับเขมร

อภิญญา ตะวันออก

สวยงาม ยิ่งใหญ่แต่เรียบง่ายสไตล์อังกฤษ ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองวาระ 70 ปีครองราชย์ควีนเอลิซาเบธที่ 2 (ของชาวโลก) ทว่า มันยังส่องไปสู่ประวัติวิทูร่วมสมัยในอิทธิพลระบอบกษัตริย์ที่ทอดยาวมาจากศตวรรษที่ 20

และต่อรากมาถึงทุกวันนี้ สำหรับโลกใบนั้นของกัมพูชาซึ่งยังมีระบอบนี้ดำเนินมา ซึ่งบ้างกล่าวขานว่า นี่คือระบอบกษัตริย์อันไม่ปกติของกัมพูชาที่แม้จะร่วมยุคสมัยในราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ

แต่ก็เฉียดวิกฤตอย่างบ่อยครั้ง ดังที่ฝ่ายหนึ่ง “ฉลอง” วาระครองราชย์ 7 ทศวรรษนั่น แต่อีกฟากหนึ่งนั้นเคยถึงกับ “จมหาย” และกลายเป็น “ระบอบ” ไปชั่วคราว ก็มีมาแล้ว

จนทำให้รู้สึกว่า ฤๅรัชกาลปัจจุบันกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี (2496) ที่ว่า ก็ผ่านอะไรมาไม่น้อยสำหรับก้าวย่าง 18 ปีแห่งการครองราชย์กับความบอบช้ำเล็กๆ ที่แม้ว่าจะไม่ประสาประสบการณ์เหมือนพระบิดา แต่ไม่วายจะถูกสาปให้เป็น “นกน้อยในกรงทอง” หนึ่งในสมบัติของฮุน เซน บุคคลที่พระบิดาของพระองค์โปรดเกล้าบรรดาศักดิ์ชั้นสมเด็จ

และนั่นคือ 10 ปีแรกของการครองราชย์ เพราะหลังจากนั้น ภาษากายร้อยแปดของกษัตริย์พระองค์นี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงจากเคร่งเครียดครั้งใดก็หายไปประทับที่ตำหนักฤดูร้อนกรุงปักกิ่ง เป็นสถิต ณ พระราชวังพนมเปญ และเริ่มมีรอยแย้มพระโอษฐ์ที่มากขึ้น

ก็ขนาดควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชอาณาจักรที่ครองราชย์ถึง 70 ปี ยังเพิ่งจะมามีรอยแย้มพระสรวลเบิกกว้างเมื่อไม่กี่ปีมานี้ นับว่าเป็นข้อดีของพวกราชสำนักที่เริ่มรู้จักรักษา “ดุลยภาพ” กาย-จิตใจให้บุคคลชั้นกษัตริย์เพื่อเข้ากับโลกโซเชียล เมื่อพบข้อดีว่า สร้างคะแนนนิยมในพสกนิกรที่ปลาบปลื้มกับกษัตริยานี ที่สมัยหนึ่งเคยวางพระองค์เย็นชา

แต่สำหรับกษัตริย์เขมรนั้น แม้ปี 70 พรรษาที่กำลังจะมาถึง แค่ 18 ปีที่ครองราชย์ (2547) นับว่ายัง “ขจัย” ละอ่อนเมื่อเทียบกับความเขี้ยวลากดินของนักการเมือง อีกด้านหนึ่ง ความมีวินัยในการรักษาอาญาสิทธิ์แห่งความเป็นชนชั้นกษัตริย์ ซึ่งมีให้เห็นว่าสำคัญสักแค่ไหนสำหรับบักกิ้งแฮมที่ผ่าน 70 ปีมาได้อย่างสง่างาม

ที่กล่าวเช่นนั้นเพราะมันไม่ง่ายสำหรับการทำให้ราชสำนักเหลือรอดและบุคลิกแห่งกษัตริย์ มีความ “จ้ะตุม” หรือ “สุกงอม” ไปพร้อมกับสังคม

สารภาพตามตรงว่า พระบาทนโรดม สีหนุ กษัตริย์พระองค์ก่อนและพระบิดาของพระองค์นั้น ไม่มีอิริยาบถดังกล่าวเลย ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จนสิ้นสุดรัชกาล

และมันสำคัญฉันใด?

เครดิต : ig@royalducambodge

เห็นได้จากการทอดพระเนตรของกษัตริย์สีหมุนีแต่ละครา จะฉายโชนให้เห็นแต่ความ “พอดี” ในภาษากาย ตั้งแต่การแย้มพระสรวลหรือเคลื่อนไหวพระวรกาย แม้ในท่ามกลางวิกฤตที่เคร่งเครียดทางการเมือง

อย่างน่าสังเกต การทำหน้าที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะเหล่านี้ ทรงมีภาษากายตามวรรณะกษัตริย์ที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี แต่ผลพวงที่สูงกว่านั้นคือการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของ 2 สถาบัน “กษัตริย์และการเมือง” มีความเป็นหนึ่งเดียว

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันแรกของการครองราชย์ตามราชประเพณีที่ทรงโกนพระเกศาแล้ว ยังคงรักษาพรหมจรรย์นี้ไว้ราวกับนักบวช ในอาภรณ์ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปทั้งหมด ไม่เลย ไม่ใช่มงกุฎชฎาครอบพระเศียร แต่เป็นพระเศียรที่โล้นเลี่ยนไม่ต่างจากพระเถระ!

นั่นสินะ ขณะที่ควีนเอลิซาเบธฉลองครองราชย์ 70 ปี แต่กัมพูชานั้น กลับผ่านพ้นมาถึง 5 รัชกาล!

เริ่มจากพระบาทนโรดม สีหนุ (1), พระบาทนโรดม สุระมฤทธิ์ (2), สมเด็จพระราชินีสีสุวัตถิ์ โกสะมัก นารีรัตนา (3) เว้นไป 23 ปี กระทั่งธรรมนูญฉบับนี้/1993 เปิดทางให้สถาปนาสถาบันนี้อีกครั้ง เริ่มจากพระบาทนโรดม สีหนุ อีกครั้งในการประเดิมรัชกาลที่ 1 แต่เป็นรอบที่ 2 ของรัชกาลที่ 4 (แห่งอดีต)

เว้นก็แต่องค์สุระมฤทธิ์นั้น ไม่มีใครเลยไม่ประสบชะตากรรมทางการเมือง และตกทอดมาถึงพระบรมนาถสีหมุนีลำดับที่ 2 ของการขึ้นครองตามธรรมนูญฉบับล่าที่ใช้มา 10 ปี และเป็นลำดับที่ 5 ของรัชกาลนโรดม

ต่างจากพระบิดา สมเด็จพระบรมนาถสีหมุนี ทรงมีจริตที่เข้ากับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนัก นี่เป็นอีกครั้งที่กษัตริย์กัมพูชาคล้ายกลับไปยุคอินโดจีน โดยธรรมนูญกษัตริย์ที่ใกล้เคียง ตั้งแต่เงินปีหลวง งบประมาณราชสำนัก ตลอดจนพระราชกรณียกิจ ทั้งหมดถูกจัดการโดยรัฐบาล-เจ้าฟ้าเวียง ซึ่งขณะนั้นไม่มีกษัตริย์องค์ไหนสบพระทัยเลย

ขณะเดียวกันก็รักษาสัมพันธ์เก่าในพระบิดาต่อปักกิ่ง แต่กษัตริย์สีหมุนีทรงปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีอย่างน่าทึ่ง อาทิ การสานต่อมรดกพระบิดากรณีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับทางการจีนที่กรุงปักกิ่ง ที่ทรงเดินทางไปเยือนและบางครั้งก็เสด็จประทับคราวละนานๆ อย่างที่พระบิดาเคยกระทำ

การสืบทอดประเพณีที่น่าประหลาดนี้ ยังคงดำเนินไปอย่างเคร่งครัด กระนั้นก็พบว่า ในรัชกาลพระบรมนาถสีหมุนียังมีสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับราชวงศ์ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่พากันเสด็จเยือนกัมพูชา

ดูเหมือนความอ่อนน้อมถ่อมตนและไม่สนใจการเมืองทำให้พระองค์มีชีวิตอย่างเรียบง่าย ในห้วงปีสหัสวรรษใหม่ที่เปราะบางและอันตรายดั้งเดิมที่ยากจะรื้อฟื้นนั่น แต่พระบรมนาถสีหมุนีกลับสวนทางด้วยการฟื้นฟูราชสำนักและจารีตที่ถูกละเลยในรัชกาลก่อน

กว่าจะหลุดพ้นเงาบาปการเมืองของผู้ให้กำเนิด พระบรมนาถสีหมุนีต้องใช้เวลากว่าทศวรรษในการสลัดหลุดพันธนาการจากนักการเมืองที่หวาดระแวงพระองค์

และนั่นหรือคือราคาที่ต้องจ่ายในความเป็นพระมหากษัตริย์

เครดิต : ig@royalducambodge

การเป็นกษัตริย์จึงยากต้องฟาดฟันโดยการนี้ โดยเฉพาะกรณีบนสมการของ “เล่นแร่แปรอำนาจ” ซึ่งในอดีตนั้น ราชสำนักนโรดมเคยประสบความสำเร็จ

กว่าสารบบสมการ “กษัตริย์+การเมือง” จะหายไปจากความเชื่อของเชื้อพระวงศ์และกษัตริย์กัมพูชา ฉันใดก็ฉันนั้น ตลอด 18 ปีแห่งการครองราชย์ของกษัตริย์สีหมุนีทั้งหมดที่ผ่านมา ทรงวางพระองค์บนทาง 2 แพร่ง-พระราชอำนาจกับการเมือง อย่างไม่มีเงื่อนไขซับซ้อนเหมือนรัชกาลก่อนที่ผ่านมา

เมื่อแลกกับเสียง “ริกน” ค่อนขอดว่าทรงเพิกเฉยไม่สนใจต่อพสกนิกรคนรุ่นใหม่ที่ถูกรังแกทางกฎหมายจากอำนาจรัฐ แต่นั่นมิใช่หน้าที่ของกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ และพระองค์ก็เป็นหนึ่งในผู้ประสบเคราะห์กรรมทางการเมือง?

ดังจะเห็นว่าตลอดมา แม้สุ้มเสียงภาษากายในการอ่านพระราชกฤษฎีกาที่หนักแน่นและจริงจัง แต่หลายครั้งเหล่านั้น ทรงมีท่าทีที่สั่นสะท้านราวกระอักกระอ่วนพระทัยในการอ่านคำประกาศที่พระองค์ไม่เคยร่างฉบับเหล่านั้นเลย หลายต่อหลายครั้ง ในบุคลิกเดียวของพระขนองที่ตั้งตรง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตลอด 18 ปี ในที่สุดก็ผ่านไปได้ด้วยดี

ซึ่งความทแกล้วทกล้าที่ใครต่างคาดหวังในการแสดงออกทางการเมืองในบางครั้ง แต่ใช่ว่ากษัตริย์องค์หนึ่งจะทำได้ เหมือนแบบทดสอบของนโรดม สีหมุนี-กษัตริย์พระองค์นี้ ที่ต่างไปจากอาณัติเดิม และแม้แต่พระองค์เองก็ไม่มีอำนาจจะปลดเปลื้องการถูกล่วงละเมิดพระราชอำนาจซึ่งไม่มีอยู่เลยนั้น

โดยกล่าวว่า แม้จะหลุดพ้นต่อระบอบอำนาจเก่าระหว่างกษัตริย์-นักการเมืองที่เปราะบาง ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทรงพอเข้าใจว่า หน้าที่ที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์เขมรเข้มแข็งและสถิตอยู่ในใจประชาชนต่อไปนั้น ไม่ใช่พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่ทำได้

และองคาพยพของระบอบกษัตริย์กัมพูชาก็ไม่มีอีกต่อไป

เครดิต : ig@royalducambodge

ในพระชันษาย่างปีที่ 70 กษัตริย์กัมพูชาพระองค์นี้ ที่เคยถูกจับตาว่าพระองค์ไร้ชีวิตที่เป็นสุขนั้น ดูจะเป็นเรื่องชวนกังขา

เยี่ยงเดียวกับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 นั่น ในรอบหลายปีมานี้ ยิ่งเจริญชันษามากขึ้นเท่าใด รอยแย้มพระสรวลของพระองค์ก็ดูจะมากตามไปราวเป็นหนึ่ง “ภาษากาย” ที่ยากต่อการแสดง สำหรับชนชั้นกษัตริย์?

และความทแกล้วทกล้าของกษัตริย์องค์ไหนก็ขึ้นอยู่กับตรุง-องค์นั้น ผู้ที่ทลายสมการ “กษัตริย์+การเมือง” ลงได้อย่างน่าชื่นชมยินดี ทว่า ประสาอะไรกับการแย้มพระสรวล?

ขนาด “เการฺเสาะ” โกนเกศาทั้งพระเศียรก็ทรงทำมาแล้ว และยังคงทำต่อไป ราวกับเป็นสิ่งเดียวที่พระองค์ทำได้

สำหรับอิสรภาพส่วนบุคคล ที่กษัตริย์เขมรพระองค์นั้นยังคงรักษาไว้