ธงทอง จันทรางศุ | ข้อคิดจาก ‘ภาษา’ ทำปัจจุบันให้ดีกว่าอดีต

ธงทอง จันทรางศุ

ทุกวันนี้การดูรายการโทรทัศน์จากต่างประเทศแบบสดๆ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ขณะนั่งอยู่กับบ้านที่ลาดพร้าวของผมนี้ ผมก็สามารถกดปุ่มรีโมตคอนโทรลเลือกดูช่องโทรทัศน์ต่างๆ เพื่อเลือกชมรายการจากประเทศโน้นประเทศนี้ได้ตามใจปรารถนา

เพราะฉะนั้น ในพริบตาเดียวผมก็สามารถเลือกได้ว่าจะดูช่อง CNN หรือ บีบีซี หรือ NHK ได้สบายบรื๋อ

ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่ครั้งที่ไปทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 30 ปีก่อนแล้วว่า หน้าจอของรายการโทรทัศน์เมืองญี่ปุ่นนั้น ตัวหนังสือช่างมากมายเสียจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการเกมโชว์หรือรายการข่าว พื้นที่ตัวหนังสือเบียดจอเข้าไปตั้งประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว เหลือจอว่างอีกนิดเดียว

วันนั้นผมทำความเข้าใจกับตัวเองว่า น่าจะเป็นธรรมชาติของคนญี่ปุ่นที่ชอบข้อมูลเป็นหลักเป็นฐาน จึงต้องมีตัวหนังสือมากมายถึงขนาดนั้น คนดูจะได้ไม่เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะลำพังเพียงแค่เห็นภาพหรือได้ยินเสียงยังไม่เพียงพอ

ข้อสันนิษฐานนี้จะผิดถูกอย่างไรยังไม่ได้พิสูจน์ครับ

คราวนี้มาดูโทรทัศน์เมืองจีนดูบ้าง บนจอโทรทัศน์ของบ้านผม ผมดูทีวีจีนได้หลายช่องครับ มีข้อสังเกตอีกแล้วว่า รายการโทรทัศน์เมืองจีนตัวหนังสือมากเกือบเท่าหรือไม่แพ้กับรายการโทรทัศน์เมืองญี่ปุ่นเลย

ทำให้นึกถามตัวเองว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น และเลยเถิดไปถามคนอื่นที่พูดคุยกันอยู่เสมอโดยเรื่องสารพัดด้วย

สำหรับกรณีโทรทัศน์เมืองจีนที่ต้องมีตัวหนังสือปรากฏบนจอมากกว่าโทรทัศน์เมืองไทยนั้น วงสนทนาของเรามีข้อสันนิษฐานไปอีกทางหนึ่งไม่เหมือนกรณีของญี่ปุ่น โดยเราคิดว่าเมืองจีนนั้นมีปัญหาเฉพาะตัว กล่าวคือ เมืองจีนมีขนาดกว้างใหญ่และผู้คนก็มีสำเนียงภาษาแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นจีนสำเนียงหลวงเมืองปักกิ่ง จีนแต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แคะ และอื่นๆ อีกมาก

คนที่สำเนียงภาษาแตกต่างกันสื่อสารระหว่างกันไม่ง่ายเลย

เพื่อประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจถูกต้องตรงกัน ตัวหนังสือจึงมีความสำคัญมากเป็นพิเศษในระบบภาษาของจีน

เพราะแม้จะออกเสียงต่างกันตามสำเนียงภาษา แต่ถ้าเห็นตัวหนังสือตัวเดียวกันแล้ว ก็ไม่มีทางจะเข้าใจผิดเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่นได้

ข้อสันนิษฐานนี้จะผิดถูกอย่างไร วงสนทนาของเราไม่กล้ารับรองความถูกต้อง และถ้าใครจะนำไปเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ทางการสื่อสารก็ไม่ขัดข้องเหมือนกันครับ

 

เมื่อพูดถึงสำเนียงภาษาที่แตกต่างกันทำให้การสื่อสารยากต่อความเข้าใจ ผมก็มานึกเลยไปอีกชั้นหนึ่งว่า นอกจากภาษาที่มีสำเนียงต่างกันแล้ว ตัวหนังสือที่มีตัวเขียนและวิธีสะกดการันต์แตกต่างกันก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการสื่อสารเหมือนกัน

นึกย้อนหลังไปประมาณ 150 ปีก่อน เมื่อการสื่อสารติดต่อระหว่างภูมิภาคของประเทศไทยเรายังไม่ได้รวดเร็วทันใจเหมือนอย่างทุกวันนี้ ต่างภูมิภาคต่างมีภาษาที่เป็นสำเนียงของตัวเอง มีคำศัพท์เฉพาะของตัวเอง และมีตัวหนังสือของตัวเองเสียด้วย

เช่น ตัวอักษรธรรม ซึ่งมีทั้งอักษรธรรมล้านนาและอักษรธรรมอีสาน ขณะเดียวกันกับที่มีการรุกคืบเข้ามาของนโยบายล่าอาณานิคมจากชาติมหาอำนาจตะวันตก ความจำเป็นที่ต้องสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ขึ้นเพื่อรับมือกับความคุกคามและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เราไม่อาจหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้

ทำให้ผู้นำของไทยในเวลานั้นคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงดำเนินนโยบายหลายอย่างไปพร้อมกัน

หนึ่งในพระบรมราโชบายที่สำคัญคือการจัดการศึกษาของชาติ ที่นอกจากจะมุ่งหมายพัฒนาคนซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดแล้ว การสร้างความรู้ความเข้าใจชุดเดียวกันเพื่อให้รัฐชาติที่เกิดขึ้นใหม่มีเอกภาพ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

โรงเรียนและหลักสูตรการสอนภาษาไทยที่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันตลอดทั้งประเทศ จึงเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

โรงเรียนและหลักสูตรภาษาไทยที่ใช้ในทุกภูมิภาคจึงต้องเป็นแบบเดียวกัน และแน่นอนว่า สมควรเป็นแบบเดียวกันกับภาษาที่รัฐบาลส่วนกลางรวมตลอดถึงคนที่อยู่ในพื้นที่ราบตอนกลางของประเทศและเป็นประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดของราชอาณาจักรสยามในเวลานั้นมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว

วิธีเรียนภาษาไทย ที่ต้องเรียน ก.เอ๋ย ก.ไก่ ข.ไข่ในเล้า เรื่อยไปจนถึง ฮ.นกฮูกตาโต ก็เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น

ผลที่เกิดขึ้นและยังคงยั่งยืนมาถึงปัจจุบันคือ พวกเราชาวไทยในทุกจังหวัดทุกภูมิภาคสามารถอ่านหนังสือที่เขียนเป็นภาษาไทยได้เท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อยุ่งยาก และภาษาพูดก็มีภาษาที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันหมดเช่นเดียวกัน ส่วนจะมีเพี้ยนนิดเหน่อหน่อยพอน่าเอ็นดูกระจุ๋มกระจิ๋มย่อมไม่ว่ากันอยู่แล้ว

แต่แน่นอนครับว่าในขณะที่เกิดประโยชน์โพดผลเป็นอันมากอย่างที่เห็นกันอยู่แล้ว ในอีกมุมหนึ่งก็อาจจะมีคนที่เห็นแง่มุมที่ขาดตกบกพร่องไปเป็นธรรมดาอยู่เหมือนกัน

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานปีนักเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผมได้ยินข้อวิจารณ์ว่า นโยบายจัดการศึกษาครั้งเก่าในเรื่องของภาษาไทยที่ทำให้ภาษาไทยต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดทั้งประเทศ ทั้งภาษาพูดภาษาเขียน ได้ทำลายอัตลักษณ์ของท้องถิ่นลงไปอย่างน่าเสียดาย

จริงอยู่ว่าสำหรับภาษาพูดอาจจะยังเห็นได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก เพราะยังมีคนอู้คำเมืองหรือพูดอีสานอยู่อีกเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับตัวเขียนแล้ว ตัวธรรมล้านนาหรือตัวธรรมอีสานแทบไม่มีใครรู้จักแล้ว

ข้อนี้ผมก็ยอมรับความจริงครับ และถ้าในเวลานี้หากมีใครคิดอยากจะรื้อฟื้นความรู้เรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดจากคนรุ่นปัจจุบันไปสู่คนต่อไปในวันข้างหน้า ผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม ขณะที่ไม่จำเป็นต้องไปรื้อหรือยกเลิกระบบการเรียนภาษาไทยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันออกไปทั้งกะบิ

จะเติมภาษาเอกลักษณ์อัตลักษณ์เข้ามาเป็นวิชาเลือกหรือเป็นการเรียนการสอนในลักษณะอย่างไรให้มีความเหมาะสมก็เป็นเรื่องที่จะคุยกันได้อีกมาก

ประเด็นที่เตือนใจผมเหมือนนึกถึงเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา จึงไม่ใช่เรื่องความขัดข้องหรือขัดแย้งที่จะนำเรื่องราวความรู้เหล่านี้มาถ่ายทอดกันในยุคปัจจุบัน

แต่ขณะเดียวกันผมก็รู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องกลับไปตำหนิติเตียนนโยบายที่ใช้มาดั้งเดิมเก่าก่อนร่วมหนึ่งร้อยห้าสิบปีแล้ว ว่าเป็นความผิดพลาดหรือเป็นบาปกรรมใหญ่โตที่ไม่ควรกระทำ

บ่อยครั้งในเวลาที่ผมสอนหนังสือวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย ผมมักจะบอกลูกศิษย์ของผมว่า เราควรจะเรียนรู้ว่าในอดีตกฎหมายเก่าก่อนของเราเป็นอย่างไรบ้างและการใช้กฎหมายเช่นนั้นส่งผลอะไรให้เกิดขึ้น และรู้ต่อไปด้วยว่าการจะนำกฎหมายนั้นมาใช้ในยุคปัจจุบัน ทั้งหมดหรือแม้แต่เพียงบางส่วน ทำได้หรือทำไม่ได้เพราะเหตุใด

การเรียนประวัติศาสตร์กฎหมายในทัศนะของผม จึงไม่ใช่การนำไม้บรรทัดจากปัจจุบันไปใช้เป็นมาตรฐานเพื่อวัดความถูกหรือความผิดของกฎหมายในอดีต

อดีตก็คืออดีต ปัจจุบันก็คือปัจจุบัน

เอาอดีตมาใช้ในปัจจุบันก็ลำบากพอๆ กับเอาปัจจุบันไปตัดสินอดีตล่ะครับ

เพื่อความเป็นธรรมแก่คนในอดีตและเพื่อความเป็นธรรมของตัวเราเองด้วย เราต้องตรึกตรองให้เห็นว่า ในภาวะของสังคมขณะนั้น มีค่านิยมเป็นอย่างไร และทางเลือกในขณะนั้นมีอะไรบ้าง

ถ้านึกว่าเรื่องราวต่างๆ ในประวัติศาสตร์เป็นคดีความ คดีเหล่านั้นก็หมดอายุความไปนานแล้ว

ฟื้นฝอยก็หาตะเข็บไม่เจอหรอกครับ

มาช่วยกันทำปัจจุบันที่เป็นวันนี้ของเราให้ดีกว่าอดีต และเตรียมความพร้อมสำหรับก้าวเดินไปสู่วันข้างหน้ามิดีกว่าหรือ