กทม.ร่วมกับ​ พม.​-มูลนิธิกระจกเงา-ภาคีเครือข่าย​ ร่วมแก้ปัญหา​ “คนไร้บ้าน” ให้เข้าถึงสิทธิพื้นฐาน

กทม.ร่วมกับ​ พม.​-มูลนิธิกระจกเงา-ภาคีเครือข่าย​ ร่วมแก้ปัญหา​ “คนไร้บ้าน” ให้เข้าถึงสิทธิพื้นฐาน จัดกิจกรรม “วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ” เตรียมฟื้น “บ้านอิ่มใจ” ขยายผลโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง”

เมื่อวานนี้ (8 มิถุนายน 2565) เมื่อเวลา 16.00 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ ตรวจเยี่ยมจุดประสานงานเพื่อคนไร้บ้าน​ กรุงเทพมหานคร​ ​ณ​ สถานีรถไฟหัวลำโพง เขตปทุมวัน​ โดยมี ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์​ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ ผู้บริหารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม​ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร กลุ่มเส้นด้าย ร่วมตรวจเยี่ยม​

จากนั้นเดินทางไป ร่วมกิจกรรม “วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ” หวังคนไร้บ้าน เข้าถึงสิทธิพื้นฐาน จัดโดย มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับ บริษัท OTTERI (ร้านสะดวกซัก) ที่ประกาศให้ วันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 เป็น “วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ” โดยจัดกิจกรรมให้บริการคนไร้บ้าน เพื่อให้เข้าถึงการซักผ้าและการอาบน้ำ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ ณ​ บริเวณหลังศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม เขตพระนคร

สำหรับการผสานความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ หนุนเสริมและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากภาวะไร้บ้าน และการตั้งหลักชีวิตของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ พร้อมหารือแนวทางความร่วมมือผลักดันนโยบายคนไร้บ้าน และการป้องกันกลุ่มเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน หรือ “คนไร้บ้านหน้าใหม่” ตั้งเป้าฟื้นโครงการ “บ้านอิ่มใจ” และขยายผลโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเสี่ยงทางสุขภาวะของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ

การตรวจเยี่ยมวันนี้เริ่มต้นที่จุดประสานงานเพื่อคนไร้บ้าน กรุงเทพมหานคร ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง โดยผู้บริหารได้เยี่ยมชมภารกิจและการดำเนินงานของจุดประสานเพื่อคนไร้บ้าน ประกอบด้วย 1. จุดบริการของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) แนะนำสิทธิสวัสดิการสำหรับคนพิการ 2. จุดบริการกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) แนะนำสิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุ 3. จุดบริการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว โดยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีภาคกลาง ให้บริการตัดผม 4. ศูนย์บริการสาธารณสุข 5. จุฬาลงกรณ์ ให้บริการตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น นอกจากนี้ผู้บริหารตรวจเยี่ยม “บ้านเช่าคนละครึ่ง” บริเวณตรอกสลักหิน​ เขตปทุมวัน

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป้าหมายของกรุงเทพมหานครในการลงพื้นที่สำรวจชีวิตความเป็นอยู่คนไร้บ้านที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงครั้งนี้ ต้องการทำให้คนไร้บ้านทุกคนไม่ไร้สิทธิในสังคม หลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 โดยทาง กทม. ไม่อยากให้เรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘คนไร้บ้าน’ จึงร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ร่วมกับ สสส. พม. เครือข่ายนักวิชาการ และภาคประชาสังคม โดย กทม. สนับสนุนโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ของ สสส. และภาคีเครือข่าย เพราะเป็นโมเดลต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นว่าช่วยเหลือเรื่องที่พักและอาชีพของคนไร้บ้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจุดเริ่มสำคัญที่จะทำให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า การลงพื้นที่ดูโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ของ สสส. และภาคีเครือข่าย เป็นไอเดียที่ดีมาก ถือเป็นต้นแบบที่ดี ที่จะเป็นโมเดลฟื้นฟูโครงการอิ่มใจ เพื่อคนไร้บ้านกลับมาอีกครั้ง โดยจะนำเรื่องนี้ไปพัฒนาต่อ โดยจะเน้นให้ที่อยู่อาศัยกับที่ทำงานของคนไร้บ้านใกล้กัน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการตั้งหลักชีวิต

“กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับปัญหา​ “คนไร้บ้าน” ซึ่งคนไร้บ้านต้อง​”ไม่ไร้สิทธิ์” เราต้องรีบแก้ปัญหาตรงนี้​ ซึ่งขณะนี้เราให้ความสำคัญกับ”คนไร้บ้านหน้าใหม่” ซึ่งเป็นแค่กลุ่มเปราะบาง​ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ​ ปัญหาทางบ้าน​ ขาดแคลนที่อยู่อาศัย​ หรือโควิด-19 ไม่ให้กลายเป็น​ “คนไร้บ้านถาวร” การแก้ปัญหาคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร ผมเชื่อว่าต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดงานหนึ่ง​ ” นายศานนท์ กล่าว

จากนั้น​ เวลา​ 18.00 น.​ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ เดินทางไปร่วมกิจกรรม​ “วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ” ซึ่ง​มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับ บริษัท OTTERI (ร้านสะดวกซัก) จัดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ บริเวณหลังศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม เขตพระนคร ในเวลา 18.00-22.00 น. เพื่อ “คนไร้บ้าน”แห่งราชดำเนิน โดยมีการจัดห้องอาบน้ำให้กับ “คนไร้บ้าน” ให้ได้มาชำระร่างกาย มีรถสุขาที่เอื้ออำนวยจากกรุงเทพมหานครมาบริการ และมีรถซักอบผ้าจากการจัดทำของบริษัท OTTERI (ร้านสะดวกซัก) ให้บริการซักผ้าอบแห้ง นอกจากนี้ยังมีร้านเสื้อผ้าที่ให้ผู้คนไร้บ้านเข้าไปเลือกสี เลือกไซส์ เลือกแบบตามที่ใจชอบ และมีรถ Food Truck จากกลุ่ม We Chef เข้ามาให้บริการด้านอาหารให้แก่ผู้คนไร้บ้านอย่างน้อย 3 คัน พร้อมกันนี้ยังมีการรับสมัครงาน จากโครงการจ้างวานข้าคอยรอผู้คนไร้บ้านให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในอนาคต​ ซึ่งมีจุดประสงค์ให้เรื่องพื้นฐานของการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการอาบน้ำและซักผ้าซึ่งต้องเป็นเรื่องสามัญสำหรับคนทุกคนซึ่งไม่ควรมีใครเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ รวมถึงเป็นการเคารพต่อสิทธิความเป็นมนุษย์

ทั้งนี้ มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยถึงเรื่องราวชีวิต “คนไร้บ้าน” และการอาบน้ำซักผ้า ว่า “คนไร้บ้าน” เข้าถึงการซักผ้าและการอาบน้ำด้วยความยากลำบาก ทั้งที่สิ่งนี้ควรเป็นกิจวัตรประจำวันพื้นฐานของมนุษย์ การซักผ้าของพวกเขาจะต้องไปหาซักในห้องน้ำปั๊มน้ำมัน ในห้องน้ำสวนสาธารณะ และที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บางคนซักผ้าเสร็จแล้วไม่สามารถหาที่สำหรับตากผ้าได้ต้องใช้วิธีสวมมันบนตัวทั้ง ๆ ที่เสื้อยังเปียกหมาด ๆ บนราวตากผ้าที่ชื่อว่า “มนุษย์” หากจะอาบน้ำ ต้องออกเดินทางไปหาอาบ ลักอาบในห้องน้ำปั๊มน้ำมัน ในห้องน้ำสวนสาธารณะและที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยต้องลักลอบอาบอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ใครจับได้

จากสถิติพบว่า “คนไร้บ้าน” ซักผ้าอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง แม้การหาที่ซักผ้าจะยากลำบากแต่พวกเขายังพยายามซักเสื้อผ้าของตนเอง 2 วันต่ออาทิตย์ รวมถึงการอาบน้ำที่ยากลำบากแต่ยังพยายามอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง สถิตินี้บ่งบอกว่า “คนไร้บ้าน” ต้องการสุขอนามัยที่ดี ได้ใช้ชีวิตประจำวันที่ดี เพราะหมายถึงการมีสุขภาพกายและจิตที่ดี อีกทั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสังคม ภาครัฐ หรือเพื่อนมนุษย์ ในการร่วมกันเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานนั้น รวมถึงให้การสนับสนุนต่อไปในอนาคต

#ปลอดภัยดี
#บริหารจัดการดี
#เศรษฐกิจดี