ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (22)

ย้อนอ่าน ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (21)

มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 โดยพิจารณาจากมุมมองทางนิติปรัชญาว่า คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ค่อนไปทางสำนักกฎหมายธรรมชาติ (Naturalist) หรือสำนักกฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivist) กันแน่

หากพิจารณาจากมุมมองของสำนักกฎหมายบ้านเมือง พบว่าเนื้อหาในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 เน้นเรื่อง “กฎหมาย” มากจนอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะให้กฎหมายที่ผู้แทนประชาชนตราขึ้นนั้นเป็นศูนย์กลาง (l?gicentrisme)

ซึ่งการตีความคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 แบบมีกฎหมายเป็นศูนย์กลาง รับอิทธิพลความคิดมาจาก Jean-Jacques Rousseau ที่เห็นว่า ไม่มีสิทธิมนุษยชนอยู่ในกฎหมายธรรมชาติ มีเพียงแต่สิทธิของพลเมืองเท่านั้น

ดังนั้น สิทธิมนุษยชนจะถูกใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อมีสิทธิของพลเมืองขึ้นมาก่อน

หากพิจารณาเนื้อหาในคำประกาศสิทธิมนุษชนและพลเมือง 1789 ในหลายมาตรา อาจช่วยยืนยันได้ถึงความคิดเช่นนี้ ในมาตรา 6 กำหนดว่า

“กฎหมาย คือ การแสดงออกซึ่งเจตจำนงร่วมกัน (la volont? g?n?rale) พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิเข้าร่วมในการร่างกฎหมาย ไม่ว่าจะโดยเข้าร่วมด้วยตนเองหรือโดยผ่านทางผู้แทนของพลเมือง กฎหมายต้องมีผลบังคับเสมอกันแก่ทุกคน ไม่ว่ากฎหมายกำหนดให้ความคุ้มครองแก่สิทธิของบุคคลหรือกฎหมายกำหนดโทษแก่บุคคล…” หรือในมาตรา 5 กำหนดว่า “กฎหมายมีสิทธิจะห้ามได้ก็แต่การกระทำซึ่งอาจก่ออันตรายเสียหายแก่สังคม การใดซึ่งมิได้ถูกห้ามไว้โดยบทกฎหมาย การนั้นย่อมสามารถจะกระทำได้ และบุคคลจะถูกบังคับให้กระทำการที่บทกฎหมายมิได้บัญญัติไว้มิได้”

ในมาตรา 4 กำหนดว่า “เสรีภาพ ได้แก่ ความสามารถของบุคคลที่จะกระทำการใดๆ ได้โดยไม่ก่ออันตรายเสียหายแก่ผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ การใช้สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคนนั้นย่อมถูกจำกัดลงได้แต่เฉพาะที่จะให้การประกันแก่ผู้เป็นสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคมเพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิอย่างเดียวกันนั้นได้ด้วย ข้อจำกัดทั้งหลายในการใช้สิทธิเหล่านี้จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยบทกฎหมายเท่านั้น” กรณีนี้ ย่อมหมายความว่า เสรีภาพของบุคคลย่อมถูกจำกัดได้โดยกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองให้ผู้อื่นได้ใช้สิทธิและเสรีภาพด้วย

เสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลอาจถูกจำกัดได้ด้วยกฎหมายเช่นกัน ดังที่ในมาตรา 10 บัญญัติว่า “บุคคลสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตนและทางศาสนาได้โดยไม่จำต้องเกรงต่อเหตุใดๆ โดยมีเงื่อนไขว่า การแสดงความคิดเห็นของบุคคลนั้นจักต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยแห่งสาธารณะซึ่งรับรองโดยกฎหมาย”

ในมาตรา 11 ก็ยืนยันไว้เช่นเดียวกันว่า “การสื่อสารแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลโดยเสรีในทางความคิดและความเห็นเป็นสิทธิประการหนึ่งในบรรดาสิทธิอันมีค่าอย่างยิ่งยวดของมนุษย์ พลเมืองทุกคนจึงสามารถพูด เขียน พิมพ์เผยแพร่ได้อย่างเสรี เว้นเสียแต่ในกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าการกระทำใดเป็นการใช้เสรีภาพผิดไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริง”

ในส่วนของกรรมสิทธิ์ของบุคคลนั้น อาจถูกจำกัดได้โดยกฎหมาย ตามที่มาตรา 17 บัญญัติว่า

“กรรมสิทธิ์เป็นสิทธิอันมิอาจล่วงละเมิดได้และเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ บุคคลจะถูกพรากไปซึ่งกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างเห็นประจักษ์ชัดตามที่กฎหมายบัญญัติ และโดยมีเงื่อนไขในการชดเชยที่เป็นธรรมและกำหนดไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว”

บทบัญญัติที่ยกมาข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “กฎหมาย” แม้คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ได้ “ประกาศ” สิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์มีอยู่ก็ตาม แต่สิทธิเหล่านี้ก็อาจถูกกำหนดกรอบได้โดยกฎหมายอยู่ดี

ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ คือ เจตจำนงร่วมกันของพลเมืองนั่นเอง

หากมองในมุมของสำนักกฎหมายธรรมชาติแล้ว คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 แสดงให้เห็นถึงความคิดแบบสำนักกฎหมายธรรมชาติอยู่ในหลายกรณี ตั้งแต่พื้นฐานความคิดทางปรัชญาที่สืบเนื่องมาจากปรัชญาแสงสว่าง ตามความคิดของ John Locke แล้ว สิทธิพลเมืองก็คือสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกนำมาประกาศ บังคับใช้ และสร้างหลักประกันให้สิทธิเหล่านั้นเกิดผลได้จริง

ดังนั้น คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ก็คือการทำให้สิทธิตามธรรมชาติ สภาวะที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กลายเป็นสถาบัน (institutionalization) เพื่อมิให้สิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์พึงมีนั้นกลายเป็นเพียงเรื่องทางศีลธรรมและไม่มีสภาพบังคับ

เราสามารถพบเห็นความคิดแบบกฎหมายธรรมชาติตั้งแต่มาตราแรกที่ยืนยันว่า

“มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและทรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสิทธิประการต่างๆ ความแตกต่างทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะเช่นไรก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็แต่เพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันเท่านั้น” จากนั้นในมาตรา 2 ก็ประกาศอย่างหนักแน่นว่า “วัตถุประสงค์แห่งสังคมการเมือง ได้แก่ การธำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิทั้งหลายตามธรรมชาติอันมิอาจยกเลิกเพิกถอนได้ของมนุษย์ สิทธิทั้งหลายเหล่านี้ ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย และสิทธิในการต่อต้านการกดขี่”

บทบัญญัติในสองมาตราแรกนี้ช่วยยืนยันให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะมีกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ก็ตาม อย่างไรเสีย เมื่อมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว มนุษย์ก็มีเสรีภาพเสมอภาคในสิทธิต่างๆ ทันที และรัฐมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่ง “สิทธิทั้งหลายตามธรรมชาติอันมิอาจยกเลิกเพิกถอนได้ของมนุษย์”

ดังนั้น รัฐจึงไม่อาจออกกฎหมายทำลายสิทธิเหล่านี้ได้

แม้ในบทบัญญัติมาตราอื่นๆ จะยอมให้มีการตรากฎหมายเพื่อตีกรอบหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพได้ก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายเหล่านั้นจะมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ แต่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขด้วย เช่น การออกกฎหมายเพื่อห้ามมิให้บุคคลกระทำการนั้น จะต้องเป็นกรณีที่การกระทำนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายเสียหายแก่สังคม (มาตรา 5) หรือกรณีกฎหมายกำหนดบทลงโทษ ก็ทำได้ก็แต่ “เฉพาะเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งและเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดเท่านั้น” และบุคคลจะถูกลงโทษได้ก็แต่โดยอาศัย “อำนาจตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นและประกาศใช้ก่อนหน้าการกระทำอันเป็นความผิด และได้ใช้บทบัญญัติของกฎหมายนั้นๆ โดยชอบแล้วเท่านั้น” (มาตรา 8)

และในกรณีที่จำเป็นต้องจับกุมบุคคล หากมีมาตรการที่เข้มงวดอย่างไม่จำเป็นอยู่ ก็ต้องตรากฎหมายยกเลิกเสีย (มาตรา 9)

จะเห็นได้ว่า แม้คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ให้ความสำคัญแก่กฎหมายก็ตาม แต่กฎหมายที่ว่านั้น ก็ไม่ใช่กฎหมายอะไรก็ได้ แต่มันอยู่ภายใต้เงื่อนไขทั้งในทางรูปแบบและเนื้อหา ได้แก่ กฎหมายต้องตราขึ้นโดยพลเมืองหรือผู้แทน และกฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ก็ต้องทำเท่าที่จำเป็น และเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค และไม่อาจเพิกถอนทำลายสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ อันได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย และสิทธิในการต่อต้านการกดขี่ หากอ่านคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ไปตามทิศทางนี้ ก็ต้องสรุปได้ว่า คำประกาศฯค่อนไปทางสำนักกฎหมายธรรมชาติมากกว่า

ความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองกับสำนักกฎหมายธรรมชาติอาจปะทะกันอย่างชัดแจ้งที่สุดในเรื่องของสิทธิในการต่อต้านการกดขี่ของผู้ปกครอง ในมาตรา 2 ยืนยันให้การต่อต้านการกดขี่ของผู้ปกครองนั้นเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์อันมิอาจยกเลิกเพิกถอนได้ ในขณะเดียวกัน ในมาตรา 7 กลับกำหนดว่า ในกรณีที่

“พลเมืองถูกเรียกหรือถูกจับกุมโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย พลเมืองนั้นต้องยอมปฏิบัติตามแต่โดยดี การฝ่าฝืนขืนขัดในกรณีนี้ย่อมถือว่าเป็นผู้ต้องกระทำความผิด”

หากยืนยันตามสำนักกฎหมายธรรมชาติแล้ว เมื่อผู้ปกครองใช้อำนาจกดขี่พรากเอาสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งหลายของประชาชนไป ประชาชนก็ยังคงมีสิทธิประการสุดท้ายหลงเหลืออยู่ นั่นคือ สิทธิในการต่อต้านการกดขี่ของผู้ปกครอง และล้มล้างผู้ปกครองนั้น

ในทางกลับกัน หากยึดถือสำนักกฎหมายบ้านเมือง เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายในการจับกุม การต่อต้านการจับกุมย่อมมีความผิดตามกฎหมาย

กรณีเช่นนี้จึงเกิดปัญหาตามมาว่า ตกลงแล้วบุคคลมีสิทธิในการต่อต้านขัดขืนหรือไม่?

ในกรณีที่บุคคลต่อต้านขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ เขาจะมีความผิดหรือไม่?

ความขัดแย้งกันเองดังกล่าว อาจเป็นผลมาจากความลังเลใจและความกังวลใจของสมาชิกสภาแห่งชาติ ด้านหนึ่ง พวกเขาจำเป็นต้องรักษาระเบียบและอำนาจเอาไว้ อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิในการต่อต้านและล้มล้างผู้ปกครองตามความคิดแบบปฏิวัติ

นี่คือสภาวะอิหลักอิเหลื่อที่เราพบเห็นตลอดการปฏิวัติ