ตึ่งซัวหั่งเช้งม่อ/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ตึ่งซัวหั่งเช้งม่อ

 

ข่าวเศรษฐกิจจีนเดือนที่ผ่านมาไม่สู้ดีนัก เนื่องจากผลกระทบรุนแรงของนโยบายสาธารณสุขซีโร่-โควิด น่าวิตกว่ามันจะส่งผลสะเทือนทางการเมืองไปถึงการประชุม “เอ้อเสอต้า” (二十大) หรือการประชุมสมัชชาแห่งชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในครึ่งหลังของปีนี้ ที่คาดว่าสีจิ้นผิงจะได้รับเลือกเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคต่ออีกสมัย และแถมอาจได้รับเลือกเป็น “ประธานพรรค” ด้วย อันเป็นตำแหน่งพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงประธานเหมาเจ๋อตุงเพียงผู้เดียวที่เคยครอง (https://www.voachinese.com/a/chinese-state-media-releases-short-videos-of-xi-jinping-to-warm-up-his-re-election-20220527/6591911.html)

ก่อนนี้ไม่นาน นักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลเกี่ยวข้องกับจีน 3 คนก็ได้ออกมาตีฆ้องร้องป่าวส่งสัญญาณเตือนภัยเศรษฐกิจจีนไล่ๆ กันแล้ว

ได้แก่ ชานเหว่ยเจียน นักการเงินชาวจีน, สตีเฟน โรช นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน และยอร์ช วุตเคอ นักอุตสาหกรรมชาวเยอรมัน

ชานเหว่ยเจียน เกิดปี 1954 ไม่กี่เดือนหลังสีจิ้นผิง และก็ถูกส่งไป “รับการศึกษาใหม่” ในชนบท สมัยปฏิวัติวัฒนธรรมเหมือนประธานาธิบดีสี เช่นกัน ทว่าหลังประธานเหมาตาย ชานตัดสินใจออกจากจีน มุ่งไปอเมริกา เขาเรียนต่อจนจบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ แล้วเข้าทำงานที่ธนาคารโลก ธนาคารวาณิชธนกิจ JP Morgan และกองทุน TPG Inc. เป็นต้น

ก่อนจะมาก่อตั้งและเป็นประธานรวมทั้งหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกองทุนหุ้นนอกตลาด PAG ของตนเองที่ฮ่องกงซึ่งดูแลจัดการเงินทุนมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

อดีตผู้บริหารกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี Lenovo ของจีนผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งเข้าร่วมบอร์ดบริหารบริษัท Alibaba เมื่อต้นปีนี้เสมือนเป็นร่างทรงตัวแทนแห่งการเปิดประเทศจีนสู่โลก อย่างไรก็ตาม ในคำแถลงทางวิดีโอต่อลูกค้าของ PAG ซึ่ง น.ส.พ. Financial Times นำมารายงานต่อเมื่อ 28 เมษายนศกนี้ ชานประเมินว่า เอาเข้าจริงจีนกำลังประสบ “วิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างล้ำลึก” เทียบเคียงได้กับวิกฤตซับไพรม์ที่โลกตะวันตกพบผ่านเมื่อปี 2008 เขากล่าวว่า :

“เศรษฐกิจจีนไม่เคยตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ปานนี้มาก่อนเลยในรอบ 30 ปี” ในทำนองเดียวกัน “ความไม่พอใจของมวลชน” ก็ไม่เคยสูงเยี่ยงนี้มาก่อนนับแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990 ถึงแม้เขายัง “มั่นใจเรื่องการเติบโตของจีนในระยะยาว” แต่ก็ “ระมัดระวังยิ่ง” เรื่องความเป็นไปได้ที่จะลงทุนทางการเงินในจีนตอนนี้

(https://www.ft.com/content/6bf52409-fe31-4f57-ae24-f2bd9146a698)

ชานเหว่ยเจียน, สตีเฟน โรช, ยอร์ช วุตเคอ

สตีเฟน โรช เป็นมือเก่าชาวอเมริกันผู้ช่ำชองเศรษฐกิจเอเชียและจีน อดีตประธานธนาคารวาณิชธนกิจ Morgan Stanley Asia ผู้นี้ทำรายได้มหาศาลจากธุรกิจในจีน เมื่อครั้งอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หาเรื่องทำสงครามการค้ากับจีนนั้น กองโฆษณาชวนเชื่อของจีนก็มักอาศัยโรชนี่เองให้ช่วยเป็นปากเสียงแทนจีนในฝ่ายอเมริกัน

วันถัดจากรายงานข่าวคำแถลงของชานเหว่ยเจียนข้างต้น โรชให้สัมภาษณ์ SupChina สื่อออนไลน์ เน้นข่าวจีนเมื่อ 29 เมษายนศกนี้ว่า :

ปัญหาหลักๆ ของจีนอันได้แก่นโยบายซีโร่-โควิด, ความใกล้ชิดกับรัสเซีย, การเร่งรัดไล่กวดทางเทคโนโลยี ฯลฯ นั้นเผยให้เห็น

“กระบวนการตัดสินใจที่แข็งทื่อตายตัวอย่างน่าตกใจ ซึ่งข้อแรกเลยมันไม่สามารถยอมรับว่าผิดพลาดได้ และข้อสองมันไม่ยืดหยุ่นพอที่จะนำเสนอยุทธศาสตร์ที่แตกต่างออกไป… ผมคิดว่าแม้แต่รัฐอำนาจนิยมพรรคเดียวก็ยังจำต้องมีวิวาทะกัน และต้องสามารถส่องกระจกมองตัวเองแล้วท้าทายตัวเองได้ในจังหวะคับขัน”

(https://supchina.com/2022/04/29/the-china-cushion-has-deflated-qa-with-stephen-roach/)

 

สุดท้ายคือ ยอร์ช วุตเคอ ประธานหอการค้ายุโรปแห่งประเทศจีนรวมทั้งประธานบริษัทลูกในจีนของเครือบริษัทเคมีภัณฑ์เยอรมัน BASF ด้วย เขาให้สัมภาษณ์ น.ส.พ.สวิสชื่อ The Market เมื่อ 28 เมษายนศกนี้ ยืนยันว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะไม่ถึง 5.5% ตามคาดหมาย แต่จะอยู่ที่ต่ำกว่า 4% เนื่องจากนโยบายซีโร่-โควิด วุตเคอระบุว่า “จีนกำลังจะสูญเสียความน่าเชื่อถือในฐานะแหล่งซัพพลายที่ดีที่สุดของ โลก”

เขาคิดเช่นเดียวกันว่านโยบายเศรษฐกิจและสาธารณสุขของจีนที่ดำเนินอยู่จริงนั้นผิดพลาด ทว่า ด้วยเหตุที่มันใกล้การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในฤดูใบไม้ร่วงนี้แล้ว การตั้งคำถามเพื่อทบทวนนโยบายเสียใหม่ใดๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้

“จีนจะไม่ออกจากหล่มที่ประธานาธิบดีส่งมันลงไป บรรดาผู้ชี้นำทั้งหลายได้กลายเป็นนักโทษแห่งเรื่องเล่าของตัวเองไปเสียแล้ว มันนับเป็นโศกนาฏกรรมโดยแท้” (https://themarket.ch/interview/chinas-leadership-is-prisoner-of-its-own-narrative-ld.6545)

วุตเคอชี้จากประสบการณ์ 25 ปีในจีนว่าปกติแล้วเมื่อจีนเดินแนวนโยบายผิดพลาด พวกเทคโนแครตจะเข้ามากุมอำนาจแล้วปรับแนวนโยบายใหม่ให้ถูกทาง

ทว่า นับตั้งแต่สีจิ้นผิงแก้ไขรัฐธรรมนูญจีนเมื่อปี 2018 เพื่อให้ตัวเองสามารถครองตำแหน่งประธานาธิบดีได้ตลอดชีพเป็นต้นมา ก็ไม่มีใครถ่วงทานอำนาจสีได้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายมีอันเงียบงันลง

เมื่อปี 1959 ครั้ง รมว.กลาโหม เผิงเต๊อะไหว กล้าออกปากวิจารณ์ประธานเหมาเจ๋อตุงว่านโยบายก้าวกระโดดใหญ่ของเหมาเป็นความพินาศฉิบหายวายป่วงนั้น เผิงถูกหาว่าเป็นสปายสายลับของมอสโกและบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง ทุกวันนี้ เมื่อชาวเมืองเซี่ยงไฮ้พากันเคาะหม้อไหกระทะประท้วงที่ต้องทนอดอยากปากแห้งจากมาตรการล็อกดาวน์แบบซีโร่-โควิดนั้น พวกเขาก็ถูกกล่าวหาว่าตกเป็นเครื่องมือให้ตะวันตกฉวยใช้…

ประวัติศาสตร์จีนกำลังซ้ำรอยอีกครั้งกระนั้นหรือ?

ชานเหว่ยเจียน, สตีเฟน โรช, ยอร์ช วุตเคอ