เส้นทางสู่ความยุติธรรม 99ศพ ญาติเหยื่อยึดคำตัดสินศาลฎีกา ทางออกอยู่ที่ “อสส.”หรือ”ป.ป.ช.”?!

เกือบจะมืดแปดด้าน หลังศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง ในคดีที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กรณีมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 99 คน และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด

คดีนี้ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดในขณะนั้น มีอำนาจสั่งคดี ตาม ป.วิอาญา ม.143 วรรคท้าย สั่งฟ้องคดี วิสามัญฆาตกรรมกับผู้ต้องหาทั้งสอง เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหามีพยานหลักฐานในการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ ศอฉ. ปิดล้อมสกัดกั้นการเข้าร่วมชุมนุม ขอคืนพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนได้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัส อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่เกินจำเป็น จึงมีคำสั่งฟ้องบุคคลทั้งสอง ในข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล

ก่อนจะยืนยกฟ้องทั้งสามศาล

ในวันที่ 28 สิงหาคม 2557 เป็นวันฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ถือเป็นยกแรก ศาลอาญาเห็นว่ามูลเหตุเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. เป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

มีประเด็นที่น่าสนใจในศาลชั้นต้น นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระดับความอาวุโสเทียบระดับผู้พิพากษาศาลฎีกา ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาของศาลอาญา เนื่องจากเห็นว่า ก่อนฟ้องคดีศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต และศาลอาญามีคำสั่งว่าผู้ตายถูกกระสุนปืนความเร็วสูงของเจ้าหน้าที่ทหารหรือกระสุนปืนยิงมาจากฝั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลได้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป อัยการสูงสุดจึงสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองข้อหาฆาตกรรม สืบเนื่องจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และยื่นฟ้องขอให้ทั้งสองรับโทษฐานเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ข้อหาฆ่าคนตาย ไม่ใช่ขอให้ลงโทษในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่วนการบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงาน เป็นเพียงคำบรรยายเพื่อให้ปรากฏที่มาของการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธสงครามยิงผู้ตาย ย่อมเป็นการกระทำนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยทั้งสอง และความผิดฐานใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่นเป็นบทหนักมีโทษสูงกว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างมาก และเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายญาติผู้ตาย หากอำนาจชี้ขาดไปอยู่ที่ ป.ป.ช. จะเป็นการแปลความกฎหมายที่ปราศจากความยุติธรรมและขัดต่อหลักกฎหมาย ศาลอาญายังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นต่อไป

โดยความเห็นแย้งดังกล่าวเป็นความเห็นแย้งทางกฎหมายซึ่งไม่มีผลต่อคำพิพากษา

แต่ในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ป.ป.ช. ตีตกคำร้อง กล่าวหานายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก โดยให้เหตุผลว่ายังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามกับพวกได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล

ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่รู้จะเรียกหาความเป็นธรรมกับการสูญเสียในช่องทางใด ทั้งที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ล่าสุดวันที่ 18 กันยายน 2560 นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความตัวแทนผู้เสียหาย เดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ขอให้แจ้งไป ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวนคดีพร้อมทั้งส่งสำนวนที่อดีตอัยการสูงสุดเคยสั่งฟ้องในข้อหาฆ่าคนตาย เพื่อให้ ป.ป.ช. ไต่สวนในความผิดตาม ป.อาญา ม.157 และข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดี

โดยระบุว่า ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 4288-4289/2560 ในความผิดต่อชีวิตที่ศาลยกฟ้องไปนั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยถึงสาระสำคัญว่าคดีนี้ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวนทำความเห็นเกี่ยวกับคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดการกระทำเดียวผิดกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้รับพิจารณาพิพากษาข้อหาบทอื่นตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาฐานเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดข้อหาฆ่าคนตายตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

“อัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่มีความผูกพันกับคำสั่งของศาลฎีกา เป็นหน้าที่จะต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราเน้นว่าเป็นหน้าที่องค์กรอัยการจะต้องดำเนินการเรื่องนี้ หากบุคคลใดพยายามที่จะตัดอำนาจของตัวเอง นิ่งเฉย เราจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิ์ของเราต่อไป”

นายวิญญัติระบุ

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวอัยการระดับสูงระบุถึงการยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ในประเด็นที่ขอให้ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนความผิดว่า เรื่องนี้ไม่สามารถที่จะทำได้

เนื่องจากในกรณีที่อัยการสูงสุดจะสามารถส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวนได้ จะต้องเป็นคดีที่ ป.ป.ช. เคยส่งสำนวนผู้ต้องหาบางคนมาให้อัยการสูงสุดดำเนินคดี เห็นว่าควรดำเนินคดีผู้ต้องหาเพิ่มในกรณีที่น่าจะมีพยานหลักฐานใหม่ในกรณีที่ ป.ป.ช. ไม่ชี้มูลบางคน แต่ในกรณีที่ ป.ป.ช. ตีตกหมดโดยไม่เคยส่งสำนวนให้อัยการ ถึงจะมีการยื่นเรื่องมา อัยการสูงสุดก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งหรือส่ง ป.ป.ช. ไต่สวนเพิ่ม เพราะไม่มีตัวเรื่องแจ้งกลับไปยัง ป.ป.ช. การจะทำได้ในคดีจึงต้องมีพยานหลักฐานใหม่ยื่นต่อ ป.ป.ช. รื้อฟื้นคดีโดยตรงเท่านั้น

เมื่อมองความเห็นทางขั้นตอนของกฎหมายแตกต่างกัน นับเป็นที่น่าจับตามองว่า สุดท้ายแล้วการเรียกร้องความยุติธรรมจากการสลายการชุมนุม 99 ศพ ในการนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่ศาลยุติธรรมจะต้องใช้ช่องทางใดต่อไปกันแน่