TESLA / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

TESLA

 

ความเคลื่อนไหวยักษ์ใหญ่ EV ระดับโลก จะมาขายในเมืองไทย กลายเป็นเรื่องตื่นเต้นอย่างมากๆ

แม้เชื่อว่าในภาพใหญ่ เป็นไปตามจังหวะก้าวเล็กๆ ในฐานะ “ชิ้นส่วน” ความสัมพันธ์กับกระแสและบริบทอย่างน่าทึ่ง เกี่ยวกับคนคนหนึ่ง ผู้มีบทบาทโดดเด่นที่สุดแห่งยุค

อีลอน มัสก์ ( Elon Musk) นักธุรกิจอเมริกันคนล่าสุดก็ว่าได้ ใช้เวลาไม่นานเลยในการก้าวเข้ามากับ Tesla Inc. ปีที่ผ่านมา ว่ากันเป็นปีทองของเขาอย่างแท้จริง ธุรกิจเติบโตอย่างมาก อ้างอิงราคาหุ้น Tesla (Nasdaq Stock Market) ธุรกิจหลักคือผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicle – EV) รายใหญ่ของโลก ด้วยการพิจารณามูลค่าบริษัท (Market Capitalization) กลายเป็นผู้ผลิตรถที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก มูลค่าที่ว่าตามดัชนีหนึ่งในโลกทุนนิยม สะท้อนความมั่งคั่งส่วนตัว อีลอน มัสก์ กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

อันเนื่องมาจากแผนการซึ่งเข้ากับจังหวะ เมื่อโลกตะวันตกเป็นผู้นำในความพยายามลดการใช้พลังงานฟอสซิล มีเป้าหมายชัดเจนโดยเฉพาะในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือเป็นไปตามแนวทาง Tesla ที่ว่า การเข้าสู่ยุคของการเดินทางที่ยั่งยืน (Accelerate the World’s Transition to Sustainable Transport) เป็นพลังขับเคลื่อน ซึ่งมีอิทธิพล กลายเป็นยุทธศาสตร์และแผนการขยายวงไปทั่วโลก

รวมทั้งประเทศไทยด้วย

 

อีลอน มัสก์ กับเทสลา มอเตอร์ (Tesla Motors, Inc.) แม้ว่าก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว มุ่งมั่นพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ทว่า เป็นไปอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ด้วยตกผลึกแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับบุคคลทั่วไป เปิดฉากตั้งต้นสร้างชื่อให้อีลอน มัสก์ อย่างแท้จริง พร้อมๆ กับรุ่งอรุณแห่งยานยนต์ไฟฟ้าในโลก เมื่อเปิดสายพานการผลิต และเปิดตลาด Model S (ปี 2555) แม้ว่าราคาค่อนข้างสูง แต่ก็มียอดจองถล่มถลาย เข้าคิวยาวเหยียดข้ามปี สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมยานยนต์ และสร้างกระแสใหม่ให้กับสังคมธุรกิจระดับโลก

จากนั้นเดินหน้าสู่เป้าหมายสำคัญก้าวต่อมา คือการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าราคาถูกลง เปิดตลาดให้กว้างขึ้น มีผลสะเทือนกว้างขวางมากขึ้นอีก ด้วย Model 3 (ปี 2560) และ Model Y (ปี 2563)

จากจุดตั้งต้นการผลิต ณ โรงงานยักษ์ใหญ่ (Gigafactory) ใน Fremont, California สหรัฐอเมริกา (ปี 2543) ได้ขยายโดยข้ามพรมแดนไปเปิด Gigafactory Shanghai สาธารณรัฐประชาชนจีน (ปี 2563) ว่ากันว่า เป็นโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกของชาวต่างชาติ สามารถสร้างเสร็จในเวลาน้อยกว่า 6 เดือน

ที่สำคัญกว่านั้น เข้ากับจังหวะและการพัฒนาที่สำคัญที่นั่น “ว่าด้วยยานยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicle) เป็น…ภาพสะท้อนท่ามกลางการพัฒนาและวางรากฐานอย่างจริงจังมานานนับทศวรรษในจีนแผ่นดินใหญ่ อาจเรียกว่าคู่ขนานกับแบรนด์ใหญ่ Tesla แห่งสหรัฐ เป็นแผนการบุกเบิกทางธุรกิจอันโด่งดัง ขณะที่ที่จีนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากภาครัฐ ภายใต้ “ผู้เล่น” รายย่อยนับร้อยแบรนด์ ข้อมูลในปี 2561 ระบุว่า จีนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก” อย่างที่เคยว่าไว้

(จากเรื่อง “รถยนต์ไฟฟ้าจีน” มติชนสุดสัปดาห์ 1 เมษายน 2565)

 

ในปีต่อมา (2564) Tesla ได้เริ่มสร้าง Gigafactory แห่งใหม่อีกแห่ง เป็นแห่งแรกในยุโรป ใกล้ๆ Berlin เยอรมนี เพื่อตอบสนองตลาดที่มีเครือข่ายการจำหน่ายรถยนต์ Tesla อันครอบคลุมแทบทุกประเทศในยุโรป ภูมิภาคซึ่งมีผู้คนให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยรัฐมีแผนการกระชับชัดเจน เพื่อยุติการใช้รถยนต์พลังงานฟอสซิลในไม่ช้า

ในระยะเดียวกันกับ Gigafactory Texas เกิดขึ้นอีกแห่งในสหรัฐอเมริกา กระชับฐานใหญ่ที่แทบไม่มีใครกล้ำกรายให้มั่นคงขึ้น

ว่าด้วยเครือข่ายตลาด Tesla ในภูมิภาคโลกตะวันออก นอกจากจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว ก็มีอีกหลายประเทศ และพรมแดน อันได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเก๊า ไปจนถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในอาเซียน บ้านใกล้เรือนเคียง อยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งธุรกิจระดับโลกมักถือเป็นฐานและศูนย์กลางเสมอมาในยุคโลกาภิวัตน์

สำหรับ Tesla เอง การมาเมืองไทย เชื่อว่ามิได้มีความหมายพิเศษ เบื้องต้นคงเป็นไปตามจังหวะและโอกาสทางธุรกิจ อันเนื่องด้วยฐานและกำลังการผลิตมีปริมาณมากพอที่จะสามารถขยายตลาดให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะมาจาก Gigafactory Shanghai ซึ่งมีการขยายกำลังผลิตหลายครั้ง ทั้งจากนี้มีภาระที่ผ่อนคลายในการส่งออกไปยังตลาดยุโรปเช่นที่ผ่านมา

ประจวบเหมาะกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย เพิ่งโหมโรง ด้วยแผนการบุกเบิกและกระตุ้นอย่างเข้มข้น โดยรถยนต์ไฟฟ้าจีน การเดินตามขบวนนั้นมา จาก Gigafactory Shanghai ย่อมเป็นเส้นทางสะดวก ภายใต้เงื่อนไขการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน ที่ไม่มีกำแพงภาษีนำเข้า

“…สำหรับกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้นจากกลุ่มลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร โดยครองการเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึงกว่า 90% อีกทั้งยังสามารถดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จแบบเร็ว MG Super Charge ได้แล้วทั่วประเทศจำนวน 120 แห่ง เป็นต้น…”

ดังกรณีตัวอย่างจากถ้อยแถลงของค่ายรถยนต์จีนรายหนึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

 

มีมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้น เมื่อทางการไทย เพิ่งมีแผนการที่ชัดเจนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ดูกว้างๆ เป็นไปตามกระแส หากพิจารณาอย่างเจาะจงจะพบว่า มีเค้าลางกำลังเผชิญภาวะแรงกดดัน การดิ้นรนปรับตัว หวังว่าด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจยานยนต์ญี่ปุ่น จะสามารถเปลี่ยนผ่าน ฐานการผลิตในภูมิภาค จากอุตสาหกรรมเดิม สู่อุตสาหกรรมใหม่ไปได้ ว่าไปแล้ว เป็นไปไม่ง่ายเลย ด้วยเงื่อนไขการพึ่งพิง และอยู่ภายใต้ข้อจำกัดฝ่ายญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี สำหรับสังคมธุรกิจไทย การมาของ Tesla ได้สร้างปรากฏการณ์อันสั่นสะเทือนไม่น้อยเลย

ทั้งนี้ ข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทในไทยสะท้อนแบบแผนและมาตรฐานเดียวกันของ Tesla ที่จริงจัง มาเอง และไม่มี “ตัวแทน” ในท้องถิ่น

“บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด” จดทะเบียนขึ้นเมื่อ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ด้วยแผนการธุรกิจดูไปแล้วตรงไปตรงมา “ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน”

โดยมีกรรมการ 3 คนที่น่าสนใจ ล้วนเป็นบุคคลสำคัญของ Tesla Inc.

ประกอบด้วย เดวิด จอน ไฟน์สไตน์ (David Jon Feinstein) มีตำแหน่งใน Tesla มีบทบาทโดยตรงในการเครือข่ายธุรกิจระดับโลก (Global Senior Director, Trade Market Access) และเป็น Director ใน Tesla อินเดีย (เมื่อมกราคม 2564)

ไวภา ตเนชา (Vaibhav Taneja) มีตำแหน่งใหญ่ใน Tesla ดูแลแผนกบัญชี (Chief Accounting Officer)

ยารอน ไคลน์ (Yaron Klein) มีตำแหน่งใหญ่ใน Tesla ดูแลการเงิน (Treasurer) และเป็น Chief Financial Officer ของ Tesla Energy Operations, Inc. บริษัทในเครืออีกแห่งที่สำคัญและสัมพันธ์กัน

เชื่อกันในเบื้องต้นว่า เป็นแรงกระตุ้นครั้งใหญ่ให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยขยายเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ก็ทำให้ธุรกิจข้างเคียงในฐานะระบบนิเวศน์ (ecosystem) จะเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วขึ้นด้วย

ในแง่ธุรกิจไทย มุมมองข้างต้นจะกลายเป็นฐานในบทวิเคราะห์สำคัญของบรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้องซึ่งเชื่อกว้างกว่าที่คิด เพื่อวางแผนใหม่ในการปรับตัว ซึ่งเชื่อว่าจะได้ผลกระทบ ไม่ว่าเชิงบวก หรือลบ

สำหรับผู้บริโภคแล้ว มีความตื่นเต้นไม่น้อย กับทางเลือกที่มีมากขึ้น ไปตามกระแสอันครึกโครม อย่างความพยายามคิดคำนวณราคาที่เชื่อว่าจะถูกลงอย่างมาก เมื่อ Tesla มาขายในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ •