‘บึงน้ำ’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

‘บึงน้ำ’

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมทำงานโดยใช้ชื่อว่า บึงน้ำ ผมเขียนถึงบึงน้ำ เล่าถึงเรื่องราวของบึงน้ำบ่อยๆ เหตุผลสำคัญก็เพราะบึงน้ำเป็นที่ที่ผมเริ่มต้น และเมื่อเล่าเรื่องบึงน้ำ เรื่องก็จะขึ้นต้นคล้ายจะซ้ำๆ กันว่า

นอกจากจะเรียนในบึงน้ำที่เปรียบเสมือนโรงเรียน มีเหล่านกต่างๆ เป็น “ครู” แล้ว ผมยังมีครูซึ่งเป็นคน ผู้ช่วยให้การเริ่มต้นของผมง่ายขึ้น รวมทั้งเป็นไปตามวิถีที่ควร

ไม่ว่าจะเป็นเริ่มจากทำความรู้จักนก เข้าใจ และเคารพในระยะห่างที่พวกมันกำหนด กิริยาท่าทาง การแสดงออกที่นกต้องการสื่อ ครูไม่ได้บอกหรอกว่า นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ก่อนเริ่มต้นกดชัตเตอร์

ครูคนนี้ชื่อ พนม คราวจันทึก

ผู้ชายที่เกิดและเติบโต ใช้ชีวิตอยู่ในบึง เข้าเป็นคนงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ความเชี่ยวชาญมากขึ้นเมื่อได้เป็นผู้ช่วยนักวิจัยนกพื้นถิ่น ที่อาศัยอยู่ในบึงน้ำ

เขาอายุมากกว่า แต่เรียกผมว่าอา แบบที่ลูกๆ เขาเรียก แพในน้ำของเขาเป็นที่ผมใช้นอน นอกชานแพเป็นที่กินข้าว กับข้าวมีน้ำพริก ผัก เม็ดบัว ปลาทอด

ทุกวันเขาจะขับเรือหางยาวไปส่งผมแต่เช้า ที่ซุ้มบังไพรซึ่งอยู่กลางบึง ให้ผมเฝ้ารอนกอีแจว, นกเป็ดผี, อีโก้ง, นกอัญชันคิ้วขาว ที่อยู่ในช่วงเวลากกไข่ และเลี้ยงดูลูกๆ

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกอีกนั่นแหละซึ่งผมจะเล่าว่า อาการที่พ่อนกอีแจวแสดงความรักความห่วงใยต่อลูกที่ผมได้เห็นอย่างใกล้ชิดอย่างชนิดยอมตายแทน กระทบใจผมเพียงใด

คล้ายจะทำให้ช่องว่างระหว่างพ่อกับลูกชายแคบลง

มีเหตุการณ์ที่ผมใช้แล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะในงานเขียนหรืองานภาพเคลื่อนไหว

ผมวิทยุให้ครูมารับตั้งแต่บ่ายโมง ทั้งที่ปกติผมจะกลับจากซุ้มบังไพรราวๆ 5 โมงเย็น

“ทำไมล่ะ ไม่สบายหรือเปล่า” ครูถาม

“ไม่เป็นไรครับ” ผมตอบเบาๆ

“แต่อยากรีบกลับบ้านไปหาพ่อ”

 

บึงน้ำทำให้ผมเดินทางไปไกล มีโอกาสได้อยู่ในภูเขาที่ทำให้รู้ตัวว่า เทียบกับภูเขาแล้ว ผมตัวเล็กเพียงใด

ภูเขาที่ผมขึ้นอย่างจริงจัง เป็นภูเขาอันเป็นที่อยู่ของกวางผา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ใช้ชีวิตอยู่ตามผาสูง มีความเชี่ยวชาญกับการเคลื่อนที่ไปในพื้นที่ซึ่งชีวิตอื่นๆ ไปไม่ถึง

บนภูเขานี้ กับการได้เฝ้าดูกวางผา พวกมันสอนให้รู้ว่า การใช้ชีวิตอยู่ริมหน้าผา คือนิ่งๆ หยุดความร้อนรุ่ม สงบใจที่กระวนกระวาย จุดหมายข้างหน้าคล้ายจะชัดเจน ไปช้าๆ แต่ถึงจุดหมาย

นอกจากนั้น พวกมันยังทำให้รู้อีกว่า แม้จะได้รับการออกแบบร่างกาย รวมทั้งมีทักษะกับการใช้ชีวิตริมหน้าผาเพียงใด วันพรุ่งนี้ดูเหมือนจะไม่สดใสสักเท่าไหร่นัก

ภูเขาที่อยู่ ถูกล้อมรอบด้วยเมือง ด้วยพื้นที่การเกษตร เหมือนติดอยู่บนเกาะแคบๆ

พวกมันต้องพบกับปัญหาการถูกล่า เพราะความเชื่อว่า อวัยวะร่างกาย ซากพวกมัน นำไปเข้าเครื่องยารักษาโรคเกี่ยวกับกระดูกได้

ยุคสมัยหนึ่ง พวกมันถูกฆ่า กวางผาที่ดีคือกวางผาที่ตายแล้ว

ถึงวันนี้ พวกมันปลอดภัยขึ้น “เกาะ” ที่อาศัย ได้รับการปกป้องคุ้มครองจริงจัง

ปลอดภัยขึ้น แต่ชีวิตคล้ายไม่ดีขึ้น จำนวนประชากรมากขึ้น นั่นหมายถึง สายเลือดจากการผสมแบบเลือดชิด สายพันธุ์อ่อนแอลง

เป็นปัญหาที่สัตว์ป่าทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญ

ในวันที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า คนจำนวนมากพบว่า ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยพวกมันอย่างจริงจัง ไม่ยากกับการใช้ความก้าวหน้าเป็นเครื่องมือ

บางทีความยากอยู่ที่การเปิดใจ ปรับตัว คิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการเคลื่อนที่ไปของโลกอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งชีวิตซึ่งเดินตามไปช้าๆ ปรับตัวไม่ทัน

จากบึงน้ำ ผมใช้เวลาในป่า บนภูเขา

แรกๆ ภูเขา “ข่ม” ให้ผมตัวเล็กลง

ถึงวันนี้ ภูเขาบอกให้ผมรู้ว่า ผมไม่ได้ตัวเล็กลง

แต่ผมไม่มี “ตัวตน” ตั้งแต่แรกแล้ว

นกอ้ายงั่ว – ได้รับการออกแบบร่างกายมาอย่างเหมาะ เพื่องานควบคุมประชากรสัตว์น้ำ

เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565

ผมกลับมาบึงน้ำอีกครั้ง ไม่ใช่บึงที่เคยใช้เป็นโรงเรียน แต่มีสภาพคล้ายกับผมย้อนเวลากลับไปที่โรงเรียนเก่า

ผมใช้ความรู้ที่ครูเคยสอนที่นี่

มีบทเรียนใหม่ๆ ที่ “ครู” ในบึงนี้สอน กิริยาท่าทาง ความเปลี่ยนแปลง อันเกิดขึ้นเพราะสภาพอากาศ ฝนตก พายุพัดกระหน่ำ ทั้งที่ควรเป็นฤดูแล้ง กำหนดระยะเวลาการออกจากไข่ของลูกนกคลาดเคลื่อน

บางที พ่อ-แม่นกคงรู้ว่า นี่ไม่ใช่เวลาที่เหมาะ อยู่ในไข่ปลอดภัยมากกว่า

การปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพการที่เปลี่ยนไปสำคัญ และจะทำให้ชีวิตอยู่รอดต่อไปได้ หากไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันนัก

ในกรณีนี้ สัตว์ดูจะเชี่ยวชาญกว่าคน

 

หลายวัน ผมอยู่ในบึงน้ำ บางคืนพายุฝนพัด ศาลาโล่งๆ มีเพียงหลังคา ไม่กันความเปียกชื้น

ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ท้องฟ้ากลางคืนจะมีดาวระยิบ

ไม่ใช่นอกชานแพ ครูที่ผมเคยนอนข้างๆ พ่อ

ไม่ใช่คืนที่จำได้ว่า เป็นค่ำคืนที่อบอุ่นเพียงใด

 

จากวันเริ่มต้น กระทั่งวันนี้ เวลาผ่านมานาน บทเรียนต่างๆ ที่ครูในบึงสอน ยังคงเป็นบทเรียนเดิมๆ

บทเรียนเดิม แต่เข้าใจมากขึ้น

ผมเล่าเรื่องบึงน้ำซ้ำๆ

ไม่ใช่เพราะหลงลืม แต่เล่าเพราะจำได้ว่าผมมาจากไหน

จดจำได้ว่ามาจากไหน เป็นสิ่งสำคัญ

ไม่ใช่เพื่อถอยกลับ แต่เพื่อเดินไปข้างหน้า ด้วยการก้าวเท้าอย่างมั่นคง… •