คำ ผกา : น้อง คืออะไร ทำไมต้องรับ?

คำ ผกา

ไม่น่าเชื่อเลยว่า ณ ขณะที่ฉันเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ณ เวลาที่โรงเรียนอนุบาลในสวีเดนกำหนดยกเลิกการเรียกเด็กๆ โดยอ้างอิงกับเพศของพวกเขา เช่น ไม่เรียกใครว่า boy หรือ girl แต่เรียกว่า ไม่พูดถึงคุณสมบัติของพวกเขาโดยอิงกับเพศสภาพ เช่น ไม่พูดว่า

“แองเจลิน่าสวย น่ารัก อ่อนหวาน” ขณะเดียวกันก็ไม่พูดว่า

“โธมัส เข้มแข็ง และอดทนมาก”

เหตุที่ไม่ชมเด็กหญิงว่าสวย น่ารัก อ่อนหวาน ไม่ชมเด็กชายว่า เข้มแข็ง อดทน ก็เพราะไม่ต้องการปลูกฝังสภาวะทวิลักษณ์ ชาย-หญิง หยิน-หยาง ให้กับเด็ก

ไม่ต้องการปลูกฝังการเหมารวมว่า ถ้ามีจิ๋มคืออ่อนแอ อ่อนหวาน น่ารัก ชอบดูแลคน และถ้ามีจู๋ต้องแข็งแกร่ง ไม่แสดงความรู้สึก-คุณสมบัติทางอารมณ์ของมนุษย์ไม่ควรถูกตีกรอบด้วยเครื่องเพศ

พวกเขาเรียกเด็กๆ ว่า “มนุษย์” หรือ people หรือ “เพื่อน” หรือเรียกด้วยชื่อ แทนการเรียกจากความเป็นเด็กหญิงและเด็กชาย

หันมาดูประเทศไทยเรายังมีคำนำหน้านามเด็กว่า ด.ญ. และ ด.ช. อยู่เลย และไม่เคยตั้งคำว่านี่เป็นการตีตราทางเพศให้เด็กก่อนเด็กจะตัดสินใจว่าเขาเลือกจะอยู่กับเพศสภาวะแบบไหนหรือไม่?

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า gender neutral policy หรือนโยบายเพศสภาพที่เป็นกลาง

นั่นแหละค่ะ ในขณะที่เด็กอนุบาลในอีกโลกหนึ่ง เขาไม่เพียงแต่จะไม่มีระเบียบผม ระเบียบเครื่องแบบนักเรียน ไม่มีเข้าแถวนู่นนี่นั่น เขายังยกเลิกแม้กระทั่งการ “ตีตราทางเพศสภาพ” ให้กับเด็ก

แต่ในเมืองไทย ขนาดโตจนหมาเลียตูดไม่ถึงอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยยังมีประเพณีรับน้อง ท่องคำว่ารักกัน สามัคคีกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภูมิใจในมหาวิทยาลัย ในคณะ ในภาควิชา มีป้ายติดไปทั่วมหาวิทยาลัยให้ภูมิใจในเครื่องแบบนักศึกษา

สิ่งที่ฉันอยากจะถามกับสังคมไทยของเราก็คือ นี่ใจคอเราจะไม่รู้สึกเลยหรือว่าเรื่องเหล่านี้มันผิดปกติอย่างยิ่ง!!!!

สารภาพว่า ฉันไม่เคยเลิกแปลกใจ ไม่เคยเลิกตั้งคำถามว่า ทำไมนักศึกษาไทยไม่รู้สึกรู้สากับการต้องใส่เครื่องแบบนักศึกษา

นักศึกษาไทยสมัยนี้ โดยเฉพาะที่ได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยดังๆ ส่วนใหญ่ก็มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ พ่อแม่ค่อนข้างมีการศึกษา เคยไปต่างประเทศ และอยู่ในโลกแห่งอินเตอร์เน็ตที่เห็นความเป็นไปของโลกทั้งใบ ได้ดูหนัง ฟังเพลง ดูซีรี่ส์ชีวิตนักเรียน นักศึกษาในประเทศอื่นๆ

แต่ทำไมพวกเขาไม่เคยรู้สึกรู้สากับการต้องใส่เครื่องแบบนักศึกษา?

ทุกคนยินยอมพร้อมใจกันใส่อย่างภาคภูมิใจ

เอ๊ะ หรือในทางกลับกัน นักศึกษาชาวไทยจะคิดว่าเราช่างเป็นประเทศที่โก้มาก มีชุดนักศึกษา วัยรุ่นประเทศอื่นต้องอิจฉาเราสุดๆ ที่อุตส่าห์เข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว ก็ไม่มี “เครื่องแบบ” ให้ใส่-กระจอกจริงวุ้ย

แต่สิ่งที่ฉันไม่เข้าใจเสียยิ่งกว่าเรื่องชุดนักศึกษาคือเรื่องการรับน้อง

ไม่เคยเข้าใจว่าเขารับน้องไปทำไม?

อยากให้รักกัน?

ทำไมเราต้องถูกบังคับให้รักกันผ่านพิธีกรรมรับน้อง เราเรียนด้วยกัน และเราอยากรักใครก็เป็นเรื่องของเราหรือเปล่า?

ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยด้วยกัน 4 ปี เราก็ควรรักใคร่คนที่นิสัยใจคอสอดคล้องกับเรา ไม่ใช่ต้องถูกหลอมไปในคาถา

อยู่คณะเดียวกันต้องรักกัน สามัคคีกัน ต้องช่วยเหลือกันอย่างไม่มีเงื่อนไข

และการที่เราอยากช่วยเหลือใครก็ควรเป็นเรื่องของมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นตามการขัดเกลาให้รู้จักคุณค่าของเพื่อนมนุษย์

ไม่ใช่เพราะเขาเป็น “พวก” ของเรา อย่างที่หล่อหลอมกันมาในระบบรับน้อง

รับน้องให้เกิดความสามัคคี ก็ต้องถามอีกว่า เราจะเอาความสามัคคีไปทำอะไร?

เป็นนักศึกษาจะไปผนึกกำลังรบกับใครหรือ ถึงต้องการความสามัคคี?

หรือต้องไปแบกหาม ฮุยเลฮุย เลยต้องการความสามัคคี?

และถึงที่สุดนิยามของความสามัคคีหรืออะไร?

ถ้ามีคนมาด่าคณะเรา เราต้องสามัคคีกันไปรุมล่าแม่มดคนนั้นด้วยความสามัคคี?

เราต้องปกป้องศักดิ์ศรีของหมู่คณะเราอย่างไม่สนใจเหตุผล?

การเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย สิ่งที่ต้องฝึกฝนคือฝึกฝนที่จะไม่ถูกหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิ ความเชื่อ อุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง

ปัญญาชนต้องตั้งคำถาม

ปัญญาชนต้องแสวงหาความรู้ ปัญญา

ปัญญาชนต้องมีอิสระและมีความเป็นเอกเทศในความคิด ความเชื่อของตัวเองอย่างที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า independence

ปราศจากความเป็นเอกเทศ อิสระในการคิด การดำรงชีวิต ก็เท่ากับปราศจากเสรีภาพในการแสวงหาความรู้

เอาให้ง่ายไปกว่านั้นคือ อะไรทำให้นักศึกษาไทยคิดว่า การเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มี “รุ่นพี่” คอยดูแล?

ต้องการให้รุ่นพี่ดูแลไร? จูงมือไปเข้าห้องเรียน?

ในโลกที่อินเตอร์เน็ตนำข้อมูลทุกอย่างมาหาเราเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาองค์ความรู้ หรือข้อมูล ประสบการณ์ใดๆ จาก “รุ่นพี่” เลย

อยากเรียนอะไร ลงวิชาไหน ไม่ลงวิชาไหน ก็สามารถเสิร์ชหาข้อมูลได้ด้วยตนเอง ไปถามอาจารย์ที่ปรึกษา

หรือถามต่อไปได้ไหมว่า หากไม่มีประเพณีการรับน้อง อีพวกรุ่นพี่มันจะไม่คุยไม่วิสาสะกับรุ่นน้องเลยงั้น?

ปราศจากประเพณีการรับน้อง นักศึกษาสี่ชั้นปีจะหาวิธีมาคุย มาทำกิจกรรมร่วมกันได้เลย?

นึกออกไป ต่อให้ไม่มีการรับน้อง มันก็ต้องมีการคุย การหารือ ไปตามธรรมชาติอยู่นั่นเอง เพราะถ้าการรับน้องมันเป็นเรื่องไม่มีไม่ได้ ไม่มีแล้วคนจะไม่รักกัน มหาวิทยาลัยนับหมื่นมหาวิทยาลัยทั่วโลกเขาไม่เกลียดกันตายจนสูญพันธุ์ไปหมดแล้วหรือ?

ในแง่ฟังก์ชั่นของการรับน้อง ฉันมองไม่เห็นเลยว่า มันมีฟังก์ชั่น มีหน้าที่ มีความจำเป็นอะไร?

เอาเวลาทำกิจกรรมรับน้องไปดูหนัง อ่านหนังสือ จัดห้องนอนในหอพัก กินหมูกระทะกับเพื่อน ไปออกกำลังกาย ยังจะมีประโยชน์กว่า

อาจจะมีคนบอกว่า เราควรดูแลให้มีการรับน้องอย่างสร้างสรรค์-ก็ได้ แล้วการรับน้องอย่างสร้างสรรค์คืออะไร

ทำกิจกรรมอาสา?

ไปช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว ไปเลี้ยงอาหารคนชรา?

หรืออะไร?

และเราสามารถเรียกกิจกรรมเหล่านี้ว่าการบำเพ็ญประโยชน์ หรือกิจกรรมเพื่อสังคม หรืออะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่การรับน้องได้ไหม?

ถ้าเรารวมตัวกันไปทำอะไรสักอย่างที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำไมเราต้องทำในนามของการรับน้องด้วย ทำในนามของนักศึกษาคณะนู้นนั้นนี้เลยไม่ได้หรือ?

การไม่ต้องเป็นน้อง เป็นพี่ แต่เป็นเพื่อนกัน แม้อยู่คนละชั้นปี มันเสียหายตรงไหน?

การเข้าไปเป็นสมาชิกของ “ชุมชน” มหาวิทยาลัย ในคณะใดคณะหนึ่ง ทำไมเราจะเป็นสมาชิกของชุมชนในฐานะเพื่อนที่มีความเสมอภาคกันไม่ได้

ทำไมเราต้องเป็น “น้อง” ทำไมเราต้องเป็น “พี่” และทำไมเราต้องเชื่อว่า “พี่” คือผู้ที่จะมา “ดูแล” เรา-ความเป็นพี่มันมาพร้อมกับคุณสมบัติของการเป็นผู้โอบอุ้ม ดูแล โดยอัตโนมัติเลยหรือ?

ทำไมเราไม่คิดว่า แม้เราจะอายุน้อยกว่า เราอาจรู้มากกว่า ดูแลตัวเองได้ดีกว่า?

อายุที่ต่างกันแค่สาม-สี่ปีมันเป็นเหตุผลที่เราจะยอมให้ใครต่อใครมาสำแดงอำนาจ (หรือความเมตตาก็ตามที) ได้โดยอัตโนมัติเลยหรือ?

หรือที่การรับน้องมันไม่เคยหายไปจากสังคมไทย เพราะมันได้ทำหน้าที่หล่อเลี้ยง “ระเบียบ” ของสังคมอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เอาไว้

การใช้ “อำนาจ” และ “ความเมตตา” ในพิธีกรรมการรับน้อง ได้จำลองเอาโครงสร้างอำนาจในสังคมไทยเอาไว้อย่างไร้ที่ติ

ในสังคมไทย มนุษย์ผู้หนึ่งจะไม่สามารถดำรงความเป็นมนุษย์เอาไว้ได้หากคุณไม่ยอมศิโรราบ ปวารณาตนเป็น “ลูกน้อง” หรือเป็น “สมุน” ของใครสักคน คุณจะมีตัวตนหรืออัตลักษณ์ก็ต่อเมื่อคุณมีสังกัด คล้ายไพร่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ต้องมี “มูลนาย” ได้รับการสักเลก

เป็นคนมี “กลุ่ม” มี “สังกัด” แม้ถูกเฆี่ยนตี ถูกกระทำ แต่ก็แลกมากับการได้รับการคุ้มครอง

เราอาจโดนรุ่นพี่เรากระทำอนาจารล้านแปดใส่เรา แต่เมื่อไหร่ก็ตามหากมีคนต่างคณะมาทำอะไรเราแม้ปลายนิ้ว รุ่นพี่ที่โหดร้ายกับเราสุดๆ ก็พร้อมจะกระโดดมาปกป้องเราทันที-และ โอ้ววว นี่คือความอบอุ่น ปลอดภัย เหลือจะกล่าว

การมีสังกัดแม้จะถูกกดขี่ ข่มเหง ดีกว่าการเป็นปัจเจกชนที่โดดเดี่ยว ไร้การคุ้มครอง

วัฒนธรรมแบบนี้ไม่ต่างอะไรจากวัฒนธรรมของแก๊งมาเฟียที่คุณต้องสวามิภักดิ์ต่อหัวหน้าแก๊ง หัวหน้ากลุ่ม พร้อมพลีชีพ หรือทำตามคำสั่งอย่างปราศจากเงื่อนไข ต่อให้คำสั่งนั้นจะไร้เหตุผลแค่ไหนก็ตาม

จากนั้นคุณก็ต้องฝึกฝนคนรุ่นใหม่ให้อยู่ในระบบมาเฟียนี้จากรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งพิธีกรรมที่กระชากเอาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ออกจากตัวคุณกลับกลายเป็นสิ่งที่พวกคุณภาคภูมิใจ

น่าเศร้าใจมาก ที่ในมหาวิทยาลัยเรายังงมงายอยู่กับการรับน้อง

ต่อให้การรับน้องเป็นการรับน้องที่ปราศจากความรุนแรง ชวนกันไปทำอะไรมุ้งมิ้ง แต่ประเด็นมันอยู่ตรงคำว่า “น้อง” ที่ลดทอนความเสมอภาคของนักศึกษาไปอยู่ในระบบอุปถัมภ์ที่ปราศจากเหตุผล และสร้าง “กลุ่ม” สร้าง “สังกัด” สมมุติ สร้างศักดิ์ศรี อัตลักษณ์ความภูมิใจกลวงๆ ให้ยึดถือแทนการโฟกัสเรื่องอิสรภาพจากการถูกครอบงำ

“น้อง” ไม่ได้แปลว่า “อ่อนแอ”

“น้อง” ไม่ได้แปลว่า “ผู้อยู่ใต้อำนาจ”

“น้อง” ไม่ได้แปลว่า “ผู้ต้องการการดูแล”

นักศึกษาปี 1 คือมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่ากับนักศึกษาปีอื่นๆ ไม่ใช่คนพิการ ไม่ต้องมารับ มาดูแล มารักใครเป็นพิเศษ

นักศึกษาเก่าปีอื่นๆ ควรหันไปดูแลตัวเองให้ได้ดีก่อนจะมาอุปโลกน์ตัวเองดูแล “น้อง”

เลิกเถอะ รับน้อง ทั้งรับแบบละมุน รับแบบรุนแรง ถ้าอยากเป็นมนุษย์ที่มีอิสระเป็นเอกเทศในตัวเองไม่ขึ้นกับใคร ยกเว้นพ่อแม่เพราะต้องขอเงินเขามาเรียนหนังสือ