สนทนากับ “นายทิวา” ถึงคุณค่าบทกวี และการกลับมาของ “โครงการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ รางวัลมติชนอวอร์ด”

รายงานพิเศษ

 

สนทนากับ “นายทิวา” ถึงคุณค่าบทกวี และการกลับมาของ “โครงการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์  รางวัลมติชนอวอร์ด”

 

“นายทิวา” เป็นนามปากกาของ “เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร” ผู้เป็นสื่อมวลชนและคอลัมนิสต์ประจำสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ ที่นักอ่านทั้งหลายรู้จักกันดี เขามีผลงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งสารคดี บทกวี และเรื่องสั้น โดยส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรงในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ถ่ายทอดเรื่องราว และแสดงทัศนะต่อสังคมอย่างตรงไปตรงมา

ในปี พ.ศ. 2555 นายทิวา เป็นผู้ชนะเลิศการประกวดกวีนิพนธ์รางวัลมติชนสุดสัปดาห์ จากบทกวี “แห่งการรอคอย” ในโอกาสที่นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ได้จัดโครงการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์รางวัลมติชนอวอร์ดขึ้นมาอีกครั้งในปี 2565 จึงถือโอกาสชวน “นายทิวา” มารื้อฟื้นความหลัง ตั้งวงสนทนาถึงคุณค่าบทกวีและการส่งประกวดบทกวีรางวัลมติชนอวอร์ดกันอีกครั้ง

นายเอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร หรือ “นายทิวา” รับประกาศณียบัตรรางวัลชนะเลิศกวีนิพนธ์ “มติชนอวอร์ด” ประจำปี 2555 จากนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

คุณเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าบทกวี “แห่งการรอคอย” ที่ส่งประกวดและชนะรางวัลบทกวียอดเยี่ยม ประจำปี 2555 มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ภายใน” และ “ภายนอก” ที่ปะทุขึ้นและคู่ขนานกันไป จริงๆ เนื้อหาของบทกวีชิ้นนี้แล้วต้องการเปรียบเทียบกับเรื่องอะไร

“ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็ต้องบอกว่า มันเกี่ยวกับ “ภาวะภายนอก” กับ “ภาวะภายใน” ครับ แต่อันที่จริงมันคือความพยายามในการทำความเข้าใจ ถึง “ปรากฏการณ์” และ “ความขัดแย้ง” ชนิดสุดขั้วสองด้านในทุกๆ เรื่อง ผ่าน “รูปธรรม” จากภายนอก ที่เข้ามาตกกระทบและปะทะกับความรู้สึกภายใน พร้อมๆ กับคำถามในเชิง “นามธรรม” ที่ต้องการการใคร่ครวญเพื่อหาคำตอบ

ว่าไปแล้ว บทกวี “แห่งการรอคอย” จากวันนั้น ในปี 2555 มาถึงวันนี้ ปี 2565 ก็ “แห่งการรอคอย” มา 10 ปีแล้วครับ อาจบางทีน่าจะยังคงต้อง “แห่งการรอคอย” ต่อไปอีกกระมัง”

 

เป็นสื่อมวลชน เป็นคอลัมนิสต์ งานก็หนัก แล้วทำไมทุกวันนี้จึงยังเขียนกวีอยู่

“ถ้าตอบแบบเท่ ๆ ก็คงบอกว่าเพราะกวีคือลมหายใจ แม้ว่าทุกวันนี้กวีจะแทบไม่เหลือลมหายใจแล้วก็ตาม ความจริงผมยังเชื่อว่า “บทกวี” และ “ศิลปะ” มีความเป็นสากล และยังเป็น “อาวุธทางวัฒนธรรม” ที่สามารถสื่อสารกับสังคมได้อย่างมีพลังและงดงามครับ ถึงที่สุด “บทกวี” ก็ยังทำหน้าที่ในการ “ส่งสาร” ได้เป็นอย่างดีครับ”

 

อยากให้เล่าถึงพลังแห่งกวีที่คุณเคยสัมผัสได้ หรืออยากถ่ายทอดให้ผู้อ่านรับรู้

“ลองอ่านบทกวีบทนี้ ของ “อาเวตีก อีสากยัน” (Awetik Issaakjan) กวีชาวอาร์เมเนีย ที่แปลโดย “ศรีนาคร” (จิตร ภูมิศักดิ์) ดูนะครับ

“เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์

สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์

แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน

จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน”

ฮึกเหิมไหมครับ รู้สึกได้ถึงพลังและความงดงามของบทกวี ที่ถ่ายเทสู่เรา และปลุกให้เราพร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อส่วนรวมบ้างไหมครับ”

 

ขอถามแบบเชยๆ เลยว่า บทกวีให้คุณค่าอะไรแก่คุณและสังคมบ้าง

“โลกนี้มี “บทกวี” และ “วรรณกรรม” ดี ๆ มากมาย ให้ได้สัมผัสถึงพลังและความงดงาม ผ่านการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพต่อเราทั้งหลาย และทั้งหลายทั้งปวงที่ว่านี้ ก็ช่วยเปิดทั้ง “โลกทัศน์” และ “ชีวทัศน์” ให้กับ “เรา” และกับ “โลก” อย่างถึงที่สุดจริงๆ ครับ”

“สายน้ำไม่เหือดหาย” รวมผลงานนักเขียนรางวัลมติชนประจำปี 2555

รางวัลมติชนอวอร์ดมีความหมายอย่างไรกับคุณบ้าง

“รางวัลมติชนอวอร์ด” เหมือน “สวนอักษร” ของบ้านหลังหนึ่งครับ ที่นี่มีเรื่องราวมากมาย หลากหลาย เปิดกว้าง และอบอุ่นมาก ๆ ผมเติบโตมากับ “ตัวหนังสือ” ของบ้านหลังนี้ และวันหนึ่ง “ตัวหนังสือ” ของผม ก็ได้รับเกียรติให้บันทึกไว้ใน “สวนอักษร” ของบ้านหลังนี้ “รางวัลมติชนอวอร์ด” เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ “โลกวรรณกรรม” ดีใจครับ ที่ได้เห็นการกลับมาอีกครั้ง ของ “รางวัลมติชนอวอร์ด” ครับ”

อยากฝากอะไรถึงเพื่อนๆ นักเขียน-นักอ่าน บ้าง

“ส่งผลงานเขียนรางวัลมติชนอวอร์ดกันเถอะครับทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะเป็น “มือเก่า” หรือ “มือใหม่” ไม่ว่าท่านจะเขียน “บทกวี” หรือ “เรื่องสั้น” พื้นที่แห่งนี้ เปิดกว้างและพร้อมต้อนรับทุก ๆ ผลงาน ที่ต้องการ “สื่อสาร” และ “ส่งสาร” อย่างเต็มที่ เวทีแห่งนี้เปิดพื้นที่ให้กับทุก ๆ ท่านแล้วครับ และทุก ๆ คน ก็กำลังรอคอยด้วยความระทึกฤทัยพลันอย่างแน่นอนครับ” •

 

มติชนสุดสัปดาห์เชิญร่วมประกวดเรื่องสั้น – กวีนิพนธ์ มติชนอวอร์ด 2022

ผู้ส่งเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์เข้าประกวด สามารถส่งผลงาน พร้อมระบุนามปากกา ชื่อ-นามสกุล จริง และที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้สะดวก หมายเลขโทรศัพท์ และอีเมล มาได้ 2 ทาง คือ

1. อีเมล์ [email protected] เขียนหัวข้ออีเมลว่า “ประกวดเรื่องสั้น / กวีนิพนธ์”

2. หรือส่งผลงานทางไปรษณีย์มาที่ กองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ เลขที่ 12 เทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. 10900 วงเล็บมุมซองว่า (ประกวดเรื่องสั้น / กวีนิพนธ์)

 

รางวัล

1. รางวัลเรื่องสั้นทั่วไป ชนะเลิศ 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 30,000 บาท รางวัลชมเชย 10,000 บาท

2. รางวัลกวีนิพนธ์ชนะเลิศ 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 20,000 บาท รางวัลชมเชย 10,000 บาท

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

มติชนสุดสัปดาห์ โทร. 0-2589-0020 ต่อ 2306 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-16.00 น.

หรือ inbox : m.me/matichonweekly

 

อ่านรายละเอียดการส่งประกวดได้ที่นี่

เติมพลังเขียน เสริมพลังอ่าน มติชนสุดสัปดาห์เชิญร่วมประกวดเรื่องสั้น – กวีนิพนธ์ มติชนอวอร์ด 2022