อิสลามในยุโรป รัสเซียและยูเครน (จบ)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อิสลามในยุโรป รัสเซียและยูเครน (จบ)

 

การท้าทาย

ของจำนวนประชากรมุสลิม

และนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย

ในเวลานี้จะพบว่ารัสเซียพยายามกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับโลกมุสลิม

รัสเซียมีความกระตือรือร้นที่จะให้ความสำคัญกับประเทศมุสลิมทั้งหลายในฐานะประเทศที่จะขยายความสามารถของรัสเซียเข้าไปในตะวันออกกลางและเข้าไปมีบทบาทอยู่ในระเบียบโลกของศตวรรษที่ 21

รัสเซียเองกำลังเผชิญกับภาวะแวดล้อมที่ปรากฏอยู่ ซึ่งได้แก่

1. การเติบโตของประชากรมุสลิม

2. ความต้องการในการจัดที่ทางรวมทั้งบูรณการชาวมุสลิมเข้าไปในรัสเซีย

3. ความต้องการที่จะเป็นมหาอำนาจโลกทำให้นโยบายต่างประเทศของรัสเซียต้องขานรับสภาพแวดล้อมใหม่ด้วยการมีพลวัตและนโยบายต่างประเทศใหม่เช่นกัน

รัสเซียสร้างสมดุลเหล่านี้ผ่านนโยบายต่างประเทศ โดยจำเป็นต้องยอมรับและรักษาการเมือง จิตวิญญาณ เศรษฐกิจและการพัฒนาความร่วมมือกับประชากรมุสลิมและโลกมุสลิมเอาไว้

ด้วยจุดมุ่งหมายดังกล่าวในปี 2003 Putin ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมกับองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference – OIC) ซึ่งในปี 2008 เปลี่ยนชื่อเป็นองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation – OIC)

 

หากรัสเซียต้องการเป็นสมาชิก OIC อย่างเต็มรูปแบบจำนวนประชากรมุสลิมจำเป็นต้องมีร้อยละ 50 จึงจะเป็นสมาชิกของ OIC อย่างสมบูรณ์ได้

รัสเซียยังไม่อาจตอบสนองข้อเรียกร้องนี้ได้ โดยรัสเซียมีประชากรมุสลิม 20 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรรัสเซียทั้งหมด

แม้ว่าในเบื้องต้นรัสเซียไม่อาจเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของ OIC ได้ แต่รัสเซียก็ได้สถานะผู้สังเกตการณ์ (Observer Status) เช่นเดียวกับประเทศไทย

การที่ Putin ตัดสินใจนำรัสเซียเข้ามาใกล้ชิดกับ OIC นั้นไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับประเทศมุสลิมเท่านั้น แต่ยังสร้างความประทับใจให้กับชาวมุสลิมของรัสเซียเองอีกด้วย ทั้งนี้ Putin กล่าวว่า

“ข้าพเจ้ามั่นใจว่าการเข้าร่วมของรัสเซียจะไม่เพียงแต่เพิ่มรัสเซียเข้าไปในคลื่นความถี่ขององค์การ แต่ยังนำเอาความเป็นไปในการงานของพวกเขามารวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังจะได้เพิ่มน้ำหนักและค่านิยมของประชาชนมุสลิมรัสเซีย อันเป็นชุมชนที่ไม่ได้แยกตัวเองออกจากประชาคมมุสลิมระหว่างประเทศและได้มีการเตรียมการสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลในด้านจิตวิญญาณ วัฒนธรรมและชีวิตทางการเมือง”

 

รัสเซียมีความข้องเกี่ยวทางประวัติศาสตร์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางศาสนากับหลากหลายประเทศ และมีความมุ่งมั่นมากขึ้นที่จะพัฒนาบทบาทของรัสเซียในโลกมุสลิม

Vincent Gagnon – Lefebver กล่าวว่า Putin ได้กล่าวหลายครั้งในเรื่องเอกภาพกับโลกมุสลิม ทั้งนี้ ได้รับการตีความว่า Putin ต้องการให้มุสลิมรัสเซียเข้าสู่การยอมรับอย่างเป็นสากลในช่วงเวลาที่รัสเซียต้องการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในเวทีโลกอีกครั้ง

ในขณะที่ Dmitri Trenin วิจารณ์ว่าความเชื่อมโยงระหว่างรัสเซียกับโลกมุสลิมนั้นเป็นผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่น OIC อาจคิดว่ารัสเซียเป็นผู้สนับสนุนองค์การ ข้อสันนิษฐานนี้อาจกดดันให้สหรัฐมีความเป็นกลางมากขึ้น ในอีกทางหนึ่ง OIC ก็มีความลังเลใจที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาภายในไม่ว่ากับสมาชิกหรือประเทศผู้ได้รับเกียรติที่มีสถานะเป็นประเทศสังเกตการณ์

Putin ได้ไปเยือนเมือง Grozny และพูดคุยกับรัฐสภาของ Chenchya ที่ได้รับการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ในเดือนธันวาคม 2005

ในคำพูดของเขา เขาได้แสดงให้เห็นถึงมโนทัศน์ระดับโลกของรัสเซียในการเป็นพันธมิตรกับโลกมุสลิมพร้อมประกาศว่ารัสเซียจะให้การปกป้องโลกมุสลิม

 

ในปี 2007 Putin ยืนยันในความเป็นผู้สนับสนุนโลกอิสลาม และเป็นพันธมิตรที่ดีและวางใจได้

ด้วยการกล่าวถึงคำกล่าวของ Putin ที่ Grozny ข้างต้น Dmitri Trinin อธิบายว่ารัสเซียให้การยอมรับบทบาทของอิสลามใน Chenchya โดยรัสเซียไม่ได้เพียงแค่ยอมรับหลักการของศาสนาในฐานะที่เป็นกระแสหลักของ Chenchya เท่านั้น แต่ยังให้การยืนยันกับภายนอกถึงความร่วมมือกับโลกมุสลิมอีกด้วย เขาบอกว่าประเทศของโลกอิสลามนั้นวางอยู่ที่ค่านิยมแห่งความดีงาม ความเอื้อเฟื้อเมตตาและยุติธรรม

อีกครั้งหนึ่งในปี 2012 Putin ได้ย้อนถึงความสำคัญของอิสลามในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญต่อโครงสร้างทางการเมืองของความเป็นรัฐ ทั้งในทางประวัติศาสตร์และในศักราชของโลกร่วมสมัย

นอกจากนี้ ประชากรของรัสเซียออโธดอกซ์ก็ค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่อิสลาม อันเนื่องมาจากจำนวนของผู้ที่เปลี่ยนมาเป็นอิสลาม รวมทั้งอัตราการเกิดที่สูงของชาวมุสลิม

 

ในเวลาต่อมานักวิพากษ์ทางการเมืองให้ข้อสังเกตว่าสมาชิกของ OIC จำนวนมากที่ได้ให้การยอมรับถึงความสำคัญในการนำเอารัสเซียมารวมกับ OIC

การเข้าร่วมกับ OIC ที่มีสมาชิกอยู่ 57 ประเทศและเป็นองค์กรที่มีสมาชิกมากเป็นอันดับสองรองจาก UN ในฐานะผู้สังเกตการณ์ของรัสเซีย เป็นการให้ไฟเขียวที่จะให้มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางในระดับรัฐเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในทางการค้า เศรษฐกิจ วิทยาการทางวิทยาศาสตร์ สังคมและสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างรัสเซียและโลกมุสลิมเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัสเซียมีศักยภาพที่จะออกแบบนโยบายต่างประเทศที่ ส่วนหนึ่งได้รับจากอัตลักษณ์อิสลามและเพื่อยืนยันว่าอิสลามได้รับการบูรณาการให้เป็นส่วนหนึ่งในอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมในการเมืองรัสเซีย งานต่างๆ ระหว่างรัฐบาลกับโลกมุสลิมจึงถูกจัดขึ้น ตัวอย่างเช่น มีการประชุมสุดยอดเศรษฐกิจ ประจำปีมาตั้งแต่ปี 2009 ระหว่างรัสเซียและองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC)

ในปี 2012 รัสเซียยังได้เป็นเจ้าภาพครั้งแรกในงานประชุมเทววิทยาสากล (International Theological Conference) ว่าด้วย “คำสอนอิสลามกับความสุดโต่ง” จบลงด้วยการออกประกาศเพื่อประณามลัทธิสุดโต่งที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับคำสอนของศาสนาอิสลามแต่อย่างใด

ในปี 2013 มีการแข่งขันการอัญเชิญคัมภีร์กุรอานระหว่างประเทศ (International competition of Quran reciters) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมที่มาจาก 44 ประเทศในกรุงมอสโก

นอกจากนี้ ยังมีการจัด Halal Expo ครั้งที่ 8 ในปี 2017 ซึ่งจัดโดยรัสเซียเพื่อนำเอาผู้ผลิต ผู้ซื้อและผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ฮาลาล และการบริหารมาจากพื้นที่ต่างๆ ของรัสเซียและอีก 50 ประเทศ

 

บทสรุป

ไม่เหมือนมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยในยุโรป มุสลิมรัสเซียมิได้เป็นผู้อพยพที่มาจากต่างชาติแต่ประการใด พวกเขาเป็นพลเมืองดั้งเดิมของประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ อิสลามเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของชาติในการเมืองของรัสเซีย มีชาวมุสลิมพื้นเมืองอาศัยอยู่ในรัสเซีย โดยจำนวนประชากรรัสเซียทั้งหมดมีอยู่ 146 ล้านคน แม้ว่าจำนวนประชากรรัสเซียจะลดต่ำลงมาตั้งแต่ปี 1991 อันเนื่องมาจากการเกิดน้อยลง อัตราการเกิดที่เพิ่มสูงขึ้นของชาวมุสลิมในรัสเซียและการย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในรัสเซียของชาติพันธุ์มุสลิมในเวลาต่อมาทำให้ชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยขนาดใหญ่ และยังคงมีอัตราการเกิดสูงกว่าของชาติพันธุ์รัสเซียอื่นๆ

สำหรับรัสเซียการเจริญเติบโตของประชากรมุสลิมและความปรารถนาที่จะปรากฏตัวขึ้นมาอีกครั้งในฐานะมหาอำนาจของโลกมีผลโดยตรงต่อนโยบายต่างประเทศของรัสเซียเพื่อที่จะสนับสนุนความต้องการที่จะรองรับและรักษาจิตวิญญาณ เศรษฐกิจ ความร่วมมือทางการเมืองกับโลกมุสลิม ในขณะที่ต่อต้านการแพร่กระจายความสุดโต่งและการก่อการร้ายที่มาจากกลุ่มก้อนต่างๆ

รัสเซียได้กลายมาเป็นสมาชิกสังเกตการณ์ของ OIC (OIC observer status) ในปี 2005 ในขณะที่ไทยเป็นสมาชิกสังเกตการณ์ในปี 1999 สมาชิกของ OIC ก็จะได้ความเข้าใจที่ดีต่อกันระหว่างรัสเซียกับโลกมุสลิม

เพราะสมาชิก OIC คิดว่ารัสเซียเป็นผู้สนับสนุนที่สามารถถ่วงดุลกับแรงกดดันของสหรัฐได้ในแนวทางเดียวกันรัสเซียก็จะได้รับภูมิคุ้มกันที่ตีจากโลกมุสลิม ทั้งนี้ รัสเซียจะต้องให้ความยุติธรรมต่อ Chenchya ด้วยการขับเคลื่อนที่มาจากรัสเซียเองเนื่องจาก OIC มีความลังเลใจที่จะเข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศสมาชิกใดๆ

บทบาทของรัสเซียใน OIC ทำให้รัสเซียมีบทบาทที่แข็งแกร่งขึ้นในฐานะที่นำเอาความสมดุลมาให้ ซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยความคิดของโลกที่มีหลายขั้วเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ด้านการค้า-เศรษฐกิจ เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ สังคมและความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างรัสเซียและโลกมุสลิมเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัสเซียมีศักยภาพที่จะออกแบบนโยบายต่างประเทศของตัวเองที่มีต่อโลกมุสลิมได้อย่างเป็นรูปธรรมในระดับหนึ่ง