‘การเมืองไทย’ หลังวันที่ 22 พฤษภาคม / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘การเมืองไทย’ หลังวันที่ 22 พฤษภาคม

 

ถ้าถามว่า หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 “ประชาธิปไตยไทย” มีสภาพอาการเป็นอย่างไรบ้าง?

ต้องตอบตรงๆ ว่ายังไม่ค่อยแน่ใจสักเท่าไหร่ เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถจะประเมินได้ง่ายดายนัก

ผลเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม. ที่จบลงด้วย “ฉันทามติชัชชาติ” และการครองเสียงส่วนใหญ่ในสภากรุงเทพฯ ของพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล (รวมถึงไทยสร้างไทย) อาจทำให้กองเชียร์ฝ่ายค้าน-ฝ่าย “ประชาธิปไตย” หัวใจพองโต

แต่ขณะเดียวกัน ผลเลือกตั้งซ่อมที่ราชบุรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ก็ปรากฏชัดว่าชัยชนะตกเป็นของผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ดีกรีอดีตนักการเมืองท้องถิ่น ส่วนผู้สมัครพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งพิชิต “ปารีณา” ได้ในเกมกฎหมายนั้น ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

คล้ายคลึงกันกับการเลือกตั้งเมืองพัทยา ซึ่ง “บ้านใหญ่” กวาดที่นั่งไปอย่างเรียบวุธ

นั่นหมายความว่าในหลายๆ พื้นที่ การทำงานการเมือง “แบบเดิม” ยังรับประกันผลสำเร็จ และกอบโกยคะแนนนิยมจากประชาชนได้

ส่วนผลเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ที่ดูมีความหวังนั้น หากเราพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างผลเลือกตั้ง ส.ก. ปี 2565 กับผลเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 สัดส่วนเปอร์เซ็นต์ต่างๆ ที่ออกมาก็นับว่าใกล้เคียงกัน ไม่มีจุดเปลี่ยนใหญ่ๆ

การต่อสู้ผ่านคูหาเลือกตั้งจึงยังเข้มข้น พลิกไปพลิกมา ได้อยู่เสมอ

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าหลังวันที่ 22 พฤษภาคม มี “ความเปลี่ยนแปลง” ที่ก่อตัวขึ้นอย่างประจักษ์ชัดเจนบ้างหรือไม่?

ก็ต้องตอบว่ามีอย่างน้อยๆ อยู่สองเรื่อง

เรื่องแรก ผลสะท้อนผ่านบัตรเลือกตั้งบ่งชี้ไม่ต่างกันว่ากระแสความนิยมในพรรคพลังประชารัฐ และผู้นำรัฐประหารที่จำแลงกายด้วยเสื้อคลุมประชาธิปไตยไม่เต็มใบ กำลังเสื่อมทรุดตกต่ำลงอย่างหนัก

เมื่อพวกเขาแทบไม่มีที่ทางสำหรับชัยชนะหลงเหลืออยู่เลย

แม้พรรคพลังประชารัฐจะได้ ส.ก. มา 2 คน แต่ก็ต้องถือว่าล้มเหลวอย่างยิ่ง หากเทียบเคียงกับจำนวน ส.ส.กทม. 12 ที่นั่ง เมื่อสามปีก่อน

ในสนามผู้ว่าฯ กทม. เราคงไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าคะแนนของ “สกลธี ภัททิยกุล” และ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” คือ คะแนนของพลังประชารัฐหรือคะแนนนิยมของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

หรือต่อให้พูดได้เต็มปาก เมื่อนำคะแนนทั้งสองก้อนมาบวกรวมกัน ก็ยังจะตามหลังคะแนนนิยมเกือบล้านสี่ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อยู่ไกลโข

ความพ่ายแพ้ย่อยยับในเมืองหลวง บ่งบอกว่าผู้นำทหารของพรรคพลังประชารัฐครองใจคนชั้นกลาง-ชนชั้นนำจำนวนมากเอาไว้ไม่ได้ และพวกเขามิได้มีสถานะเป็น “ตัวเลือกอันดับแรก” ของโหวตเตอร์ฝั่งอนุรักษนิยมอีกต่อไป

พร้อมๆ กันนั้น เรายังไม่สามารถนิยามได้เสียทีเดียวว่า ผลเลือกตั้งที่พัทยามีความข้องเกี่ยวใดๆ กับอำนาจ-อิทธิพลของพรรคพลังประชารัฐ

แนวโน้มจึงกลายเป็นว่า สโลแกนทำนอง “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่” คือ สินค้าที่ตกรุ่นไปแล้วเรียบร้อยในตลาดการเมืองไทยร่วมสมัย

ขึ้นอยู่กับว่าบทอวสานทางการเมืองของอดีตผู้นำ คสช. จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร? และเกิดขึ้นเมื่อไหร่? เท่านั้นเอง

 

เรื่องที่สอง หลังวันที่ 22 พฤษภาคม ดูเหมือนสังคมไทยจะเริ่มมีความหวังกับ “ผู้นำทางการเมือง” มากขึ้น

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่แทบจินตนาการไม่ออกว่า “ผู้นำที่ดี” หรือ “ผู้นำของคนส่วนใหญ่” นั้นควรมีภาพลักษณ์และมีแนวทางการทำงานเช่นใด?

เพราะเราได้พบเจอแต่ “ผู้นำ” ที่คนรัก-คนเลือกก็มี แต่คนไม่รักก็เยอะ และคนต่อต้านดูจะทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เราอยู่ในยุคสมัยที่ “ผู้นำ” ออกมาเดินถนน พบปะพี่น้องประชาชน ได้ไม่ง่ายนัก ยกเว้นในอีเวนต์พิเศษ ซึ่งมีขอบเขตพื้นที่เฉพาะ มีการกะเกณฑ์คนมาต้อนรับ และมีการจัดเตรียมระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดกวดขัน

เรามี “ผู้นำ” ที่สื่อสารทางการเมืองไม่ได้เลย เพราะขาดทักษะในการสร้างความรู้สึกเป็นมิตรกับราษฎร ไม่มีโอกาสไปคลุกคลีรับฟังเรื่องราวปัญหาทุกข์ร้อนของพลเมือง (หรือพอได้รับฟังบ้างเป็นครั้งคราว ก็มักสอน/สวนพวกเขากลับด้วยคำพูดและวิธีคิดที่ขาดความละเอียดลออลึกซึ้ง) ตลอดจนเอ่ยขอโทษประชาชนอย่างง่ายๆ ซื่อๆ จริงใจ ไม่เป็น

แล้วอยู่ดีๆ ชัชชาติที่ยังไม่ได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ ก็เข้ามาแสดงบทบาทให้เราได้ตระหนักว่า คุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับคนเป็นผู้นำข้อไหนบ้างที่ห่างหายไปจากสังคมไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

เพียงแค่ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ในจังหวะสบายๆ โดยยังไม่ทันไปพุ่ง “ชน” อะไร

บุคคลที่พยายามเหนี่ยวรั้ง-ถือครอง “อำนาจ” เอาไว้ในระดับอื่นๆ ก็เริ่มสั่นสะเทือนกันแล้ว

กระทั่ง “อำนาจ-ความชอบธรรม” ที่เหลืออยู่ไม่มากนัก แทบจะปลาสนาการไปอย่างสิ้นเชิงในใจของผู้คน •