จดหมาย

จดหมาย

ประจำวันที่ 27 พ.ค.-2 มิ.ย. 2565 ฉบับที่ 2180

 

จดหมาย

 

• เลือกตั้งผู้ว่าฯ

อีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ได้สำรวจเรื่อง “คนอีสานกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด”

ระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,100 ราย

ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

โดยเมื่อสอบถามว่า “หากจังหวัดของท่านได้รับการกระจายอำนาจและมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ เช่นเดียวกับ กทม. จะเป็นอย่างไร” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 47.9 เห็นว่า มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

รองลงมาร้อยละ 40.5 เห็นว่า มีข้อดีพอๆ กับข้อเสีย

ขณะที่ร้อยละ 11.6 เห็นว่า มีข้อเสียมากกว่าข้อดี

ถามว่า จังหวัดของท่านต้องเตรียมพร้อมที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ เช่นเดียวกับ กทม. กี่ปี

อันดับหนึ่ง ร้อยละ 51.9 เห็นว่า พร้อมภายใน 1-2 ปี

รองลงมา ร้อยละ 31.9 พร้อมภายใน 3-5 ปี

ตามมาด้วยร้อยละ 13.0 พร้อมภายใน 6-10 ปี

และมีเพียงร้อยละ 3.2 ที่คาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 10 ปี

ส่วนจังหวัดใดในภาคอีสานที่ควรเป็นจังหวัดนำร่องในการกระจายอำนาจและเลือกตั้งผู้ว่าราชการ เช่นเดียวกับ กทม. มากที่สุด

อันดับหนึ่ง ร้อยละ 40.3 เห็นว่า ควรเป็นจังหวัดขอนแก่น

รองลงมา ร้อยละ 27.3 ระบุ นครราชสีมา

ร้อยละ 20.0 ระบุ อุดรธานี ร้อยละ 8.4 ระบุ บุรีรัมย์ ร้อยละ 3.6 ระบุ อุบลธานี และร้อยละ 0.4 ระบุ อื่นๆ หรือไม่แน่ใจ

รศ. ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์

หัวหน้าโครงการอีสานโพล

 

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และนายกเมืองพัทยา

ถูกดองมานาน

เมื่อได้เลือกตั้ง จึงคึกคักอย่างที่แลเห็น

พร้อมเกิดคำถามว่าควรจะขยายเพิ่มในอีกหลายๆ จังหวัดหรือไม่

อีสานโพลช่วยมีคำตอบให้ส่วนหนึ่งแล้ว

ส่วนจังหวัดไหนอยากเลือกตั้งผู้ว่าฯ อีก ยกมือขึ้น

 

• ใหม่-เก่า

ผมกลับภูเก็ตเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่า “ของดีที่มีอยู่” ประจำจังหวัดภูเก็ต อายุร่วม 100 ปี คือ รถโพถ้อง กำลังจะอันตรธานหายไปในเร็ววันนี้

เมื่อองค์การบริหารจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) กำลังจะนำเอารถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี เข้ามาแล่นรับส่งผู้โดยสารบนเกาะภูเก็ตแทน

รถโพถ้อง เป็นคำภาษาจีน มีความหมายว่า รถกระบะ ที่ทำด้วยไม้ พบเห็นได้เฉพาะจังหวัดในแถบชายฝั่งทะเลอันดามันบางจังหวัด เช่น ระนอง พังงา และภูเก็ต

รถโพถ้อง เป็นรถโดยสารของชาวภูเก็ตมาตั้งแต่ยุคเหมืองแร่ จนมาถึงยุคท่องเที่ยวในปัจจุบัน

เป็นเอกลักษณ์

เป็นอัตลักษณ์

ของชาวภูเก็ตมานมนานกาเล

ต่อกรณีดังกล่าว ชาวภูเก็ตจะคิดอย่างไร ก็เหลือที่จะเดา

แต่สำหรับผม ซึ่งเห็นและเคยได้สัมผัสมาตั้งแต่เด็ก

รู้สึกเสียดายและใจหาย ที่มันจะต้องหายไปครับ

โพถ้องรถโดยสาร

มีมานานนับร้อยปี

เป็น “ของเก่า” ที่มี

เอกลักษณ์ควรรักษา

เป็นรถประจำถิ่น

คู่แผ่นดิน “ภูเก็ต” มา

ตั้งแต่ครั้งปู่-ย่า

ตาและยายเคยใช้กัน

เป็นรถ “ตัวถังไม้”

นั่ง-ยืนได้สบายครัน

ตกแต่งหลากสีสัน

แล่นว่อนกันอยู่ทั่วเมือง

ราคาค่าโดยสาร

เขตเทศบาลไม่เปลือง

10 บาทจ่ายได้เรื่อง

ไปลงไหนไม่ว่ากัน

นอกเขตเทศบาล

ค่าโดยสารปัจจุบัน

30 บาท “รอบเกาะ” ยัน

ราคานี้หลายปีมา

“นักท่องเที่ยว” ชอบนั่ง

เพราะถูกจังซึ่งราคา

อีกทั้งได้เพลินตา

เพลิงใจในภูมิทัศน์

บัดนี้น่าเสียดาย

มีเป้าหมายให้ “กำจัด”

“โพถ้อง” ต้องพรากพลัด

เกาะ “ภูเก็ต” เสร็จคราวนี้

เพราะผู้บริหาร

ท้องถิ่น ท่านไม่ไยดี

อยากได้ รถอีวี

ใช้ไฟฟ้ามาแล่นแทน

ทำลาย อัตลักษณ์

ซึ่งควรจักเฝ้าหวงแหน

ให้อยู่คู่ดินแดน

ภูเก็ต “ไข่มุกอันดามัน”

สมโชค พลรักษ์

 

ตามไปพลิกอ่านข่าวเรื่องนี้

เห็นว่า อบจ.ภูเก็ต ร่วมกับพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเวทีรับฟังความเห็นแล้ว

ผลออกมาอย่างที่ “สมโชค พลรักษ์” ว่า

โดยนายก อบจ.ภูเก็ตยืนยันว่าการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาแทนรถโพถ้อง ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้

เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและรองรับการเติบโตของภูเก็ต

รวมถึงเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้รถโดยสารของคนภูเก็ต และเป็นการลดมลพิษอีกด้วย

ซึ่งถ้าเป็นเสียงส่วนใหญ่ เชื่อว่า “สมโชค พลรักษ์” ก็คงพร้อมรับฟัง

และว่าที่จริง รถโพถ้อง บางส่วนถ้าได้พัฒนาและอนุรักษ์เป็นรถโพถ้องอีวี

“สมโชค พลรักษ์” คงคลายความคิดถึงลงบ้าง

ทำได้หรือเปล่าไม่รู้

คนภูเก็ตน่าจะพูดคุยกัน

ซึ่งหากภูเก็ต ที่ว่ากันว่าควรมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้แล้ว

หากเป็นเช่นนั้นจริง?

เราคงได้เห็นการดีเบตที่เปิดกว้างกว่านี้ •