สะเก็ดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตกกลางวง 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค สัญญาณเตือน…เวทีเจรจาการค้าโลกล่ม/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

สะเก็ดสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ตกกลางวง 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค

สัญญาณเตือน…เวทีเจรจาการค้าโลกล่ม

 

เหตุการณ์วอล์กเอาต์ของรัฐมนตรีการค้าของสหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่เดินออกจากห้องประชุมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting : MRT) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ในวันเปิดประชุม 21 พฤษภาคม 2565 เกิดขึ้นทันที เมื่อนายแม็กซิม รีเชตนิคอฟ รัฐมนตรีการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย เริ่มกล่าวสุนทรพจน์ ก็เป็นที่รู้กันเพราะต้องการแสดงการประท้วงที่รัสเซียรุกรานยูเครน

ดูเหมือนว่าจะไม่เกินความหมายของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่เข้าร่วมประชุมและเฝ้าติดตามการประชุม

พร้อมกับไม่ได้แปลกใจมากนัก เมื่อเกิดเหตุการณ์ไร้แถลงการณ์ร่วมของสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ในวันปิดการประชุม 22 พฤษภาคม

ผิดธรรมเนียมของการประชุมระดับโลกทำกัน

 

แต่อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุม ก็ต้องออกมาแถลงและยืนยันว่าการประชุมไม่ได้ล้มเหลว

“รัฐมนตรีการค้าเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (เอแบก) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการผลักดันเพื่อกำหนดทิศทางผ่านการแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้วิสัยทัศน์ Open. Connect. Balance และถ้ามีแม้เขตเศรษฐกิจใดเศรษฐกิจหนึ่งเห็นไม่สอดคล้องก็ไม่สามารถประกาศได้ เพราะมีความเห็นไม่สอดคล้องกันเรื่องสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อบางเขตเศรษฐกิจเห็นไม่ตรงกัน ทำให้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ ดังนั้น การประชุมครั้งถัดไปจะใช้ Chair Statement ที่ไทยได้แถลงการณ์นำเข้าสู่ที่ประชุมต่อไป ซึ่งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกร่าง เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วมในการยกร่าง และประกาศเป็นทางการในรูปเอกสารต่อไป”

พร้อมกันนี้ นายจุรินทร์แถลงเพิ่มเติมว่า ในการประชุมการค้าเอเปคครั้งนี้ 21 เขตเศรษฐกิจร่วมหารือเพื่อการหาข้อสรุปร่วมกันในการอยู่ร่วมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 ประเด็นหลัก คือ

1. ขอให้อำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายบุคคลข้ามพรมแดน

2. ขอให้อำนวยความสะดวกการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับระบบโลจิสติกส์ และมีประสิทธิภาพระหว่างกันทั้งภาคเอกชนและธุรกิจที่มีต้องการเป็นพิเศษ

3. สนับสนุนการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะแหล่งทุนห่วงโซ่อุปทานสำหรับภาคการผลิตและภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มเปราะบาง สตรี ผู้ด้อยโอกาส แรงงานและผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

4. เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

5. จับมือขจัดอุปสรรคการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยใช้เศรษฐกิจดิจิตอลให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

6. เน้นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเศรษฐกิจ ผ่าน BCG Model นั่นคือส่งเสริมการเปิดตลาดพลังงานสะอาดต่อไป ทั้งลดปล่อยคาร์บอน และลดการอุดหนุนพลังงานดั้งเดิม

และ 7. สนับสนุนความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานในกลุ่มประเทศเอเปค

ถึงแม้ว่าการประชุมจะไม่ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วม แต่นายจุรินทร์ก็มองว่าไทยปลื้มได้กับความสำเร็จที่บรรลุเป้าหมายการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ถูกหยิบยกมาเป็นไฮไลต์ของการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค 2022 และเปิดตัว 7 ประเด็นให้เกิดการจับมือเดินไปด้วยกัน อยู่ร่วมกันกับโควิดและรับมือจากนี้ในอนาคตต่อไป

โดยคำกล่าวนี้ ก็ถูกลงในถ้อยคำ Chair Statement ที่ไทยส่งถึงสมาชิกเอเปค หลังเปิดฉากเอเปคการค้า!!

 

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวในช่วงการประชุมเอเปค เป็นการตอกย้ำทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหา นำเศรษฐกิจกับการค้าระหว่างประเทศมามัดรวมกัน เป็นเงื่อนไขบังคับแบ่งข้างแบ่งขั้วในทางการเมืองการค้าโลก นั่นคือ ใช้การเมืองนำการค้า สุดท้ายก็โยงไปถึงเศรษฐกิจโลก วันนี้เริ่มเห็นการแยกขั้วชัดเจนขึ้น ด้านหนึ่งนำโดยรัสเซีย-จีน ด้านหนึ่งนำโดยสหรัฐ อีกส่วนคือคงความเป็นกลาง ซึ่งส่วนนี้ก็จะได้ทั้งบวกและลบในขณะเดียวกัน เพราะสามารถเลือกซื้อเลือกขายกับใครก็ได้ แต่ก็วุ่นวายกับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน สกุลเงินการชำระการค้า ทั้งไปสู่ความไม่แน่นอนในทุกด้าน และความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ผลความขัดแย้งเกิดจากรัสเซีย-ยูเครน เชื่อว่าจะยังไม่ชัดเจนอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หวังสิ้นปีนี้จะจบลง ดังนั้น ผลกระทบก็น่าจะเข้มข้นต่อไปเรื่อยๆ ตอนนี้วิตกกันมากคือระบบการค้าจากนี้ ทุกประเทศจะใช้วิธีการหรือมาตรการปกป้องประเทศของตนมากขึ้น ซึ่งเริ่มแล้วจากห้ามส่งออกข้าวสาลี ปาล์มน้ำมัน เหล็ก เป็นต้น ทำให้ทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนและราคาสินค้าแพงหลายเท่าตัว ซึ่งเรื่องนี้คงต้องตามดูว่าองค์การการค้าโลก (WTO) จะมีบทบาทเข้ามาปลดล็อกเรื่องนี้อย่างไร เหมือนทุกวันนี้หลายประเทศทำตามอำเภอใจ อาจขัดระเบียบ WTO หรือไม่”

นอกจากนี้ นักวิชาการคนนี้ยังสะท้อนอีกว่า “แม้เหตุการณ์เกิดในประชุมเอเปค ซึ่งหลักการเพื่อเกิดความร่วมมือ ยังไม่ใช่ข้อผูกพัน แต่ก็ถูกกำหนดจะผลักดันเกิดเป็นความตกลงแบบเอฟทีเอหรือลดภาษีระหว่างและข้อตกลงอื่นๆ กันใน 21 เขตเศรษฐกิจในปี 2040 นับจากปี 2022 ก็ถือว่ายังไกลมาก ถึงวันนั้นแกนกลางโลกเศรษฐกิจไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ฮับเงินสกุลโลกอาจมีสกุลมอสโกและสกุลจีน แข่งขันกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ”

 

พร้อมกันนี้ หลายฝ่ายเริ่มออกมาเตือนกันล่วงหน้า ให้ใช้เหตุการณ์เอเปค ที่ในอดีตเรื่องการค้าจะแยกจากความขัดแย้งทางการเมือง เตรียมรับมือกับเวทีประชุมอื่นๆ โดยเฉพาะการประชุมผู้นำเอเปค ประกอบด้วยออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม ในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนนี้ และกำลังกระทบต่อกรอบการเจรจาที่มีขั้วประเทศคู่ขัดแย้งเป็นสมาชิกอยู่ในขณะนี้ อาจเป็นแค่เสือกระดาษ

หลายฝ่ายจึงมองว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมา จุดเริ่มต้นของภัยมืดต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเราด้วย ทำให้ภาคเอกชนและประชาชน หันไปดูรัฐบาลปัจจุบันและนโยบายรัฐบาลใหม่จากนี้ เตรียมรับมือเรื่องนี้อย่างไร

เพราะแค่ใช้เงินผัน หรือนโยบายผันเงินจากงบประมาณรายจ่าย ครั้งละ 1-2 หมื่นล้านบาท ออกมาเป็นช่วงๆ ไม่อาจตอบโจทย์สกัด “เศรษฐกิจพ้นเหวลึก” ได้ในระยะยาว