ย่านประตูน้ำ / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

ย่านประตูน้ำ

 

อาการข้างเคียงจากการแพร่ระบาดไวรัสมงกุฎ ส่งผลให้ย่านการค้าประตูน้ำซบเซา

ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวทั่วไป บรรดาพ่อค้าแม่ค้าจากหลายประเทศก็ห่างหายไป ทำให้ธุรกิจเสื้อผ้าพร้อมใส่ เพรตอะพอร์เตอร์ Pret a porter ที่เกือบทั้งหมด เป็นกิจการเอสเอ็มอี SMEs ลำบากทั่วหน้า รวมทั้งศูนย์การค้าและร้านค้า ตั้งแต่ราชประสงค์ เพชรบุรี ไปจนถึงราชปรารภ ไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน

คนเจนใหม่อาจตกใจ ไม่คิดว่าจะเห็นสภาพเช่นนี้ คนรุ่นเบบี้บูมอาจไม่ตื่นเต้น เพราะเคยผ่านเหตุการณ์ต้มยำกุ้งมาแล้ว

ส่วนคนรุ่นโบราณจะทำใจด้วยรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลก

 

ย้อนกลับไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)) และพระยาสามภพพ่าย (หนู) ดำเนินการปรับแต่งท้องที่นาหลวง ริมคลองบางกะปิ ทำการขุดสระปลูกบัวและสร้างสิ่งก่อสร้าง สำหรับเป็นที่เสด็จประพาส เมื่อ พ.ศ.2398 อันเป็นที่มาของ นามเรียกขานบริเวณนี้ว่า วัน หรือ วน (ป่า) ปทุม (บัว)

พระที่นั่งประทุมมาภิรมย์ ที่ประทับแรม และวัดปทุมวนาราม ที่เป็นพระอารามหลวง จึงเป็นปฐมบทของการสร้างวังนอกกำแพงพระนคร และการเสด็จประพาสทางชลมารค ในรัชสมัยต่อๆ มา

ในปี พ.ศ.2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างประตูน้ำ ในคลองแสนแสบขึ้น เพื่อปรับระดับน้ำในการสัญจรทางเรือและการเพาะปลูก รวม 3 แห่งคือ ประตูน้ำวังสระปทุมและประตูน้ำบางขนาก และประตูน้ำท่าไข่ ที่แปดริ้ว

สำหรับประตูน้ำวังสระปทุม เป็นประตูน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกว้าง 10 วา (20 เมตร) ยาว 3 เส้น (120 เมตร) ซึ่งในประกาศของกระทรวงเกษตราธิการ ระบุว่า พระอาทรธนพัฒ และสอาดผู้เป็นภรรยา น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินตำบลประทุมวัน เพื่อใช้ในการก่อสร้าง

 

หลังจากเปิดใช้ประตูน้ำ มีเรือจำนวนมากมาจอดเรือรอเข้าหรือออกพระนคร เกิดเป็นตลาดน้ำในคลองแสนแสบในตอนแรก และเป็นชุมชนค้าขายริมฝั่งคลองในตอนหลัง

ต่อมา เมื่อมีการสร้างสะพานเฉลิมโลก 55 ข้ามคลองแสนแสบ ในปี พ.ศ.2452 พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ได้สร้างตลาดนายเลิศขึ้น รวมทั้งท่ารถราง และรถเมล์นายเลิศ ด้วยการสัญจรทางบกเริ่มเป็นที่นิยม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการสร้างตลาดเฉลิมโลก เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ขนาดใหญ่ อีกทั้งโรงภาพยนตร์เฉลิมโลก โรงมหรสพอย่างใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในครั้งนั้น ทำให้ประตูน้ำกลายเป็นย่านการค้าทันสมัยแห่งพระนคร เป็นที่รู้จักไม่แพ้ย่านการค้าเก่าอย่างพาหุรัด สำเพ็ง บางรัก หรือบางลำพู

แต่ความคึกคักของย่านประตูน้ำลดลงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือค้า ร้านค้า และลูกค้าห่างหายไป พื้นที่บางส่วนยังถูกระเบิดกลายเป็นบ่อน้ำและป่าหญ้า

 

จนเมื่อมีการขยายถนนเพชรบุรี ไปจนถึงมักกะสัน พ.ศ.2503 และถนนเพชรบุรีไปจนถึงบางกะปิ ในปี พ.ศ.2509 มีการรื้อตลาดและโรงภาพยนตร์เฉลิมโลก ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมลง สร้างตลาดเฉลิมลาภในรูปแบบสมัยใหม่ขึ้น ตรงหัวมุมถนนเพชรบุรีกับถนนราชปรารภ

ย่านประตูน้ำ จึงหวนกลับมาคึกคักอีกครั้ง ส่งผลให้เกิดโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้น คือ เมโทร และพาราเมาท์ ตามมาด้วย เพชรรามา พอลลี่ และดาด้า ทางด้านตะวันออก ฮอลลีวูด แมคเคนนา เพรสิเดนท์ เอเธนส์ จนถึงโคลีเซี่ยม ทางตะวันตก

โดยเฉพาะศูนย์การค้าอินทรา ศูนย์การค้าสมัยใหม่ ประกอบด้วยโรงแรม อาคารพาณิชย์ ร้านอาหาร และโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่สุด ในปี พ.ศ.2512 ที่มีนาฏศิลป์อินทราแสดงโชว์แบบฝรั่งเศส ก่อนฉายภาพยนตร์ ประตูน้ำในเวลานั้น นับเป็นย่านบันเทิงหรูหราที่สุดของกรุงเทพฯ

ความคึกคักยังต่อเนื่องไปตามถนนเพชรบุรีตัดใหม่ในยุคทหารอเมริกัน และขยายลงมาทางทิศใต้ ต่อเนื่องกับย่านราชประสงค์ และสยาม ในยุคอะเมซิ่งไทยแลนด์

เพียงแต่ว่า หลังสงครามเวียดนาม บรรดาโรงภาพยนตร์และสถานบันเทิง ค่อยๆ เงียบหายไปพร้อมกับทหารอเมริกัน

ในขณะที่ตลาดเฉลิมลาภ แปลงโฉมกลายเป็นศูนย์รวมเสื้อผ้าพร้อมใส่ เป็นที่รู้จักดีของคนกรุงเทพฯ ขยายไปสู่ทั่วประเทศ และมีชื่อเสียงระดับโลก มีลูกค้านานาชาติแวะเวียนมาตลอดปี ทำให้เกิดศูนย์การค้าแพลตตินั่ม พันธุ์ทิพย์ ใบหยก และอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

ส่วนประตูน้ำกลางคลองแสนแสบ ที่ปัจจุบันไม่ปรากฏแล้ว รวมทั้งเรือต่างๆ หายไป แต่ทว่า มีเรือด่วนรับส่งผู้คนมาแทนที่ กลายเป็นระบบขนส่งมวลชนทางน้ำสำหรับคนบางกะปิ

บ้านเมืองนั้น แม้จะเกิด เติบใหญ่คล้ายผู้คนที่อาศัยอยู่ แต่บ้านเมืองส่วนใหญ่จะไม่ลาจาก หากแค่ซบเซาบางช่วง คึกคักบางช่วง หมุนเวียนไปมา ตามจังหวะชีวิตเท่านั้น •