‘มติชนทีวี’ ถามเป็นที่แรก ถ้าเกิด ‘รัฐประหาร’ ‘วิโรจน์-ชัชชาติ’ จะทำอะไร?/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘มติชนทีวี’ ถามเป็นที่แรก

ถ้าเกิด ‘รัฐประหาร’

‘วิโรจน์-ชัชชาติ’ จะทำอะไร?

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม มติชนทีวีและสื่อในเครือมติชน ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “คุณถามมา ผู้สมัครผู้ว่า (กทม.) ตอบ”

โดยคำถามปิดท้ายรายการที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง (และถือเป็นสื่อเจ้าแรกสุดที่ตั้งคำถามเรื่องนี้) ก็คือ คำถามที่ประกอบไปด้วยสามประเด็นย่อยอันเกี่ยวเนื่องกัน

หนึ่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครควรจะรับมืออย่างไรกับการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน?

สอง ผู้ว่าฯ กทม. ควรจะมีท่าทีเช่นใด หากเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลาง (โดยการมอบหมายของรัฐบาล) ใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ?

และสาม ถ้าเกิดการรัฐประหาร ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ควรแสดงจุดยืน-ท่าทีแบบใด?

ขออนุญาตคัดคำตอบของ 2 แคนดิเดตหลัก “ฝ่ายประชาธิปไตย” ได้แก่ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” และ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มานำเสนอ ดังต่อไปนี้

วิโรจน์ตอบคำถามด้วยอารมณ์ดุดันเดือดดาล มุ่งชนเน้นปะทะ และทะลุทะลวงไปถึงเบื้องลึกของปัญหาเช่นเคย ว่า

“ผมคิดว่าเรื่องห้องน้ำ กล้องวงจรปิด เพื่อสนับสนุนการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ผมว่าเป็นเรื่องเบสิก (พื้นฐาน) ที่ผมคิดว่าทุกคนต้องยืนยันอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครต้องทำมากกว่านั้นให้ได้

“ผมตั้งคำถามว่า พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ที่ผ่านมาเอาไปบังคับใช้กับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมใช่ไหม? เขาไปติดกระด่งกระดาษอะไร คุณใช้กับเขาใช่ไหม?

“แล้วไอ้คนที่มันเอาตู้คอนเทนเนอร์มาขวางประชาชน เอาลวดหนามหีบเพลงมาขวางการเดินเท้าของประชาชน ผู้ว่าฯ ต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด กับคนพวกนั้นด้วย นี่คือความเป็นธรรมใน พ.ร.บ.รักษาความสะอาด

“และที่ผ่านมาลวดหีบเพลงไม่เคยเก็บ มีพลเมืองดีไปเก็บให้ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาอีกว่าลักทรัพย์ของทางราชการ ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมจะเอาเทศกิจไปเก็บให้แล้วคืนกองทัพ ไม่ใช่มาวางเกะกะแบบนี้ แล้วคนที่เดินเท้าก็เดือดร้อนใช่ไหม? บอกอยากจะคืนทางเท้าใช่ไหมล่ะ? แล้วเอาลวดหนามหีบเพลงมาวางอย่างนี้เหรอ?

“มีอีก บีทีเอสหยุดทำไม? ที่เป็นหนี้อยู่สามหมื่นเจ็ดพันล้านนี่ยังไม่สา (แก่ใจ) เหรอ? จะหยุดแล้วยังจ่ายค่าปรับเขาเหรอ? และผมบอกว่าบีทีเอสหยุดเป็นอันตรายด้วยซ้ำไป

“คุณหมายจะให้ใครใส่ชุดลายพรางไปส่องยิงประชาชนแบบที่เคยทำมาหรือเปล่า? นี่คือเรื่องที่ผู้ว่าฯ ยอมไม่ได้ และจะไม่ยอมให้ใครใช้กระสุนจริงเป็นแสนนัด ปักป้ายว่าเขตกระสุนจริง และยิงสังหารประชาชนใจกลางเมืองหลวงอีกแล้ว เรื่องที่สำคัญคือการใช้สถานที่ ต้องโปร่งใส ตรวจอาวุธ บอกมาเลยว่าคุณจะทำอะไร

“และถ้าเกิดมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ผู้ว่าฯ เป็นอะไร? ผู้ว่าฯ เป็นประชาชน การลุกขึ้นสู้ของประชาชนจะต้องมีผู้ว่าฯ ที่ชื่อวิโรจน์ยืนเคียงข้างและปกป้องความยุติธรรมให้กับประชาชนแน่นอน”

ทางด้านชัชชาติยังคงสไตล์เดิม คือการเน้นไปที่กระบวนการ “ดูแลรักษา” หรือ “แก้ไขปัญหาเป็นหลัก” ผ่านคำตอบว่า

“ประเด็นแรก การชุมนุม ผมว่าหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. ต้องดูแลคนกรุงเทพฯ ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะคิดเห็นอย่างไร คิดต่างกับรัฐบาลอย่างไร เพราะนั่นคือคนที่เลือกเรามา

“ผมว่าถ้ามีชุมนุมบนท้องถนน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราไม่ได้เป็นผู้บังคับใช้ดูแล แต่เราต้องอำนวยความสะดวก ตั้งแต่เรื่องเก็บขยะ ห้องน้ำ น้ำดื่ม แพทย์ฉุกเฉิน กล้องซีซีทีวี ความปลอดภัยต้องดูแลให้เต็มที่ ผมว่านั่นคือสิ่งพื้นฐานเลย

“มีอันหนึ่งที่เราพูดไว้ จริงๆ แล้ว กทม.ก็ควรจะเตรียมพื้นที่ที่ชุมนุมสาธารณะไว้ด้วย ตามมาตรา 9 ซึ่งอันนี้มันจะสะดวกอย่างหนึ่ง คือถ้าประชาชนอยากชุมนุมไม่ต้องไปขออนุญาตตำรวจ เช่น เราจัดลานคนเมืองไว้ มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ บอกว่าทางราชการสามารถกำหนดพื้นที่ให้คนมาชุมนุมได้ ถ้ามีแล้ว เวลาชุมนุมไม่ต้องไปขออนุญาตตำรวจ มาชุมนุมได้เลย

“จริงๆ แล้วถ้าเราจัด (พื้นที่) พวกนี้กระจายไป กรณีที่ไม่รุนแรง ประชาชนอาจมาคุยได้เลย ไม่ต้องไปขออนุญาต มีปัญหาอะไรอย่างนี้ แต่ถ้ามาชุมนุมบนพื้นที่อื่น กทม.ต้องดูแล

“ถ้ามีเหตุการณ์ปราบ หน้าที่ กทม. คือแพทย์ทั้งหมดของ กทม.ต้องเตรียมพร้อม ต้องดูแลประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บทันที โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อม หมอทั้งหมดต้องออกมา รถพยาบาลทุกหน่วยฉุกเฉินต้องเต็มที่

“เพราะหน้าที่เราไม่ใช่ดูแลทหารหรือดูแลคนที่ล้อมปราบประชาชน ต้องดูแลประชาชน ต้องดูแลเขายิ่งกว่าสิ่งใด เพราะเขาเป็นด่านแรกที่เราต้องเข้าไปดูแล

“อันที่สาม ปฏิวัติ อันนี้ก็ล้อผมรึเปล่าเนี่ย? เพราะว่าจริงๆ แล้ว 22 พฤษภาฯ นี่คือครบรอบปฏิวัติ แปลกดี เลือกตั้งแล้วครบรอบ แล้วผมก็อยู่ในเหตุการณ์เลย

“ต้องบอกว่าเราไม่สนับสนุนการปฏิวัติแล้ว ยืนอยู่ข้างประชาชนครับ แต่ถามว่าเราจะลาออก (จากตำแหน่งผู้ว่าฯ) ไหม? ต้องดูแลประชาชน ถ้าเกิดเขา (รัฐบาล) ทำอะไรที่มันผิดหรือว่าทำร้ายประชาชน สุดท้าย ต้องมายืนข้างประชาชนเหมือนคุณวิโรจน์… สุดท้ายต้องยืนข้างประชาชน ทุกอย่างเราไม่สนับสนุนเพราะว่ามันผิดขั้นตอนของประชาธิปไตย

“สุดท้าย ผู้ว่าฯ ก็ต้องยืนเคียงข้างประชาชน ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น”

น่าสังเกตว่าบน “จุดร่วม” ที่ต่างฝ่ายต่างฟันธงว่า ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ต้องยืนเคียงข้างประชาชนท่ามกลางสถานการณ์รัฐประหาร

“จุดต่าง” รางๆ ที่ปรากฏขึ้นก็คือ วิโรจน์เน้นย้ำไปยังความทรงจำบาดแผลของ “คนเสื้อแดง” เมื่อปี 2553 และประสบการณ์ที่ “ม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่” ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในต้นทศวรรษ 2560

ขณะที่ชัชชาติสะท้อนมุมมองผ่านการเป็นอดีตตัวแทนคณะรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งถูกประกาศ “ยึดอำนาจ” กลางวงประชุมเพื่อหาทางออกให้ประเทศเมื่อปี 2557

นอกจากนั้น ผู้สมัครผู้ว่าฯ ของพรรคก้าวไกล ยังประกาศว่าหากเกิดรัฐประหารขึ้น เขาจะออกมาร่วมต่อต้านต่อสู้ในฐานะประชาชนคนหนึ่งโดยทันที

แตกต่างจากผู้สมัครอิสระตัวเต็งอันดับหนึ่ง ที่ยืนยันว่าเขาต้องต่อสู้ผ่านการใช้อำนาจ-หน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ถึงที่สุดเสียก่อน

นี่คือ 2 แนวคิดและ 2 วิถีทางการต่อสู้แบบ “ประชาธิปไตย” ที่ดำเนินไปในศึกชิงตำแหน่งผู้นำเมืองหลวง