ชนชั้นกลางกับการเมืองบนท้องถนน ในเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ 2535’

ในวาระที่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ 2535” ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 เวียนมาอีกครั้ง ผู้เขียนได้ย้อนกลับไปทบทวนความทรงจำด้วยการอ่านแฟ้มข่าวที่ “ศูนย์ข้อมูลมติชน” จัดเก็บคัดแยกเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะ

เป็นข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองจากหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน จนถึงต้นเดือนมิถุนายน 2535 อัดแน่นอยู่ในแฟ้มหนาเตอะถึง 5-6 แฟ้ม

ตามด้วยการอ่านบทความของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่หลายตอนใน “มติชนสุดสัปดาห์” แล้วมาพิมพ์รวมเล่มในเดือนพฤศจิกายน 2536 โดยสำนักพิมพ์มติชน ใช้ชื่อหนังสือว่า

“ม็อบมือถือ” : ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับการพัฒนาประชาธิปไตย

เหตุการณ์นี้นับว่า “ชนชั้นกลาง” ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง “บนท้องถนน” อย่างมากมายที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้

ชนชั้นกลางในขณะนั้น น่าจะเป็นผู้ที่เกิดระหว่างปี 2490-2500 ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศนับแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่องถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร

และเริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศในยุคสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผ่านทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เปิดบทบาทให้ภาคเอกชนได้มีโอกาสเสนอแนะความคิดเห็นต่างๆ ในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีทั้ง กรอ.ระดับประเทศ และระดับจังหวัด

เมื่อเข้าทศวรรษ 2530 ชนชั้นกลางในพื้นที่ภูมิภาคก็เริ่มเติบโตและมีบทบาทต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละจังหวัด โดยมีหอการค้าจังหวัดเป็นองค์กรนำ ขณะที่บทบาทของกลุ่มคนรุ่น “ลูก” ต่อธุรกิจของครอบครัวก็เพิ่มมากขึ้น มีการโอนถ่ายอำนาจการบริหารธุรกิจของครอบครัวมายังรุ่นลูกซึ่งอยู่ในวัยอายุ 30-40 ปีมากขึ้น

ในขณะที่ด้านทางการเมือง ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 ต่อเนื่องถึงทศวรรษ 2530 เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2522 ชนชั้นกลางไม่ตื่นเต้นกับประชาธิปไตยที่กลับมาอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

หากแต่เริ่มเบื่อหน่ายกับนักการเมืองในระบบเลือกตั้งที่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ทุจริตโกงกิน คอร์รัปชั่น เล่นพรรคเล่นพวก แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของนักวิชาการและสื่อส่วนใหญ่ในขณะนั้น

การเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อปี 2524 มีการซื้อเสียงกันเอิกเกริก จนถูกขนานนามว่า “โรคร้อยเอ็ด”

ในช่วงรัฐบาล พล.อ.เปรม ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นคนมือสะอาด ทำให้ชนชั้นกลางไม่วิตกกังวลต่อการทุจิตคอร์รัปชั่นมากนัก จนกระทั่ง พล.อ.เปรมวางมือ และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก้าวเข้าสู่บัลลังก์นายกรัฐมนตรี

แม้ว่าตัวรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล พล.อ.ชาติชายส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่ในมุมมองของชนชั้นกลางค่อนข้างกังวลในเรื่องคุณธรรมและความซื่อสัตย์

ทําให้การรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 มีชนชั้นกลางบางส่วนไม่คิดจะต่อต้าน แถมบางคนยังเห็นด้วย เนื่องจากการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ตลอดเวลา 2 ปีกว่า ได้รับฉายาว่า “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต”

ชนชั้นกลางค่อนข้างพอใจกับคณะรัฐประหารที่ประกาศว่า เข้ามาเพื่อให้ “ประชาธิปไตยเข้ารูปเข้ารอยและสะอาดบริสุทธิ์ขึ้น”

นอกจากนั้น ยังมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ทำการอายัดและตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย จำนวน 23 คน

คณะ รสช. ไม่เซ็นเซอร์สื่อ ไม่มีการยุบพรรคการเมือง และยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกในเวลาต่อมาไม่นาน พร้อมสัญญาว่าเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจะจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ที่สำคัญก็คือ คณะรัฐประหารไม่เข้าเป็นรัฐบาล แต่แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในชุดของนายอานันท์ก็ถูกอกถูกใจชนชั้นกลางมากเพราะเต็มไปด้วยเทคโนแครตที่มีความสามารถ

แต่แล้วชนชั้นกลางก็เริ่มจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกจะไม่ปกติ จากการอาศัยกลไกของรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเอื้อให้ทหารเข้ามาสู่รัฐสภาได้โดยไม่ต้องลาออกจากราชการ อีกทั้งมีการจัดตั้ง “พรรคสามัคคีธรรม” มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค โดยแกนนำพรรคส่วนหนึ่งมีชื่อเสียงไม่ดีทางด้านการทุจริต และมีความใกล้ชิดกับแกนนำ รสช. ทำให้ถูกมองว่า พรรคนี้จะเป็นฐานอำนาจให้แกนนำคณะรัฐประหารเข้าสู่การเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ

ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศเริ่มถดถอยโดยชนชั้นกลางเชื่อว่า มาจากการทำรัฐประหาร

ในปลายปี 2534 นักวิชาการ นักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้กลุ่มชนชั้นกลางเข้าร่วมความเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วย

กระทั่งเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปลายเดือนมีนาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรมได้รับเลือกเข้ามามากสุด เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรค จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร รองหัวหน้า คณะ รสช. ก็ประกาศกับสื่อหลายครั้งว่า จะไม่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่ทว่าโฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์ว่า นายณรงค์อยู่ในบัญชีดำของสหรัฐ เนื่องจากพัวพันกับนักค้ายาเสพติด

พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 เมษายน 2535 พร้อมกับวาทกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

และนั่นเป็นชนวนสำคัญให้เกิดการอดข้าวประท้วงและการชุมนุมขับไล่ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนที่มาจากการเลือกตั้งในเวลาต่อมา

ชนชั้นกลางที่เข้าร่วมคัดค้าน พล.อ.สุจินดาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคนวัยอายุ 30-40 ปี พวกเขากำลังเติบโตในหน้าที่การงานและเริ่มมีกำลังทรัพย์สะสมจากการที่เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปลายทศวรรษ 2520 ต่อเนื่องถึงต้นทศวรรษ 2530 บางคนเป็นผู้บริหารในธุรกิจเอกชน บางคนเป็นเจ้าของกิจการตั้งแต่ขนาดย่อมไปจนถึงขนาดธุรกิจหลักร้อยล้านบาท

และหลายคนรวยขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเล่นหุ้น ที่ช่วงต้นทศวรรษ 2530 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเติบโตขึ้น มีบริษัทเข้าจดทะเบียนเป็นสมาชิกกันเป็นจำนวนมาก

สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยออกสำรวจผู้เข้าร่วมชุมนุมพบว่า เป็นผู้มีอายุ 20-29 ปี จำนวนร้อยละ 49.5 และมีอายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 36.5

เป็นเจ้าของกิจการธุรกิจ ร้อยละ 13.7 เป็นลูกจ้างพนักงานธุรกิจเอกชน ร้อยละ 45.7 เป็นข้าราชการ ร้อยละ 14.8 และเป็นนักศึกษา ร้อยละ 8.4 โดยผู้ร่วมชุมนุมร้อยละ 45.4 มีรายได้ 10,000-49,000 บาทต่อเดือน

ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการธุรกิจหลายคน นอกจากจะเข้ามาร่วมชุมนุมด้วยแล้ว ยังอนุญาตให้พนักงานในกิจการของตนเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย บางรายจัดรถรับส่งไปจนถึงที่ชุมนุมเลย บางรายบริจาคเงินจำนวนมากเพื่ออาหารน้ำดื่มแจกผู้ร่วมชุมนุม

แม้ว่าภายหลังจากที่เริ่มมีการปะทะกันในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 อันทำให้คนชั้นกลางถอยออกไปจากที่ชุมนุม แต่พวกเขาก็ไปเคลื่อนไหวต่อในด้านการใช้เครื่องมือติดต่อสื่อสาร อาทิ โทรศัพท์ โทรสาร เพื่อต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อฝ่ายรัฐบาล

การจับกุมและปะทะกันอย่างรุนแรงในวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2535 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ต้องเรียกประชุมในวันที่ 29 พฤษภาคม 2535 และออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ พร้อมกับแสดงความไม่เห็นด้วยหากจะมีการรัฐประหารขึ้นมาอีก

นับเป็นครั้งแรกที่สามองค์กรสูงสุดของภาคธุรกิจเอกชนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งแสดงว่า กลุ่มทุนใหญ่ของประเทศก็ไม่ยอมรับรัฐบาลที่นำโดยคณะทหารอีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ดี มีมุมมองที่น่าสนใจจากบทความของ ดร.เอนก กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ในสายตาของชนชั้นกลางไทยนั้น ทหารที่ทำรัฐประหารไม่ได้เลวร้ายไปกว่านักการเมืองที่ฉ้อฉล คดโกง หรืออาจจะเลวน้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สำหรับชนชั้นกลางแล้ว ความชอบธรรมของระบอบการปกครองหนึ่งๆ ไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะกระบวนการในการได้อำนาจนั้นมา (จะเป็นการเลือกตั้งหรือรัฐประหารก็ไม่ต่างกันมากนัก) หากกลับอยู่ที่การกระทำของรัฐบาล (ความซื่อสัตย์สุจริตและผลงานที่มีประสิทธิภาพ) มากกว่า”

ดูเหมือนว่า ประเด็นนี้จะมีคำตอบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางเมืองในช่วงปี 2548-2549 และปี 2556-2557