‘มติชนทีวีโพล’ รอบสอง ‘ชัชชาติ’ ขับเคี่ยว ‘วิโรจน์’ สูสี/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘มติชนทีวีโพล’ รอบสอง

‘ชัชชาติ’ ขับเคี่ยว ‘วิโรจน์’ สูสี

 

ระหว่างวันที่ 27 เมษายน ถึง 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา มติชนทีวีร่วมกับพันธมิตรสื่อเครือมติชน เพิ่งจะทำโพลสำรวจความเห็นของผู้อ่าน-ผู้ชมข่าวออนไลน์ในประเด็น “คุณจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.?” และ “คุณจะเลือกผู้สมัคร ส.ก. จากพรรค/กลุ่มการเมืองใด?” เป็นรอบที่สอง

โดยมีผู้ร่วมตอบคำถามกว่า 9 พันคน

ในคำถามหลักข้อแรก “คุณจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.?” มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามออนไลน์รวมทั้งสิ้น 9,607 คน

ผลปรากฏว่า แคนดิเดตที่ได้คะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ยังได้แก่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” (อิสระ) 40.05 เปอร์เซ็นต์

อันดับสอง คือ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” (ก้าวไกล) 37.36 เปอร์เซ็นต์

อันดับสาม คือ “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” (ประชาธิปัตย์) 11.74 เปอร์เซ็นต์ อันดับสี่ “น.ต.ศิธา ทิวารี” (ไทยสร้างไทย) 7.91 เปอร์เซ็นต์

อันดับห้า “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” (อิสระ) 0.75 เปอร์เซ็นต์ อันดับหก “รสนา โตสิตระกูล” (อิสระ) 0.71 เปอร์เซ็นต์ และอันดับเจ็ด “สกลธี ภัททิยกุล” 0.30 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ มีผู้ระบุว่า “ยังไม่ตัดสินใจ” จะเลือกผู้สมัครรายใด 0.88 เปอร์เซ็นต์ และจะเลือก “ผู้สมัครรายอื่นๆ” 0.29 เปอร์เซ็นต์

สําหรับคำถามข้อที่สอง “คุณจะเลือกผู้สมัคร ส.ก. จากพรรค/กลุ่มการเมืองใด?” มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามออนไลน์รวม 9,449 คน

ผลปรากฏว่า พรรคการเมืองที่ได้คะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ยังคงเป็นพรรคก้าวไกล 42.39 เปอร์เซ็นต์

ที่ตามมาในอันดับสอง คือ พรรคเพื่อไทย 32.52 เปอร์เซ็นต์

อันดับสาม พรรคประชาธิปัตย์ 11.55 เปอร์เซ็นต์ อันดับสี่ พรรคไทยสร้างไทย 8.69 เปอร์เซ็นต์ อันดับห้า พรรคพลังประชารัฐ 0.60 เปอร์เซ็นต์ และอันดับหก กลุ่มรักษ์กรุงเทพ (ทีมอัศวิน) 0.51 เปอร์เซ็นต์

โดยมีผู้ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจเลือกพรรค/กลุ่มใด 2.78 เปอร์เซ็นต์ และจะเลือกพรรค/กลุ่มอื่นๆ 0.96 เปอร์เซ็นต์

มีจุดน่าวิเคราะห์อยู่ 3-4 ประเด็น จากผลการสำรวจความคิดเห็นในรอบที่สองนี้

เริ่มจากประเด็นแรก คือ ระยะห่างที่แคบลงระหว่างชัชชาติกับวิโรจน์

หากเทียบกับ “มติชนทีวีโพล” รอบแรก ที่สำรวจความเห็นแฟนข่าวออนไลน์ระหว่างวันที่ 11-18 เมษายน และมีผู้ตอบคำถามว่า “คุณจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.?” จำนวน 7,930 คน

คราวนั้น ชัชชาติได้รับคะแนนนิยม 54.31 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวิโรจน์ได้คะแนนนิยม 33.83 เปอร์เซ็นต์ หรือมีช่องว่างที่ห่างกันเกิน 20 เปอร์เซ็นต์

ทว่า ในโพลรอบล่าสุด คะแนนนิยมของชัชชาติลดลงเหลือ 40.05 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับวิโรจน์ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 37.36 เปอร์เซ็นต์ หรือมีระยะห่างไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์

ปัจจัยหลักของความเปลี่ยนเปลี่ยนข้อนี้ น่าจะอยู่ตรงที่ว่าเมื่อแคมเปญหาเสียงเดินหน้าไปเรื่อยๆ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. รายอื่นๆ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนมากยิ่งขึ้น ผ่านการเดินหาเสียง และการสื่อสารนโยบายต่อสาธารณชนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วม (หรือไม่เข้าร่วม) เวทีดีเบตของสื่อมวลชนหลากหลายสำนัก

จึงไม่แปลกอะไรที่ก้อนเค้กคะแนนของผู้ออกสตาร์ตก่อนอย่างชัชชาติ จะมีขนาด/สัดส่วนที่เล็กลงเป็นธรรมดา

ประเด็นที่สอง ในคำถามหมวด ส.ก. คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลยังนำหน้าพรรคเพื่อไทย

โดยในโพลรอบแรก (ซึ่งมีผู้ตอบคำถามข้อสองจำนวน 7,856 คน) ก้าวไกลได้คะแนนนิยมไป 45.07 เปอร์เซ็นต์ ทิ้งห่างพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนน 37.03 เปอร์เซ็นต์ ไปราว 8 เปอร์เซ็นต์

มาถึงโพลรอบสองที่มีกลุ่มตัวอย่างมากขึ้นเกือบ 1,600 คน พบว่าคะแนนนิยมของทั้งสองพรรคต่างลดลงเล็กน้อย คือ มีผู้ตอบว่าจะเลือกผู้สมัคร ส.ก.พรรคก้าวไกล 42.39 เปอร์เซ็นต์ และจะเลือกผู้สมัคร ส.ก. พรรคเพื่อไทย 32.52 เปอร์เซ็นต์

ระยะห่างจึงถ่างกว้างขึ้นกลายเป็นเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์

อาจสรุปได้ว่าจุดแข็งจริงๆ ของก้าวไกลนั้นยังอยู่ที่ทีมผู้สมัคร ส.ก. (มากกว่าแคนดิเดตผู้ว่าฯ) และมีแนวโน้มสูงว่า โหวตเตอร์ฝั่งประชาธิปไตยที่ติดตามข่าวสารในโลกออนไลน์จะกากบาทเลือกผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพฯ ของพรรคก้าวไกลมากกว่าเพื่อไทย

 

ประเด็นที่สาม คะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นมาของสุชัชวีร์และพรรคประชาธิปัตย์ในผลโพลรอบสองนั้นน่าจับตา

ในผลโพลรอบแรก สุชัชวีร์มีคะแนนนิยม 2.88 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในอันดับสี่ ตามหลัง น.ต.ศิธา อันดับสาม ที่ได้คะแนนนิยม 4.96 เปอร์เซ็นต์

แต่ในโพลมติชนทีวีรอบหลัง คะแนนของ ดร.เอ้ กระโดดพุ่งขึ้นไปเป็น 11.74 เปอร์เซ็นต์ เบียด น.ต.ศิธา ซึ่งได้รับคะแนนนิยม 7.91 เปอร์เซ็นต์ ตกลงไปเป็นอันดับสี่

ความแปรผันตรงจุดนี้ยังล้อไปกับคะแนนนิยมในคำถามที่สองเรื่อง ส.ก.

ซึ่งในโพลรอบแรก ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าจะเลือกผู้สมัคร ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ 2.38 เปอร์เซ็นต์ ตามหลังพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งได้คะแนนนิยม 6.64 เปอร์เซ็นต์

ทว่า ในโพลรอบนี้ พรรคประชาธิปัตย์พลิกกลับขึ้นมาเป็นอันดับสามด้วยคะแนนนิยม 11.55 เปอร์เซ็นต์ นำหน้าพรรคไทยสร้างไทยที่ได้คะแนน 8.69 เปอร์เซ็นต์

มีความเป็นไปได้ว่าในการสำรวจความเห็นรอบที่สองนั้น มีกลุ่มคนที่สนับสนุน ดร.เอ้ และพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาร่วมตอบแบบสอบถามเป็นจำนวนมาก จนส่งผลต่อคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นของทั้งบุคคลและพรรค

จุดน่าสนใจอีกข้อ คือ ถ้าเชื่อว่าผู้ติดตามข่าวสารเครือมติชนส่วนใหญ่ มีอุดมการณ์อยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยไล่ไปถึงขวา-กลาง ก็เป็นไปได้ว่าสำหรับพลเมืองกลุ่มนี้ ตัวเลือกอย่างสุชัชวีร์นั้นมีภาษีดีกว่า พล.ต.อ.อัศวิน และสกลธี หรือไม่?

สุดท้าย แม้สุชัชวีร์และผู้สมัคร ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ จะลงสนามเลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้ ท่ามกลางมรสุมข่าวอื้อฉาวด้านลบที่ซัดสาดเข้าหาพรรคอย่างไม่หยุดหย่อน แต่หากเชื่อตามผลโพล ก็คล้ายว่ามรสุมทางการเมืองดังกล่าว อาจไม่ส่งผลกระทบต่อ ดร.เอ้ และทีมงานมากนัก

 

ในประเด็นปิดท้าย ถ้าเราตีความว่าผลคะแนนในมติชนทีวีโพลทั้งสองรอบคือภาพจำลองของโหวตเตอร์กรุงเทพฯ “ซีกหนึ่ง”

คำถามต่อเนื่อง คือ แนวโน้มการลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในกรุงเทพฯ “อีกซีก” นั้นมีลักษณะ-กระบวนการเป็นอย่างไร?

สัดส่วนระหว่างทั้ง “สองซีก” ยังมีลักษณะเป็น “ครึ่งต่อครึ่ง” หรือว่า “ซีกใด” มีปริมาณ/พลังมากกว่า “ซีกที่เหลือ”?

คำตอบอันกระจ่างชัดจะไปปรากฏในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565