จากโตเกียวถึงกรุงเทพฯ/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

จากโตเกียวถึงกรุงเทพฯ

 

ผู้นำญี่ปุ่นกระทุ้งให้อินโดนีเซีย เวียดนามและไทย มีจุดยืนอยู่ในไลน์ญี่ปุ่นเรื่องสงครามยูเครน ในขณะที่เสนอดีลการลงทุนและความมั่นคงให้ด้วย เส้นทางการทูตนี้เป็นแบบแผนตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว สมัยนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ (Shinzo Abe) ปลายปี 2012 และสมัยนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สึงะ (Yoshihide Suga) ปี 2020 การเดินทางเยือนอาเซียนของอดีตสองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ปูทางดีลการลงทุนและความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน

คราวเยือนอาเซียนอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีอาเบะกล่าวปราศรัยเมื่อปี 2013 ไว้ว่า1

“…ทำอย่างไรให้ญี่ปุ่นและอาเซียนก้าวไปไกลกว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ให้รับผิดชอบความมั่นคงของภูมิภาค…”

จากนั้น ญี่ปุ่นไม่เคยหันมองไปข้างหลังอีกเลย เขาฟูมฟักพันธมิตรอย่างรอบด้าน ด้วยความใส่ใจต่อประเทศในภูมิภาค

 

นายกฯ คิชิดะกับภารกิจใหม่

เดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นจัดประชุมครั้งแรก “Two Plus Two” dialogue กับฟิลิปปินส์ประเทศคู่เจรจาที่โตเกียว ตกลงความผูกพันด้านความมั่นคง รวมทั้งการลงนามในข้อตกลงใหม่ Acquistion and Cross Servicing Agreement (ACSAs)

การเยือนอาเซียนล่าสุดของนายกรัฐมนตรีคิชิดะมีเป้าหมาย โดยเฉพาะกับประเทศที่นั่งอยู่บนรั้ว ประเทศที่ปฏิเสธการใช้สถานะของตนต่อการกระทำของรัสเซียในยุโรป หรือต่อจีนที่รุกเข้าน่านน้ำคนอื่น ที่สำคัญ อินโดนีเซียปัจจุบันเป็นประธาน G 20 ในขณะที่ไทยปัจจุบันเป็นประธานการประชุม APEC รัสเซียมีที่นั่งอยู่ในแพลตฟอร์มพหุภาคีทั้งสองอันนี้

นายกรัฐมนตรีคิชิดะพบกับประธานาธิดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) อินโดนีเซีย ทั้งสองไม่เพียงพูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งสองยังพูดคุยเรื่องที่กว้างขึ้นคือ ประเด็นยุทธศาสตร์ในอินโด-แปซิฟิก ด้วยการกระทำอย่างมั่นใจโดยไม่ปิดบังของจีน จีนแสดงความมุ่งมั่นต่อทะเลเอเชีย ดังนั้น ทั้งญี่ปุ่นและอินโดนีเซียยืนยันความผูกพันของตนต่อระเบียบภูมิภาคที่อิงพื้นฐานของกฎหมาย (rules-based regional order) อันเกี่ยวกับ Free and Open Indo-Pacific (FOIP) ของญี่ปุ่น รวมทั้ง ASEAN Outlook on the Indo-Pacific-AOIP

แล้วเหมือนกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียยังมีการพูดคุย “Two plus Two” กับญี่ปุ่น ท่ามกลางความผูกพันทวิภาคีด้านความมั่นคง

 

ที่นี่กรุงเทพฯ

นายกรัฐมนตรีคิชิดะเดินทางมาเยือนและเข้าพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมของไทยช่วงเย็นวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ใช้เวลาในรัฐพิธีไม่นานนัก ทั้งทำความเคารพทหารกองเกียรติยศ ก่อนงานเลี้ยงอาหารค่ำที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพ ทั้งสองฝ่ายลงนามสำคัญ 3 ฉบับได้แก่

หนังสือแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น

ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้โครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับรับมือกับสถานการณ์โควิด-19

แล้วนายกรัฐมนตรีแดนอาทิตย์อุทัยก็ไปเยือนอิตาลีและอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ความสั้นของเวลากลับทรงคุณค่า และเป็นจุดชี้ชัดถึงบทบาทที่เปลี่ยนไปของญี่ปุ่นด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียและในโลกอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีคิชิดะกระทุ้งผู้นำไทย เหมือนกระทุ้งผู้นำฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเวียดนาม แต่กระทุ้งเพียงเบาๆ ทางการไทยก็เอ่ยเป็นครั้งแรกแล้วว่า2

“…ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมมือช่วยเหลือมนุษยธรรมต่อยูเครน และค้ำจุนระเบียบภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกภายใต้พื้นฐานกฎหมาย…”

แล้วระหว่างพบปะกัน ทั้งสองฝ่ายวิจารณ์อ้อมๆ พวกเขาจะไม่อดทนอดกลั้น รอยตะเข็บใดๆ ของอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนในภูมิภาคใดๆ น่าจะหมายถึงจีนมั้ง แต่กระซิบเบาเหลือเกิน

นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของชาติขี้เกรงใจ ที่น่าติดตามไม่น้อย เพราะแม้ว่าไทยมีสนธิสัญญาพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ไทยมีท่าทีเหมือนกับอินโดนีเซีย แต่ไม่เหมือนกับเวียดนาม กล่าวคือ โดยทั่วไปไทยเป็นมิตรกับจีน บ่อยครั้งไทยได้ปฏิเสธการวิจารณ์อย่างเปิดเผยต่อความก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้

 

ถอดรหัส

ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยี หมายความถึงอะไรกันแน่

หมายถึง การส่งมอบยุทโธปกรณ์กับเทคโนโลยีของญี่ปุ่นให้กับไทย

หรือหมายถึง ไทยจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนการฝึกผสมร่วมทางทหารและยุทธศาสตร์ การแลกเปลี่ยนบุคลากรเจ้าหน้าที่ทางทหาร ฝึกอบรม เรียน ในสถาบันการศึกษาทางทหารและความมั่นคงของญี่ปุ่น

สำคัญมาก A New Japan-Thailand Acquistion and Cross Servicing Agreement-ACSAs ACSAs แต่เดิมเป็นการเจรจาทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกากับพันธมิตร NATO หรือพันธมิตรผสมที่อนุญาตให้แลกเปลี่ยน รูปแบบที่เหมือนกันของการสนับสนุน รวมทั้งอาหาร เชื้อเพลิง เสื้อผ้า บริการสื่อสาร ยารักษาโรค การขนส่ง อะไหล่/อุปกรณ์ กระสุนและอุปกรณ์ การฝึก

แน่นอน ความตกลงนี่ไม่มีการผูกพันทางทหารใดๆ ASCAs ยังปรากฏในประเทศที่ 3 ทั้งญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลีได้วางแบบ ACSAs กับประเทศอื่นๆ นอกเหนือสหรัฐอเมริกาด้วย

 

ACSA ของญี่ปุ่น

ที่น่าสนใจ กำลังมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ด้านความมั่นคงของญี่ปุ่น กล่าวโดยย่อ ด้วยการเผชิญหน้าอย่างสำคัญหลายอย่าง เช่น โอกาสความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี การต่อสู้กันเล็กน้อยในทะเลตะวันออกและทะเลจีนใต้ การบังคับคืนกลับไต้หวันด้วยการบีบบังคับของจีน

อย่างไรก็ตาม ด้วยการสนับสนุนและเสถียรภาพของรัฐบาลอาเบะ เอื้อให้มีการเปลี่ยนแปลงความมั่นคงของญี่ปุ่น เช่น กองกำลังป้องกันตนเอง (Self Defense Force-SDF) ที่ก่อตั้งมาเมื่อปี 1954 ด้วยข้อจำกัดและความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ (eco system) ด้านความมั่นคง รัฐบาลอาเบะจึงก่อตั้ง National Security Council ปี 2013 ซึ่งรวมศูนย์ความรับผิดชอบด้านนโยบายความมั่นคง ก่อตั้งกองบัญชาการ Cyber ผ่านกฎหมายให้กองกำลังป้องกันตัวเองอยู่ภายใต้การป้องกันร่วม

ทั้งหมดนี้เป็นการปฏิรูประบบความมั่นคงของประเทศ ผลอันสำคัญมากคือ ลดข้อจำกัดการส่งออกอาวุธ โดยญี่ปุ่นหวังกระตุ้นการแข่งขันอุตสาหกรรมอาวุธระดับนานาชาติ3

ด้วยเหตุนี้เองญี่ปุ่นเพิ่มงบประมาณทางทหาร อเจนด้าของญี่ปุ่นในทศวรรษหน้าคือ การปรับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐเกาหลี แล้วดำเนินการสำคัญได้แก่ แชร์ข้อมูลอินเทลลิเจนต์ระหว่างกัน มีความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และลงนาม ACSAs กับสาธารณรัฐเกาหลีและกับประเทศที่ 3

ญี่ปุ่นปรับระบบความมั่นคงครั้งใหญ่ ขยายการฝึกร่วมสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลีและญี่ปุ่น แสวงหาสนธิสัญญาป้องกันกับออสเตรเลีย ที่สำคัญมาก ลงนาม ACSAs กับ 5 ประเทศและกำลังหาทางก่อตั้งอุตสาหกรรมทหารกับบางประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย

ACSAs อาจเป็นกลไกเทคนิคไปหน่อย แต่เป็นกลไลเพื่อให้ได้มาซึ่งระบบความมั่นคงในภูมิภาค และอุตสาหกรรมทหารของญี่ปุ่นที่เป็นจริงและจริงจัง ซึ่งมิใช่ของเล่น ญี่ปุ่นทำแล้วกับสาธารณรัฐเกาหลี ทำแล้วกับอินเดีย (10 กันยายน 2020) ทำแล้วกับพี่ไทย (2 พฤษภาคม พ.ศ.2565)

ญี่ปุ่นเปลี่ยนบทบาทใหม่ บทบาทด้านความมั่นคง และยุทธศาสตร์ในระดับโลก ญี่ปุ่นกำลังคิดใหม่ พิจารณาใหม่ กองกำลังป้องกันตนเอง หรือกองทัพ รัฐธรรมนูญมาตรา 9 และบทบาทด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

นายกรัฐมนตรีคิชิดะกล่าวในพิธีลงนามความตกลงญี่ปุ่นไทยในค่ำคืนวันที่ 2 พฤษภาคม4

“…การลงนามความตกลงของเรา เรื่องยุทโธปกรณ์และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี คือก้าวสำคัญสู่การขยายความร่วมมือความมั่นคงทวิภาคี…”

ด้วยเวลาสั้นนิดเดียว รัฐพิธีที่เราแห่แหน นำเราไปสู่สมรภูมิการแข่งขันด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอย่างเหลือเชื่อ

ด้วยฝีมือผู้ที่ได้ชื่อว่า เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงที่สุด

1Richard Javad Heydarian, “Kishida on a muscular charm offensive in Southeast Asia”, Asia Times, 4 May 2022, : 2.

2Ibid., : 3.

3Eric Heginbotham and Richard J. Samuels MIT, “Defence Challenges : An agenda for Japanese military reform”, East Asia Forum, 20 September 2018, : 2.

4Richard Javad Heydarian opcit., : 5.