แพงทั้งแผ่นดิน สินค้าพาเหรดขึ้นราคา หมู น้ำมันพืช ยันมาม่า กรมการค้าภายในรับต้านไม่ไหว/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

แพงทั้งแผ่นดิน สินค้าพาเหรดขึ้นราคา

หมู น้ำมันพืช ยันมาม่า

กรมการค้าภายในรับต้านไม่ไหว

ข่าวการปรับราคาสินค้ารายวันกลายเป็นหนังชีวิตของคนไทยในยุครัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ไม่นับรวมวิกฤตโควิด-19 ที่ยังมีจำนวนผู้ป่วยในระดับหมื่นคน/วัน ทำให้คนไทยในยุคนี้ลำบาก ทั้ง “คุณภาพชีวิตต่ำ และต้นทุนชีวิตสูง”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ปัจจัยเสี่ยง” ที่รุมเร้าเข้ามาที่ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครุนแรงยากจะทานทนไหว หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนลุกลามส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงราคา “สินค้าโภคภัณฑ์” อย่างข้าวสาลี ปุ๋ย เหล็ก ที่ราคาพุ่งทำสถิติ กระทบเป็นลูกโซ่ส่งผ่านไปถึงต้นทุนวัตถุดิบการผลิตสินค้าต่างๆ มากมาย

แม้ว่าแม่ทัพพาณิชย์ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ จะออกโรงขอความร่วมมือ “ตรึงราคา” สินค้า 18 กลุ่มสำคัญ ประกอบด้วย 1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2.หมวดอาหารสด 3.อาหารกระป๋อง 4.ข้าวสารถุง 5.ซอสปรุงรส 6.น้ำมันพืช 7.น้ำอัดลม 8.นมและผลิตภัณฑ์จากนม 9.เครื่องใช้ไฟฟ้า 10.ผลิตภัณฑ์ซักล้าง 11.ปุ๋ย 12.ยาฆ่าแมลง 13.อาหารสัตว์ 14.เหล็ก 15.ปูนซีเมนต์ 16.กระดาษ 17.ยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ 18.บริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง

โดยคาดหวังว่าจะตรึง “ให้มากและนานที่สุดเท่าที่จะทำได้”

 

แต่มาตรการ “ขอความร่วมมือ” และแคมเปญเปิดขายสินค้าราคาถูก ท่าไม้ตายของกระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชนได้

หลายสินค้าประกาศปรับราคาไปแล้ว อาทิ น้ำมันปาล์มขวดขยับขึ้นไปถึง 70 บาท, ไก่เพิ่มขึ้น ก.ก.ละ 3 บาท หมูปรับขึ้นเป็น ก.ก.ละ 200 บาท ไข่ไก่ที่ปรับขึ้นไปก่อน 3.50 บาท/ฟอง รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอีกมากมายที่พาเหรดขยับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ที่ถือเป็นสินค้าที่พึ่งสุดท้ายของผู้มีรายได้น้อย ถูกขอให้ตรึงราคาไว้ก่อนนั้น นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ระบุว่า บริษัทค่อนข้างกังวลเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทั้งแป้งข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม แพ็กเกจจิ้ง ขนส่ง ซึ่งขึ้นทุกมิติ ทำให้ตอนนี้สหพัฒน์ได้ทำเรื่องขอ “ปรับขึ้นราคา” ไปที่กรมการค้าภายในแล้ว เป็นซองละ 7 บาท หรือปรับขึ้นราว 17% จากปัจจุบันราคาซองละ 6 บาท แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

“หวังว่าจะได้รับอนุญาตขึ้นราคาเร็วๆ นี้ เพราะหากยังขึ้นราคาไม่ได้ ต้องขาดทุนแน่นอน อีกทั้งปัญหาตอนนี้ไม่ใช่แค่วัตถุดิบแพงอย่างเดียว แต่ยังเจอวัตถุดิบขาดแคลน ประกอบกับพนักงานในโรงงานติดโควิด ทำให้กำลังการผลิตติดขัดไปด้วย” นายเวทิตกล่าว และว่า

 

เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ เชื่อว่าอีกไม่นานอาจได้เห็นกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขยับราคา 7-8 บาทต่อซอง ส่วนตัวมองว่าผู้บริโภคยังรับได้ เพราะมาม่าขายซองละ 6 บาท มาตั้งแต่ 14 ปีที่แล้ว

โดยเดือนเมษายนที่ผ่านมามีการปรับราคา “มาม่า บิ๊กแพค” รสหมูสับ ต้มยำกุ้ง จากราคาขายปลีกซองละ 8 บาท เป็น 10 บาท เนื่องจากเป็นสูตรใหม่ ที่มีการปรับปรุงรสชาติ เพิ่มเครื่องปรุง ทำให้ปริมาณสินค้าจาก 90 กรัม เป็น 95 กรัม ส่วนมาม่ารสหมูสับและต้มยำกุ้ง ขนาด 60 กรัม ราคา 6 บาท ซึ่งเป็นรสชาติขายดี และกลุ่มที่ทำยอดขายหลักให้กับมาม่า ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นราคา

ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่สินค้าควบคุมก็มีการทยอยปรับขึ้นราคาไปบ้างแล้ว อาทิ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ควบคู่กับลดงบการทำตลาด และลดการทำแคมเปญ เพราะต้นทุนขึ้นสูงมากจึงต้องปรับตัวตามสภาพตลาด

ขณะเดียวกันช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ฟูด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ได้แจ้งการปรับราคาสินค้าไปยัง “ผู้ค้าส่ง” ขึ้น 2-3 บาท/กล่อง (30 ซอง) หรือ 10-14 บาท/ลัง (6 กล่อง) ทำให้ราคาขายส่งปรับเป็นกล่องละ 145 บาท จากเดิม 143 บาท และลังละ 870 บาท จากเดิม 858 บาท โดยมีผลตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เป็นการปรับขึ้นราคาขายส่งเท่านั้น

 

ด้านนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยว่า ตอนนี้กลุ่มสินค้าที่ปรับขึ้นราคาแล้ว ประกอบด้วย 1.กลุ่มซอสปรุงรส ซีอิ๊ว น้ำปลา ขยับขึ้น 2-3 บาทต่อขวด 2.สบู่ก้อนขยับขึ้น 1 บาท 3.น้ำมันพืชขวด 1 ลิตร จาก 65 บาท ขยับขึ้น 68 บาท 4.แป้งทำอาหาร และเส้นบะหมี่ 500 กรัม ขยับขึ้น 3 บาท

ส่วนสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง ก็มีบางยี่ห้อปรับขึ้นราคาแล้ว เช่น M150 ส่วนกระทิงแดง และคาราบาวแดงยังไม่ขึ้น และกลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ มีแค่สปอนเซอร์ที่ปรับขึ้นราคา ส่วนกลุ่มนมกล่องยูเอชที มีแลคตาซอย ที่ปรับขึ้นบางขนาด

เอฟเฟกต์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อ “ต้นทุนการผลิต” ของเอกชนรุนแรงมากขึ้น จนมีการส่งสัญญาณว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 หาก “สต๊อกวัตถุดิบ” ที่สั่งซื้อมาเตรียมไว้หมดรอบนี้ ต้องปรับราคาแล้ว

“เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ย้ำว่า สิ่งที่กังวล คือ เมื่อวัตถุดิบที่สต๊อกไว้หมดลง วัตถุดิบล็อตใหม่ที่เข้ามามีการปรับขึ้นราคา หนีไม่พ้นผู้ผลิตสินค้าจะต้องปรับราคาตาม

การกัดฟันตรึงราคามีขีดจำกัดอยู่ตามปริมาณสต๊อกวัตถุดิบ ซึ่งโดยปกติแล้วแต่ละอุตสาหกรรมจะสต๊อกประมาณ 3-6 เดือน แต่ปีนี้เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ เอกชนเห็นสัญญาณราคาวัตถุดิบเริ่มแพง ก็มีการสั่งเพิ่มทำให้มี “สต๊อกยืดออกไปอีกนิดหน่อย” แต่ถึงอย่างไรต้นทุนของสินค้าเฉลี่ยก็จะปรับขึ้นแน่นอน และจะเริ่มเห็นชัดหลังครึ่งปีหลัง

“สภาอุตสาหกรรมกังวลว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะบานปลายและขยายขอบเขตและยืดเยื้อ จะกระทบกับราคาพลังงานจะสูงอยู่ตลอดทั้งปี 2565 โดยเฉพาะราคาน้ำมันคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 100-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตลอดทั้งปีหรือไปถึงปีหน้า และประเด็นที่สอง สงครามยืดเยื้อจะทำให้ราคาอาหารการกิน และสินค้าโภคภัณฑ์ ปุ๋ย เหล็ก แร่ธาตุมีราคาแพง และขาดแคลน” ประธาน ส.อ.ท.กล่าว

 

ขณะที่ “กรมการค้าภายใน” มีหน้าที่ดูแลราคาสินค้าโดยตรง นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า ขณะนี้ได้ทยอยเชิญผู้ผลิตสินค้ามาหารือถึงสถานการณ์ราคาทุกวัน เป็นรายสินค้า โดยแต่ละวันประชุม 8-10 กลุ่ม ซึ่งแนวนโยบายคือต้องการดูแลให้เกิดความสมดุลทั้งผู้ผลิต เกษตรกร และผู้บริโภค

ยกตัวอย่าง ผลสรุปจากการหารือกับผู้ประกอบการ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ล่าสุด ได้ขอความร่วมมือตรึงราคาชนิดซองในรสชาติที่มีการบริโภคมาก โดยกรมจะช่วยประสานกับผู้ผลิตวัตถุดิบให้ช่วยหาวัตถุดิบราคาถูกช่วยเสริมให้ รวมถึงสินค้า “น้ำมันปาล์ม” ได้หารือกับเกษตรกร โรงสกัดและโรงกลั่น ขอความร่วมมือตรึงราคานำมันปาล์มขวดที่ 64-66 บาท เพราะขณะนี้ต้นทุนผลปาล์มขยับไปถึง 10-11 บาทต่อ ก.ก.แล้ว โดยตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อมอนิเตอร์สถานการณ์ เป้าหมายรักษาสต๊อกให้อยู่ในระดับ 3 แสนตัน ป้องกันการขาดแคลนในช่วงปลายปี

อธิบดีกรมการค้าภายในยอมรับว่า เรื่องการดูแลราคาสินค้าปีนี้ยากลำบาก เพราะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รุมเร้าทุกทาง อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากจะใช้มาตรการตรึงราคานานเกินไปก็จะไม่เป็นผลดี ดังนั้น การปล่อยให้ปรับราคาสินค้าขึ้นบ้างอาจจะถูกตำหนิ แต่ดีกว่าที่จะปล่อยให้เกิดปัญหาสินค้าขาดตลาด ประชาชนตื่นตระหนก ต้องไปเข้าคิวซื้อของจะยิ่งวิกฤตมากกว่า

อย่างไรก็ตาม มองว่าผู้ประกอบการก็ตระหนักดีว่าการปรับขึ้นราคาสินค้าอาจกระทบต่อ “กำลังซื้อ” ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เชื่อว่าการขึ้นราคาน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ