คำตอบที่ ‘ไม่อยากได้ยิน’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

คำตอบที่ ‘ไม่อยากได้ยิน’

 

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ที่ห่างเหินกันมาเนิ่นนาน เที่ยวนี้ถูกติดตามอย่างใกล้ชิด

ความสนใจติดตามไม่ใช่เพียงคน กทม.ที่ต้องสัมผัสสัมพันธ์กับบทบาทของผู้ว่าฯ เท่านั้น แต่คนต่างจังหวัดโดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบประเมินความเป็นไปทางการเมือง ต่างพากันจ้องตาไม่กะพริบ ตั้งแต่การหาเสียงจนถึงแนวโน้มของผลการเลือกตั้ง

เนื่องจากจะว่าไปแล้ว การเลือกตั้งรอบนี้มีความเชื่อกันว่าการตัดสินใจเลือกใครของประชาชนจะสะท้อนการต่อสู้ทางการเมืองในภาพใหญ่ด้วย ทำนองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะชี้ให้รับรู้กันว่า “อำนาจของประชาชน” เลือกที่จะมอบให้นักการเมืองที่มีความคิดความเชื่อแบบไหน

ภาพสะท้อนเช่นนี้ปรากฏชัดในท่าทีในโลกออนไลน์ที่ผู้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายแสดงออกกันแบบเปิดเผยว่ายืนอยู่ข้างผู้สมัครคนไหน โดยไม่สนใจว่ามีนโยบายอย่างไร ขอให้เป็นฝ่ายเดียวกันก็เสนอตัวออกมาเชียร์อย่างออกหน้าออกตา

ด้วยภาพสะท้อนดังกล่าวนี่เอง ทำให้การสำรวจของเกือบทุกโพล เมื่อถามว่า “จะเลือกผู้สมัครคนใดเป็นผู้ว่าฯ กทม.” ผลจึงออกมาให้รู้สึกถึงการเลือกฝ่ายมากกว่านโยบาย

 

นิด้าโพล “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มาเป็นอันดับหนึ่ง “อัศวิน ขวัญเมือง” มาเป็นอัน 3 รองจากอันดับ 2 คือ “ยังไม่ตัดสินใจ” อันว่าไปแล้วน่าจะหมายถึง “คนที่ไม่มีฝ่าย”

“สวนดุสิตโพล” ก็ทำนองนั้น “ชัชชาติ” ยังนำโด่ง และตามด้วย “อัศวิน”

เหตุผลว่าทำไมเลือก ทำไมไม่เลือก หากเข้าไปอ่านดูจะเห็นว่าลอยๆ สะท้อนความชัดเจนอะไรไม่ได้

อย่างเช่น เพราะลงพื้นที่รับฟังประชาชน ซึ่งในความเป็นจริงคือไม่มีผู้สมัครคนไหนไม่ลงพื้นที่ เหตุผลนี้ไม่น่าจะใช้ในการตัดสินใจเลือกได้

เช่นเดียวกับเหตุผลในเรื่องผลงาน ที่หากพิจาณาให้ถี่ถ้วนแล้ว ในผู้สมัครคนเดียวกัน ผู้ตอบแบบสำรวจบางคนบอกว่าผลงานน่าชื่นชม บางคนบอกว่าผลงานห่วย สะท้อนถึงเหตุผลที่มาหลังการตัดสินใจเลือกฝ่ายไปแล้ว

ความชัดเจนว่าการเลือกผู้ว่าฯ กทม.เที่ยวนี้เป็นการเลือกฝ่ายคือ “ซูเปอร์โพล” ที่ชั้นเชิงในการทำโพลแพรวพราวมาตลอด ครั้งนี้เสนอผลสำรวจในมุม “สัญญาณเปราะบางต่อรัฐบาล ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาว่าต้องการสะท้อนถึงการเมืองในภาพใหญ่ให้ชัดๆ กันไปเลย

และผลออกมาน่าสนใจ เพราะเริ่มจากถามถึง “จุดยืนทางการเมือง” ทีเดียว คำตอบแค่ร้อยละ 15.1 เท่านั้นที่สนับสนุนรัฐบาล ขณะร้อยละ 35.3 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และส่วนใหญ่คือร้อยละ 51.2 ขออยู่ตรงกลางเป็นพลังเงียบ

เมื่อถามลงลึกไปว่าจะเลือกใคร ผลจึงออกมาว่า ร้อยละ 20.6 เลือก “ชัชชาติ”, ร้อยละ 15.1 เลือก “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร”, ร้อยละ12.5 เลือก “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ร้อยละ 10.7 เลือก “สกลธี ภัททิยกุล” ขณะที่เลือก “อัศวิน” มีแค่ร้อยละ 2.3

“ซูเปอร์โพล” ยังนำเสนอรายละเอียดที่มากกว่านั้น คือเจาะลงไปที่ “วิโรจน์” ผู้สมัครจาก “พรรคก้าวไกล” ซึ่งชัดเจนว่าสาระในการหาเสียงคือ “มุ่งที่ไปที่การเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร” ประกาศถึง “ความเท่าเทียมของคน” อันถือเป็นการเมืองในภาพใหญ่ ว่าคะแนนนิยมก้าวกระโดดจากอันดับ 5 คือร้อยละ 5.6 เมื่อครั้งที่แล้ว มาเป็นอยู่ที่อันดับ 2 คือร้อยละ 15.2 ในครั้งล่าสุด

พรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้ามีภาพใหญ่ของเกมการเมืองแบบแตกหักกับ “โครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่” หากเป็นไปตามโพลก็หมายความว่า ความคิดของประชาชนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามไปกับแนวทางแตกหักนั้น

 

ด้วยเหตุนี้เอง หลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จึงน่าจะต้องติดตามการเมืองแบบกะพริบตาไม่ได้

เพราะ “ความต้องการเปลี่ยน” ที่ประชาชนส่วนใหญ่แสดงออก กับ “การไม่ยอมให้เปลี่ยน” ของ “กลไกอำนาจที่ยึดกุมประเทศไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด”

น่าจะทำให้เกิดการจัดการเพื่อเคลียร์พื้นที่กันอย่างเข้มข้น

และนั่นหมายถึง คำว่า “ไม่รู้จะมีการเลือกตั้งหรือไม่” อันหมายถึง “เลือกตั้งทั่วไปของการเมืองในภาพใหญ่” จะมีน้ำหนักขึ้นมาให้น่าใคร่ครวญอย่างยิ่ง