เสรีภาพใน (กรุงเทพฯ) เมืองสร้างสรรค์/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

เสรีภาพใน (กรุงเทพฯ) เมืองสร้างสรรค์

 

กรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์ เป็นสโลแกนที่เราเริ่มได้ยินกันบ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนต่างผุดไอเดียมากมายเพื่อหวังจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ (และอีกหลายเมือง) ให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ผลักดันกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และสุโขทัย เข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกเรียบร้อยแล้ว และยังมีอีกหลายเมืองที่ทยอยตามมา

และแน่นอนว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ณ ขณะนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีการพูดถึงแนวคิดว่าด้วยเมืองสร้างสรรค์จากผู้สมัครหลายท่าน

และมิใช่แค่เพียงเหล่าผู้สมัครเท่านั้นที่สนใจ ภาคประชาชนก็ดูจะกระตือรือร้นในประเด็นนี้อย่างมากเช่นกัน โดยเมื่อ 24 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในฐานะเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ได้จัดกิจกรรม “ระดมไอเดียคนศิลปะ ผลักดันว่าที่ผู้ว่าฯ พากรุงเทพฯ มุ่งสู่เมืองศิลปะ : เมืองสร้างสรรค์ เมืองในฝันของคนรุ่นใหม่” โดยในงานนี้ได้เชิญคนจากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลุ่มคนศิลปะร่วมสมัย กลุ่มงานอนุรักษ์ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ มาร่วมระดมไอเดียเพื่อนำเสนอต่อไปยังผู้ว่าฯ คนใหม่

จากรายงานของผู้สื่อข่าว (ดูรายละเอียดใน https://theactive.net/news/artdesign-20220424-2/) ข้อเสนอในงานมีหลากหลาย ไล่ตั้งแต่การเสนอให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ ต้องใส่นโยบายด้านนี้ลงไปในแผนงานของ กทม., การจัดสรรงบประมาณให้ลงมาถึงภาคประชาชนและชุมชนอย่างแท้จริง, ลดระเบียบราชการที่เทอะทะเชื่องช้าล้าสมัย, การเสนอให้เพิ่มพื้นที่ในการแสดงทางวัฒนธรรมและศิลปะทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์, เพิ่มพื้นที่ art space ให้เกิดหอศิลป์สัญจร ลานดนตรีเคลื่อนที่ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ใช้ศิลปวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ, ชูเรื่องศิลปะกินได้, ต่อยอดลิขสิทธิ์ทางปัญญา, ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงผลงานศิลปะ, ทำให้งานศิลปะกระจายไปสู่ผู้คนที่ห่างไกล, ตลอดจนผลักดันให้เกิดมาตรการทางภาษีที่เอื้อประโยชน์ให้กับการจัดกิจกรรมทางศิลปะ ไปจนถึงการตั้งคณะกรรมการศิลปวัฒนธรรมเพื่อศิลปะสร้างสรรค์แห่งกรุงเทพมหานครเพื่อเป็นหน่วยงานดูแลเรื่องนี้โดยตรง

 

ผมเองก็เห็นด้วยทั้งนั้นนะครับ ข้อเสนอทั้งหลายที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์ แต่จากการตามแนวทางในการผลักดันไอเดียนี้มาพอสมควร น่าเสียดายมากเลยนะครับ ที่ยังไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นการเสนอเงื่อนไขสำคัญที่สุดประการหนึ่งในทัศนะผม ในการสร้างกรุงเทพฯ (และเมืองไหนๆ ก็ตามในไทย) ให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ที่แท้จริงและยั่งยืน

เงื่อนไขดังกล่าวก็คือ การสร้างพื้นฐานของเมืองที่เกื้อหนุน “เสรีภาพ” ในการแสดงออก

มีงานวิชาการมากมายเลยนะครับที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงอย่างแยกกันไม่ได้ระหว่าง “การสร้างสรรค์” กับ “เสรีภาพ” ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องแจกแจงละเอียดทั้งหมดในที่นี้

แต่ผมอยากยกงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เพิ่งได้มีโอกาสอ่าน ซึ่งเกี่ยวโยงกับประเด็นนี้โดยตรงมาเล่าสู่กันฟัง

 

ในบทความ Creativity and Freedom เขียนโดย Michel Serafinelli และ Guido Tabellini ได้เสนอแนวคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ นั้นมักจะเกิดขึ้นในเงื่อนไขทางพื้นที่หรือเมืองที่จำเพาะแบบหนึ่งที่เกื้อหนุนให้เกิดบรรยากาศในการสร้างสรรค์ นั่นก็คือ พื้นที่หรือเมืองที่อยู่ภายใต้บรรยากาศที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในมิติต่างๆ

งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นจากความพยายามหาคำอธิบายว่า ทำไม และอะไร คือเงื่อนไขมูลฐานที่ทำให้ศูนย์กลางความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ของโลกตะวันตก เคลื่อนย้ายไปตามเมืองต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาในแต่ละช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเมืองฟลอเรนซ์ ศูนย์กลางทางศิลปะแขนงต่างๆ ในศตวรรษที่ 15 ซึ่งต่อมาจะเปลี่ยนมาสู่ลอนดอนในศตวรรษที่ 16 จนมาถึงเวียนนาและปารีสในศตวรรษที่ 19 และสุดท้ายได้เคลื่อนย้ายไปสู่ซานฟรานซิสโกและนิวยอร์กในปัจจุบัน

ผลการศึกษาของ Serafinelli และ Tabellini พบว่า เมืองและสังคมที่ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คน และเต็มไปด้วยเสรีภาพทางเศรษฐกิจ จะก่อร่างสร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้างในการรับความคิดใหม่ๆ ซึ่งสิ่งนี้จะกลายเป็นมูลฐานสำคัญของการผลิตคนและบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์

ยิ่งไปกว่านั้น คุณลักษณะของเมืองเช่นนี้จะดึงดูดนักสร้างสรรค์จากที่อื่น โดยเฉพาะนักสร้างสรรค์จากเมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์ที่ไร้เสรีภาพ ให้ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เมืองนั้นๆ กลายเป็นศูนย์รวมและศูนย์กลางของศิลปินและนักสร้างสรรค์ชั้นนำในเวลาต่อมา

(หากสนใจประเด็นนี้ ดูเพิ่มใน https://voxeu.org/article/creativity-and-freedom)

 

หากพิจารณาบนข้อเสนอที่ได้จากงานศึกษาข้างต้น คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า กรุงเทพฯ เมืองที่ใครๆ ก็อยากเปลี่ยนให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ชั้นนำในโลกศตวรรษที่ 21 ยังห่างไกลเหลือเกินกับการก้าวเข้าไปสู่เป้าหมายนี้

ไม่ปฏิเสธหรอกนะครับว่า ข้อเสนอจากเวที “ระดมไอเดียคนศิลปะ ผลักดันว่าที่ผู้ว่าฯ พากรุงเทพฯ มุ่งสู่เมืองศิลปะ : เมืองสร้างสรรค์ เมืองในฝันของคนรุ่นใหม่” (รวมถึงอีกหลายเวทีก่อนหน้านี้) หากทำได้จริงก็คงช่วยให้กรุงเทพฯ เดินเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นบ้างอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ข้อเสนอทั้งหลายเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงการสร้างเปลือกนอกของความเป็นเมืองสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่มูลฐานที่หยั่งรากลึกแท้จริงในการสร้างบรรยากาศทางสังคมวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดวัฒนธรรมการสร้างสรรค์แต่อย่างใด

ในทัศนะผม (พูดอย่างไม่แคร์ว่าจะถูกกล่าวหาว่า อะไรๆ ก็โยงเข้าเรื่องการเมือง) เมืองที่เดือดร้อนจนทนไม่ได้กับการปรากฏภาพ “ทศกัณฐ์หยอดขนมครก” จนสุดท้ายภาพดังกล่าวต้องถูกเซ็นเซอร์ไปในที่สุด, เมืองที่ทนไม่ได้กับการผลิต “ขนมอาลัวรูปพระเครื่อง” จนต้องส่งเจ้าหน้าที่รัฐไปห้ามไม่ให้ผลิตอีกต่อไป, เมืองที่ยอมไม่ได้กับการเขียนภาพ “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” จนศิลปินเกือบเรียนไม่จบ หรือเมืองที่ไล่จับเยาวชนที่คิดต่างไปขังไว้ในคุกอย่างไร้มนุษยธรรม ฯลฯ

เมืองที่มีมูลฐานทางการเมืองวัฒนธรรมเช่นนี้ไม่มีวันที่จะกลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง

ต่อให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ที่จะเลือกกันในปลายเดือนนี้ ยอมทุ่มงบประมาณมหาศาลลงมาสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือผลักดันนโยบายกรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์มากแค่ไหน ก็คงไม่มีวันทำได้สำเร็จ

เอาเข้าจริง จะว่าไป พื้นที่การแสดงศิลปะและงานสร้างสรรค์ต่างๆ ในกรุงเทพฯ หากคิดเป็นตารางเมตร ก็มิได้มีจำนวนน้อยเลยนะครับ แน่นอนว่าถ้าสามารถเพิ่มขึ้นอีกได้ ย่อมดีกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ประเด็นของผมก็คือ แทนที่จะจัดวางความสำคัญไปที่การเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ ทำไมเราไม่พุ่งตรงไปที่ใจกลางของปัญหาแทน นั่นก็คือ การเพิ่มเสรีภาพในการสร้างสรรค์ให้กับพื้นที่ที่มีอยู่เสียก่อนเป็นอันดับแรก

ตราบใดที่พื้นที่ทางศิลปะภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐเลือกที่จะจัดแสดงงานสร้างสรรค์บนพื้นฐานทางอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งเพียงแบบเดียว และเต็มไปด้วยระบบการเซ็นเซอร์ที่ไร้มาตรฐานและขาดความเข้าใจในเสรีภาพของการแสดงออก การเพิ่มพื้นที่จัดแสดงศิลปะไปมากแค่ไหนก็ไร้ค่า

ตราบใดที่พื้นที่ทางศิลปะของเอกชนต้องอยู่ในสภาพที่กังวลและหวาดกลัวที่จะจัดแสดงงานศิลปะที่ต่อต้านอำนาจรัฐ หรือศิลปะที่นอกกรอบความเชื่อหลักของสังคม การเพิ่มพื้นที่แกลเลอรีเอกชนไปอีกร้อยเท่าก็ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร

ตราบใดที่ระบบเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ยังเป็นแบบที่เป็นอยู่ การทุ่มงบประมาณให้กับการสร้างภาพยนตร์ไทยโดยหวังจะผลักดันให้เป็น soft power แบบที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จ ก็เป็นได้แค่ฝัน

 

ผมยังแอบหวังลึกๆ นะครับว่า ในช่วงสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผมอาจจะได้ยินนโยบายการหาเสียงในการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ ไปสู่เมืองสร้างสรรค์ โดยชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพ กับการสร้างสรรค์ จากแคนดิเดตที่มีอยู่

เพราะในทัศนะผม กระดุมเม็ดแรกของการสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ คือ การสร้างบรรยากาศของพื้นที่เมืองแห่งนี้ให้อบอวลไปด้วยเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกเสียก่อน จากนั้น กระดุมเม็ดที่สองและสามจึงจะเกิดตามมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบนโยบายในการสนับสนุนศิลปินและนักสร้างสรรค์ต่างๆ ไปจนถึงการทุ่มงบประมาณลงมาที่งานทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และนวัตกรรม หรือแม้แต่การตั้งคณะกรรมการศิลปวัฒนธรรมเพื่อศิลปะสร้างสรรค์แห่งกรุงเทพมหานคร

แคนดิเดตทั้งหลายที่เสนอตัวมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ยังพอมีเวลาอยู่นะครับ ที่จะกำหนดนโยบายที่ถูกต้องในการเปลี่ยนกรุงเทพฯ สู่เมืองสร้างสรรค์ที่แท้จริงและยั่งยืน