“จกก่องเข้า จุหมาเถ้าแกว่งหาง” / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

“จกก่องเข้า จุหมาเถ้าแกว่งหาง”

 

จ฿กฯกลฯ่อฯฯงเขั้า จุหมฯาเถั้าแกวฯ่งหางฯ

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “จกก่องเข้า จุหมาเถ้าแกว่งหาง”

จก แปลว่า ควักหรือล้วง

กล่องเข้า แปลว่า กระติบใส่ข้าวเหนียว

เข้า แปลว่า ข้าว คนล้านนาออกเสียงสั้น และเขียนเป็นเสียงสั้น

จุ แปลว่า โกหก หลอกลวง

หมาเถ้า แปลว่า หมาแก่ ในที่นี้หมายถึง ผู้ชายโดยทั่วไป

แกว่งหาง เป็นอาการแสดงความดีใจของหมาว่าอาจจะมีอะไรบางอย่างมาให้ เช่น ข้าว

รวมความแล้วทั้งหมดนี้แปลว่า

คนเอากระติบข้าวมาล้วง ทำทีว่าจะเอาข้าวออกมาให้หมากิน ทำให้หมาแก่ๆ แกว่งหางว่าจะได้กินข้าว แต่ที่แท้หลอกหมาเล่นให้ดีใจเฉยๆ

 

เคยเห็นสภาพบ้านในชนบทหรือไม่ ที่เลี้ยงหมาไว้เฝ้าบ้าน อาหารที่ใช้เลี้ยงหมาส่วนใหญ่คือข้าวที่เหลือจากคนในบ้านกิน อาจจะมีเศษอาหารที่เหลืออีกนิดหน่อยคลุกเคล้าปนกันไปในบางมื้อ ดังนั้น การเอากระติบข้าว ทำท่าล้วง แล้วเรียกหมาตามไป เมื่อหมาเห็นกระติบข้าวก็นึกว่าจะได้กินแล้ว จึงนับเป็นการล่อลวงหมาให้ติดกับประการหนึ่ง

สำนวนนี้ไม่เห็นมีในภาษาไทย

ที่ใกล้เคียงสุดน่าจะเป็น “ขุดบ่อล่อปลา” ซึ่งก็สะท้อนถึงวัฒนธรรมไทยอีกอย่างหนึ่งที่นิยมกินปลา เมื่อขุดบ่อเอาไว้ น้ำหลากมาปลาก็ถูกล่อไปอยู่ในบ่อให้จับกินโดยง่าย

เท่ากับเป็นการหลอกลวงปลาให้ไปติดกับดัก เช่นเดียวกับการหลอกล่อหมา

 

กำลังฯจุหมฯาเถั้าแกวฯ่งหางฯอยฯู่เจั้า
กำลังจุหมาเถ้าแกว่งหางอยู่เจ้า
แปลว่า กำลังหลอกล่อหมาแก่อยู่ค่ะ

ในสมัยนี้ “การจกกล่องเข้า จุหมาเถ้าแกว่งหาง” พบเห็นได้มากขึ้น อาจจะเพราะมีการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น

การที่สาวใส่เสื้อเปิดอกขายโรตี การนุ่งน้อยห่มน้อยขายขนมครก การใส่บิกินีขายส้มตำ หรือการที่หนุ่มบึกบึนเปลือยท่อนบนขายก๋วยเตี๋ยว แบบที่เป็นข่าว ล้วนเป็นการยั่ว “หมาเถ้า” ให้น้ำลายหก

ผลก็คือ เป็นการส่งเสริมการขายที่ได้ผล เพราะแม่ค้าพ่อค้าต่างยอมรับว่ายอดขายเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่อาหารที่ขายไม่ได้มีรสชาติอร่อยมากมายกว่าเจ้าอื่น

การแต่งกายล่อแหลมเช่นนี้ล้วนเข้าทำนอง “จกกล่องเข้า จุหมาเถ้าแกว่งหาง” ทั้งสิ้น •