รอดูกันยันชั้นศาล/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

รอดูกันยันชั้นศาล

 

หลังตำรวจสรุปสำนวนคดีดาราสาวแตงโมตกน้ำเสียชีวิต โดยมีการแถลงสรุปรายละเอียดของการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งใช้เวลาราว 2 เดือน นับจากวันเกิดเหตุคือ 24 กุมภาพันธ์ ปฏิกิริยาจากผู้คนในสังคมที่ตามมาก็เป็นไปตามคาด

นั่นคือ คนที่ไม่เชื่อตำรวจก็ย่อมไม่เชื่อต่อไป คนที่เชื่อว่าเป็นการฆาตกรรมแน่นอน ย่อมไม่เชื่อผลสรุปของตำรวจที่ชี้ว่า เป็นคดีการเสียชีวิตที่เกิดจากการกระทำโดยประมาทของคนบนเรือ

บทสรุปของพนักงานสอบสวน ที่บัดนี้ได้นำสำนวนคดีส่งอัยการไปเรียบร้อยแล้วนั้น

สรุปอย่างสังเขปได้ว่า ผู้เสียชีวิตตกจากเรือ ขณะอยู่ที่บริเวณท้ายเรือ โดยไม่มีใครไปทำร้าย ไม่มีใครจงใจกระทำให้ตกเรือไป แต่เป็นความประมาท จากจังหวะการขับเรือ จากการที่สภาพเรือไม่ถูกต้องเรียบร้อย และเมื่อแตงโมพลัดตกจากเรือไป ก็ไม่มีระบบการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

รูปคดีของตำรวจยืนยันว่า ไม่มีการจงใจฆาตกรรมอย่างแน่นอน เป็นเรื่องของความประมาทเท่านั้น

ขณะที่ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา กระแสในโลกโซเชียล โหมขุดคุ้ยจับผิด เนื่องจากพฤติกรรมของคนบนเรือทั้ง 5 ส่อพิรุธจนทำให้ไม่ไว้วางใจ กระแสสังคมจึงปักใจไปแล้วว่า ต้องเป็นคดีฆาตกรรม

เมื่อเชื่อไปก่อนแล้ว แต่เมื่อแนวทางการสืบสวนสอบสวนของตำรวจระบุว่า ไม่มีพยานหลักฐานอะไรเลยที่จะชี้ว่าเป็นฆาตกรรม จึงทำให้โดนกระแสสังคมโจมตีว่า ตำรวจบิดเบี้ยวคดี เพราะอิทธิพลเส้นสายและความเป็นคนมีเงินทอง

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อถึงวันตำรวจสรุปสำนวนคดี ว่าเสียชีวิตจากการกระทำโดยประมาทของคนบนเรือ กระแสสังคมก็ยืนยันไม่เชื่อตามรูปคดีของตำรวจ ยังคงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับแตงโมกันต่อไป

แต่อันที่จริงมีหลักสังเกตประการหนึ่งว่า คดีนี้มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ลงมาดูแลคดีด้วยตัวเองหลายราย เช่น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้เรียกประชุมตรวจสอบการทำงานของทีมคลี่คลายคดีตั้งแต่ต้น จากนั้นมอบให้ พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบช.ภ.1 เป็นผู้ควบคุมคดีทั้งหมด

โดยใช้ทีมงานตำรวจทั้งฝ่ายสืบสวน สอบสวน ฝ่ายตรวจสอบเทคโนโลยี มือถือ กล้องวงจรปิด ตำรวจนิติเวช ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน รวมแล้วนับร้อย

ในวันแถลงสรุปคดี มี พล.ต.ท.จิรพัฒน์นำทีมแถลงเอง พร้อมด้วย พล.ต.ต.อุดร ยอมเจริญ รอง ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ธวัชชัย นาคฤทธิ์ รอง ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม ผบก.สส.ภ.1 พล.ต.ต.หญิง ชุติมา ชัยมุสิก ผบก.ศพฐ.1 พล.ต.ต.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผบก.ภ.จ.นนทบุรี

มีนายพล 6 คน เปิดหน้าแสดงตัวในการแถลงสรุปคดี รวมไปถึงตำรวจชุดทำคดีอีกมากมาย ถ้าเป็นการบิดเบือนคดีจริง นายพลหลายรายและตำรวจอีกมากมาย จะยอมร่วมเออออไปด้วยหรือ

ทั้งมองไม่ออกว่า จะมีช่องให้มีการใช้เส้นสายหรือเงินทองมาบิดเบือนการทำงานของตำรวจได้อย่างไร

จริงอยู่มีตำรวจบิดเบือนคดีบ่อยๆ แต่นั่นต้องไม่ใช่คดีดังระดับดาราสาวแตงโม ต้องเป็นการทำคดีของตำรวจแค่ไม่กี่คน จึงจะสามารถต่อรองตกลงกันได้!!

 

ในวันที่ตำรวจแถลงสรุปคดีนั้น ได้นำสำนวนคดีพร้อมผู้ต้องหาส่งถึงอัยการ เพื่อพิจารณาตรวจสอบสำนวนต่อไป ในชั้นอัยการถือได้ว่า เป็นด่านกลั่นกรองสำนวนคดีของตำรวจอีกด่านหนึ่ง เพราะอัยการจะต้องตรวจสอบทุกสิ่งทุกอย่างในคดีนี้ทุกแง่มุม

ผลการกลั่นกรองในชั้นอัยการ ก็จะให้คำตอบได้ระดับหนึ่งว่า ที่ตำรวจทำสำนวนคดีว่าเป็นการกระทำประมาทจนทำให้แตงโมตายนั้น มีพยานหลักฐานรองรับชัดเจนหรือไม่

ถ้าตำรวจทำคดีมั่วๆ เพื่อจะบิดเบือนสำนวนช่วยเหลือผู้ต้องหาจริง การตรวจสอบของอัยการก็จะเห็นพิรุธได้

ต้องดูกันว่า อัยการอาจจะสั่งให้หาพยานหลักฐานเพิ่ม ให้สอบสวนเพิ่ม หรืออาจจะไม่เอาด้วย หักสำนวนของพนักงานสอบสวน โดยสั่งไม่ฟ้องไปเลยก็ได้

ต่อมาหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาตามสำนวนของตำรวจ คดีนี้ก็จะไปถึงชั้นศาล ต้องผ่านการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของพยานหลักฐานที่ตำรวจนำเสนอ

สุดท้ายคำพิพากษาชั้นศาล จะเป็นคำตอบสำคัญว่า ตำรวจทำคดีตรงไปตรงมาจริงหรือไม่ มีพยานหลักฐานรองรับว่าเป็นแค่การกระทำโดยประมาทจนทำให้แตงโมตาย ไม่ใช่การฆาตกรรม จริงหรือเปล่า

เพราะในชั้นศาลนั้นจะต้องมีการตรวจสอบพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนนำเสนอถึงอัยการ อย่างละเอียด มีการซักค้านกันไปมาของทนาย

เมื่อกระแสสังคมยังไม่เชื่อถือตำรวจ ยังสามารถเฝ้ารอดูการพิสูจน์ความถูกผิดของสำนวนคดีตำรวจได้อีก ทั้งการกลั่นกรองในชั้นอัยการ และทั้งการตรวจสอบพยานหลักฐานอย่างเข้มข้น ในการเบิกความชั้นศาล

ยังมีอัยการและศาล ที่จะตรวจสอบกลั่นกรองว่า สำนวนคดีแตงโมที่ตำรวจชี้ว่าไม่ใช่ฆาตกรรมนั้น จริงหรือไม่!?

 

เป็นความจริงที่ว่า ตำรวจมีความไม่น่าเชื่อถือจากพฤติกรรมในหลายๆ เรื่อง ดังนั้น การตรวจสอบการทำคดีต่างๆ ของประชาชนในสังคม การขุดคุ้ยข้อมูลของนักสืบโซเชียล ล้วนเป็นเรื่องดี เพื่อกดดันให้ตำรวจต้องทำงานตรงไปตรงมา

เป็นเสรีภาพของสังคมที่ไม่ควรปิดกั้น!!

ในคดีแตงโมก็เช่นกัน กระแสสังคมกดดันและตรวจสอบอย่างหนัก แต่ถึงขนาดนี้แล้ว เชื่อว่าตำรวจย่อมรู้ดีว่า สายตาชาวบ้านจับจ้องอย่างจริงจัง จะทำคดีชุ่ยๆ ไม่ได้

ภายใต้การทำงานของตำรวจที่มีเหล่านายพลมากมายเข้ามาร่วมรับผิดชอบ มีทีมสืบสวนสอบสวนและฝ่ายต่างๆ จำนวนมากร่วมทำงาน เมื่อยังยืนยันว่า พยานหลักฐานไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าเป็นฆาตกรรม

หากสังคมยังไม่เชื่อ ยังปักใจว่าถูกฆ่า ก็ยังสามารถเฝ้ารอดูความจริงต่อไปได้ ในชั้นตอนอื่นของกระบวนการยุติธรรม

หลักสำคัญของคดีนี้ ที่ตำรวจเห็นว่าไม่ใช่การฆ่า เนื่องจากสภาพศพของแตงโม ผ่าพิสูจน์โดยแพทย์นิติเวช และอีกคณะโดยทีมนิติวิทยาศาสตร์และแพทย์สถาบันต่างๆ ออกมาตรงกันว่า ร่างกายของแตงโมไม่ได้ถูกทำร้าย ไม่มีการทุบตี กะโหลกไม่แตก ฟันไม่หัก เนื้อตัวไม่บอบช้ำ อีกทั้งสภาพบนเรือมีการตรวจคราบโลหิตแล้วชัดเจนว่าไม่พบ รวมถึงไม่มีร่องรอยการบีบคอ

สภาพเสื้อผ้าของแตงโมไม่มีการฉุดกระชากฉีกขาด

ภาพรวมเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตำรวจสรุปว่า ไม่มีการทำร้ายร่างกาย ไม่มีการฆาตกรรม อีกทั้งเมื่อตรวจการใช้มือถือ ก็ไม่พบพิรุธ ไม่มีการติดต่อใครที่บ่งชี้เป็นอื่น รวมทั้งไม่มีสาเหตุความขัดแย้ง ไม่มีเหตุจูงใจให้มีการฆ่า

ส่วนการตกที่ท้ายเรือนั้น การตรวจสอบมีพยานหลักฐาน ดีเอ็นเอ เส้นผม ที่บริเวณท้ายเรือจริง และบาดแผลของแตงโมอยู่เฉพาะบริเวณขาเท่านั้น สอดรับกับการฟันของใบพัดเรือ

สำคัญคือคำให้การของ “แซน” ซึ่งเป็นเพียงคนเดียวที่ระบุว่า แตงโมมาที่ท้ายเรือและจับขาของตนเอง เพื่อปัสสาวะ จนเป็นเหตุให้แซนถูกตั้งข้อหากระทำโดยประมาทไปด้วย เพราะอยู่ด้วยกันแต่ไม่มีการช่วยเหลืออย่างทันทีที่แตงโมตกน้ำ

ประเด็นการมาท้ายเรือเพื่อปัสสาวะ ในการแถลงข่าวตำรวจละเว้นจะตอบประเด็นนี้ เพราะหลายอย่างในสำนวน ไม่ควรนำมาเปิดเผย

โดยมีหลักฐานภาพถ่ายที่บันทึกขณะนำร่างแตงโตขึ้นมาจากน้ำ ในนาทีที่พบศพครั้งแรก มีภาพยืนยันว่าสภาพบอดี้สูทที่แตงดมสวมใส่ ไม่เรียบร้อย มีลักษณะตรงตามคำให้การของแซนจริง

แต่เอาเป็นว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่เชื่อตำรวจ

ดังนั้น คงต้องรอคอยการพิสูจน์ความจริงว่าสำนวนนี้ถูกต้องตรงไปตรงมาจริงหรือไม่ เมื่อผ่านการกลั่นกรองในชั้ยอัยการ และสุดท้ายคือชั้นศาล!