‘จิราพร-ศิริกัญญา’ ฟันธง! ปัญหาเศรษฐกิจแก้ได้ ถ้าไร้ ‘ประยุทธ์’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘จิราพร-ศิริกัญญา’ ฟันธง!

ปัญหาเศรษฐกิจแก้ได้

ถ้าไร้ ‘ประยุทธ์’

 

รายการ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง” เพิ่งสัมภาษณ์ “จิราพร สินธุไพร” และ “ศิริกัญญา ตันสกุล” สอง ส.ส.หญิงเก่ง จากพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ถึงประเด็นสถานการณ์ทางการเมืองปลายเดือนเมษายน 2565

หนึ่งในคำถามสำคัญที่เราถามทั้ง ส.ส.จิราพร และ ส.ส.ศิริกัญญา ก็คือ ท่ามกลางปัญหาปากท้อง-ของแพงที่หนักหนาสาหัสขณะนี้ รัฐบาลควรมีนโยบาย-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรดี?

ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตถึงกระแสข่าวที่รัฐบาลเตรียมอัดฉีดเศรษฐกิจด้วยมาตรการ “คนละครึ่ง เฟส 5” ว่านี่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นที่ไม่เลวร้ายอะไร

แต่หากคำนึงว่าสภาพเศรษฐกิจไทยนั้นมีลักษณะ “โตต่ำ” มาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด ทั้งความเติบโตยังกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่ ขณะที่คนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก

ยิ่งเมื่อสถานการณ์ข้างต้นถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยโควิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอย่าง “คนละครึ่ง เฟส 5” จึงอาจใช้แก้วิกฤตซ้อนวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ได้

จิราพร สินธุไพร

จิราพรวิเคราะห์ต่อว่า ความท้าทายอย่างหนักของ “รัฐบาลประยุทธ์” คือการต้องวางแผนเศรษฐกิจในระยะยาว ท่ามกลางบริบทที่ประเทศมีหนี้สาธารณะราวสิบล้านล้านบาท มีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายประมาณสองแสนล้านบาทต่อปี หรือถ้ารวมเงินต้นด้วยก็จะเป็นประมาณสามแสนล้านบาทต่อปี

ส่วนในทางการเงินการคลัง ประเทศไทยก็จัดเก็บรายได้พลาดเป้าหมายมาต่อเนื่องหลายปี และต้องจัดงบประมาณแบบขาดดุลมาตลอด

“ทางพรรคเพื่อไทยนำเสนอแนวทางแก้ปัญหามาหลายแบบหลายครั้งแล้วนะคะ บางทีรัฐบาลก็เอาไปทำบ้าง บางทีก็เอาไปทำแต่ทำไม่เป็นบ้าง

“ถ้าให้แนะนำจริงๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลนี้อยู่มาเกือบ 8 ปีแล้ว ด้วยความหวังดีกับประเทศ เราก็ได้แนะนำข้อแนะนำต่างๆ พยายามที่จะบอกให้ทำอะไรอย่างไรบ้าง แต่สุดท้ายมันก็ออกมาเป็นรูปแบบนี้

“คือถ้ารัฐบาลไม่มีฝีมือ ทำไม่เป็น ไม่มีวิสัยทัศน์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้แนะนำจริงๆ ก็คือลาออก ดีที่สุดค่ะ”

นักการเมืองหญิงดาวรุ่งฝากคำแนะนำไปยังหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเธอมองว่าไม่มีความสามารถในการสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจ

ศิริกัญญา ตันสกุล

ด้านรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหารอบด้าน ไล่ตั้งแต่ค่าครองชีพที่สูง ไปจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าอื่นๆ พุ่งสูงตาม

ทว่า สุดท้าย ก็คล้ายว่ารัฐบาลจะย้อนกลับมาใช้มาตรการ “คนละครึ่ง” อีกครั้ง ซึ่งศิริกัญญามีความเห็นสอดคล้องกับจิราพร ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีในระยะสั้น แต่รัฐบาลไม่ควรจะหยิบเครื่องมือนี้มาใช้แบบถาวร ประหนึ่งยาสามัญประจำบ้าน

ตามความเห็นของมือเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ปัญหาสำคัญของมาตรการ “คนละครึ่ง” นั้นอยู่ตรงวิธีการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งมีลักษณะ “สุ่ม” หรือ “ชิงโชค”

ด้วยวิธีการเช่นนี้ การช่วยเหลือของภาครัฐจึงไม่ได้เข้าถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ทุกราย ซ้ำร้ายกว่านั้น คนมีฐานะที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ กลับสามารถขอรับสิทธิ์รับความช่วยเหลือได้ด้วย

นี่จึงเป็นการอัดฉีดเงินที่ผิดทิศผิดทาง ผิดฝาผิดตัว ไปหมด

เมื่อถามเธอว่า คิดเห็นอย่างไรที่นายกฯ ออกมาแนะนำประชาชนให้มีพฤติกรรมกิน-ใช้ ให้เหมาะสมกับสถานภาพของตนเอง? ศิริกัญญาตอบทันทีว่า

“เป็นคำแนะนำที่แย่มาก คือมันเป็นการดูถูกประชาชนมาก พูดเหมือนประชาชนยังไม่รู้ตัวว่าเขาจะต้องทำตัวยังไง เหมือนสั่งให้เจียมเนื้อเจียมตัว ว่าถ้าเกิดคุณมีรายได้น้อย คุณก็ต้องใช้เงินน้อย

“แต่ตอนนี้มันก็แทบจะไม่เหลืออะไรแล้วสำหรับประชาชน แล้วเราก็ไม่คิดว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น เราควรจะต้องดูแลตัวเอง ถ้าทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นในประเทศนี้ แล้วเราต้องดูแลประคับประคองตัวเองทั้งหมด เราก็ไม่รู้ว่าจะมีรัฐบาลเอาไว้ทำอะไรต่อ ถูกไหมคะ?”

ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผู้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร แนะนำว่าเรื่องสำคัญข้อแรกที่รัฐบาลควรทำในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ คือการอัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าประชาชน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศต้องการตอนนี้ไม่ใช่มาตรการแบบ “คนละครึ่ง” แต่เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินที่เข้าถึงมือประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ อย่างทั่วถึงและเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี

เธอไม่คัดค้าน หากรัฐบาลจะนำเอาโครงการ “เราชนะ” กลับมาปัดฝุ่นอีกรอบ หรือการเติมเงินเพิ่มในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็เป็นเรื่องยอมรับได้ แต่ต้องมีการทบทวนฐานข้อมูลใหม่ เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าสังคมไทยมีคนยากจนทวีจำนวนขึ้น

ในขั้นตอนต่อไป ศิริกัญญาชี้ช่องว่าภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือแรงงานและผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งได้รับบาดเจ็บหนักมากในช่วงโควิดระบาด

แน่นอนว่า หากอยากทำมาตรการเหล่านี้ให้สำเร็จ รัฐบาลจำเป็นจะต้องกู้เงินเพิ่ม ซึ่งตามมุมมองของ ส.ส.ก้าวไกล หนี้สาธารณะของไทยยังไม่ได้สูงล้นจนน่าตกใจ หากเทียบกับเม็ดเงินที่หลายประเทศใช้ไปกับการแก้ไข-เยียวยาววิกฤตโควิด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่นั้นอยู่ที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา “รัฐบาลประยุทธ์” ได้กู้เงินมามหาศาลหลายงวด โดยไม่ได้นำเงินเหล่านั้นมาสร้างประโยชน์โภชผลใดๆ ให้ตกถึงมือประชาชนเลย

ที่แย่ยิ่งกว่าคือ ในบางครั้ง รัฐบาลได้ขอกู้เงิน โดยยื่นเอกสารบางๆ แค่ห้าแผ่นให้สภาพิจารณา

ด้วยเหตุนี้ ในภาวะคับขันที่ประเทศต้องการเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ผู้คนจึงไม่เชื่อมั่นในการกู้เงินของ “รัฐบาลประยุทธ์” อีกแล้ว

สำหรับศิริกัญญา รัฐบาลชุดนี้กำลังทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสไปมหาศาล

นี่คือ “โทษมหันต์” ของการมีนายกรัฐมนตรีชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”