สงครามกับความหฤโหด/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

สงครามกับความหฤโหด

 

ข่าวคราวความหฤโหดที่ทั้งสองฝ่ายกระทำแก่กันในสงครามยูเครน โดยเฉพาะฝ่ายรัสเซียที่กระทำต่อเชลยและประชาชนยูเครน ทำให้ผมนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างสงครามกับความหฤโหด

ความหฤโหดที่ผมใช้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำลายล้างชีวิตและทรัพย์สินระหว่างกัน อันเป็นส่วนหนึ่งของการรบราฆ่าฟัน ขึ้นชื่อว่าสงคราม ก็หฤโหดทั้งนั้น แต่ผมต้องการหมายเฉพาะความหฤโหดที่กระทำต่อฝ่ายที่ไม่อาจต่อสู้ได้อีกแล้ว เช่น ข้าศึกที่ยอมจำนนแล้ว, ประชาชนผู้ปราศจากอาวุธ, สถานที่ซึ่งไม่อาจตอบโต้ในเชิงยุทธ์ได้ เช่น โรงพยาบาล, โรงแรม, คอนโดฯ เป็นต้น

ไม่ใช่เฉพาะสงครามสมัยใหม่ (ที่เริ่มจากสงครามกลางเมืองอเมริกัน) เท่านั้น ที่เราไม่อาจแยกกำลังทางทหารออกจากกำลังทางอื่น เช่น เศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรมได้ อ่านสามก๊กก็เห็นอยู่แล้วว่า การทำลายอู่ข้าวอู่น้ำของศัตรู, ทำให้ผู้นำฝ่ายข้าศึกสูญเสียความเชื่อมั่นของลูกน้องและราษฎร, อุบายสร้างความแตกแยกในหมู่ข้าศึก ฯลฯ ล้วนเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ในสงครามทั้งนั้น

แต่ผมไม่มีอะไรซับซ้อนอย่างสามก๊กหรอกครับ ขอยกเอาเรื่องง่ายๆ เห็นๆ ที่ต้องเกิดในการทำสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ขึ้นมาให้ดูเท่านั้น

 

ทหารต้องกิน จะขนเสบียงกรังไปให้พอกินได้อย่างไร แม้ในปัจจุบันมีทั้งถนนหนทางและพาหนะที่มีประสิทธิภาพพร้อม เรื่องของเสบียงอาหารก็ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่กองทัพเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นในโลก จะสามารถทำสงครามได้เกิน 1 เดือน ดังนั้น ในสมัยก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เสบียงอาหารจึงต้องฝากไว้กับการปล้นสะดมตามเส้นทางเดินทัพ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือข้าศึก

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากประเทศที่เราพอมีหลักฐานเรื่องนี้คือพม่า ทหารเกณฑ์ทัพแต่ละคนต้องนำเสบียงอาหารสำหรับตนเองติดตัวไปให้พอกิน 15 วัน หลังจากนั้นก็ต้องปล้นสะดมแย่งชิงจากยุ้งฉางของชาวบ้าน ในดินแดนข้าศึกหรือถ้าจำเป็นก็ในดินแดนของตนเอง

ผมเข้าใจว่ากองทัพอยุธยาก็ต้องทำอย่างเดียวกัน

 

15 วันเดินทัพนี่มีความสำคัญทางรัฐศาสตร์มากนะครับ ประการแรกมันกำหนดไว้เลยว่า อาณาบริเวณที่ศูนย์กลางจะควบคุมได้อย่างทั่วถึง จะมีขนาดเกินกว่าการเดินทัพ 15 วันไม่ได้ เพราะจะให้ทหารปล้นเสบียงอาหารจากหมู่บ้านของตนเองย่อมเท่ากับล่อให้เกิดกบฏศึกภายในกองทัพนั่นเอง

คิดว่าเดินทัพโดยไม่เร่งรีบเป็นพิเศษก็น่าจะเดินได้วันละ 20 ก.ม. 15 วันก็มีรัศมีประมาณ 300 ก.ม. ดูจากอยุธยา เขตที่อาจเรียกว่า “แกนกลาง” ของอยุธยาก็ประมาณนี้แหละครับ ทางเหนือขึ้นไปถึงนครสวรรค์, ทางใต้ถึงแถบบางสะพาน, ทางตะวันออกถึงจันทบุรี ทางตะวันตกไปได้ไม่ถึง 300 ก.ม. เพราะมีทิวเขากั้นไว้ แม้กระนั้นอิทธิพลของอยุธยาก็ข้ามทิวเขาไปถึงลุ่มน้ำตะนาวศรีลงไปถึงเมืองมะริดด้วย

“แกนกลาง” ของราชอาณาจักรอังวะก็ประมาณนี้แหละครับ แต่โชคดีกว่าตรงที่ลุ่มน้ำอิรวดีน่าจะมีประชากรหนาแน่นกว่า และตัวลุ่มน้ำอิรวดีเองเป็นเส้นทางเดินทัพและส่งเสบียงอาหารที่ดี พงศาวดารพม่าพูดถึงกษัตริย์หรือแม่ทัพอังวะยกทัพลงมารบกับมอญหลายครั้ง แม้ยกมาทางบกเลียบแม่น้ำอิรวดีลงมา แต่ก็มีกองเรือขนาดใหญ่ขนเสบียงอาหารขนาบทัพบกมาด้วยตลอดทางจนถึงแถบเมืองย่างกุ้งทำให้ได้เสบียงเพิ่มขึ้น กว่าจะถึงเมาะตะมะก็ปล้นสิครับ

แม่น้ำอิรวดีทำให้เขต “แกนกลาง” ทั้งทางเหนือและทางใต้ของอังวะ ขยายไปได้มากกว่า 300 ก.ม. รวมทั้งการควบคุมประเทศราชเช่นรัฐเจ้าฟ้าของไทยใหญ่ทำได้อย่างเป็นระบบกว่าอยุธยาควบคุมล้านนาหรือหัวเมืองลาวอย่างเทียบกันไม่ได้

 

ปัญหาเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพเพียงอย่างเดียวก็บังคับให้สงครามต้องหฤโหดต่อชาวบ้านร้านช่องของฝ่ายข้าศึกแล้ว การปล้นสะดมอาหารในเศรษฐกิจยังชีพนั้นเป็นความโหดเหี้ยมอย่างยิ่งนะครับ ไม่มีข้าวในยุ้งเหลือ ก็ต้องหนีเข้าป่าเพื่อยังชีพเท่านั้น ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะในอนาคต กองทัพก็ได้ทำลายส่วนสำคัญของ “สังคมการเมือง” ของฝ่ายข้าศึกไปแล้ว จนกว่ารัฐบาลข้าศึกจะสามารถเกลี้ยกล่อมกวาดต้อนผู้คนในป่าให้กลับมาเป็นไพร่ในหมู่บ้านได้ใหม่เท่านั้น จึงจะกลับมามีกำลังเข้มแข็งได้อีก

ปัญหาเรื่องกินของกองทัพนี้ไม่ได้มีเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้แต่ในยุโรปเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 ก็มีปัญหาเดียวกัน กองทัพนโปเลียน ซึ่งเที่ยวรบข้าศึกไกลบ้านไกลเมืองมากๆ จะมีกินก็ต่อเมื่อปล้นเสบียงจากชาวบ้าน แต่ทำได้ไม่ถนัดในรัสเซีย

ไม่ใช่เพราะรัสเซียใช้นโยบาย scorched earth หรือเผาให้ราบนะครับ แต่เพราะรัสเซียกว้างใหญ่ไพศาลมาก แต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่ห่างไกลกัน (ไม่อาจเทียบได้กับรัฐเยอรมนีหรือโปแลนด์) ปล้นหมู่บ้านเดียวก็ไม่พอกินทั้งกองทัพ ต้องกระจายทัพออกยึดหมู่บ้านห่างไกลให้พอกินกันทั้งกองทัพ ทำให้กองทัพฝรั่งเศสกระจายกันออกไปจนอ่อนกำลังลง ในระยะแรกที่บุกรัสเซีย จึงได้ชัยชนะอย่างรวดเร็วจนเข้าตีมอสโกได้ในเวลาอันสั้น ยิ่งหิวก็ยิ่งรุกหนัก

ที่นโปเลียนบอกว่ากองทัพเดินได้ด้วยท้องอาจไม่ได้หมายถึงเตรียมเสบียงให้พร้อมก็ได้นะครับ แต่หมายความว่าความหิวต่างหากที่ผลักทหารรุกเข้าตีข้าศึกได้อย่างรวดเร็ว

มีรายงานข่าวเหมือนกันว่า เมื่อยึดเมืองหรือบางส่วนของเมืองในยูเครนได้แล้ว สิ่งแรกที่ทหารรัสเซียทำคือเปิดตู้เย็น

 

ปัญหาใหญ่แก่กองทัพในการทำสงครามคือ จะปฏิบัติต่อคนที่ไม่เกี่ยวกับการสู้รบอย่างไร นับตั้งแต่ชาวนาที่ถูกปล้นอาหารไปจนหมดแล้ว, เชลยศึก, คนในเมืองซึ่งมีอาหารเหลืออยู่น้อยนิด ฯลฯ จะปล่อยให้คนทั้งหมดเหล่านี้หิวโซเพื่อให้กองทัพยึดครองอิ่ม ก็แน่ใจได้เลยว่าจะเกิดจลาจลใหญ่ของคนหิวซึ่งบั่นรอนกำลังของกองทัพไปโดยไม่จำเป็น ครั้นจะเลี้ยงอาหารคนเหล่านี้ แค่เก็บรวบรวมและขนส่งมาให้ถึงปากท้องเพียงอย่างเดียวก็จะไม่เหลือกำลังสำหรับทำสงครามต่อไปแล้ว

นี่ไม่ใช่ปัญหาของสงครามโบราณเท่านั้น แม้สงครามสมัยใหม่ก็ยังเป็นปัญหาอย่างมาก จะเหลือเศรษฐกิจของฝ่ายแพ้สงครามไว้แค่ไหน จึงจะทำให้การผลิตและกระจายอาหารยังดำเนินต่อไปได้ในระดับหนึ่ง เหลือไว้มากเกินไปก็เท่ากับเพิ่มพลังให้แก่ฝ่ายแพ้ซึ่งอาจลุกขึ้นสู้ใหม่ เหลือน้อยเกินไปก็อาจก่อให้เกิดทุพภิกขภัยร้ายแรงและการแข็งข้อ

นื่คือเหตุผลที่สงครามกองโจรแบบที่เวียดกงกระทำต่อกองทัพสหรัฐเป็นเรื่องน่ากลัวมาก กองทัพทันสมัยไม่มีหนทางจะต่อสู้ได้ เพราะแยกมิตรและศัตรูออกจากกันไม่ได้ แม้แต่กองโจรที่ไม่ประสบความสำเร็จในการกลืนเข้ากับมวลชนได้สนิทอย่างเวียดกง เช่น พคท.ของไทย ก็ยังปราบได้ยากมากแก่กองทัพสมัยใหม่ เพราะภูมิประเทศในเขตร้อนและประชากรที่ไม่หนาแน่นจนเกินไป เปิดโอกาสให้ฝากท้องไว้กับธรรมชาติได้มาก (แม้ไม่ทั้งหมด) ซ้ำยังอาจแอบผลิตอาหารบางส่วนได้เองและแอบขนจากชุมชนเครือข่ายได้อีกด้วย

เป้าหมายสงครามของรัฐทั้งโลกในสมัยโบราณ คือริบทรัพย์จับเชลย เพื่อใช้กำลังแรงงาน ผมให้สงสัยอย่างมากว่าจะทำได้อย่างไรก่อนที่จะเอาชนะข้าศึกได้เด็ดขาด เดาเอาจากหลักฐานไทยที่เหลือไม่มากนักก็คือ ตีได้บ้านเล็กเมืองน้อยแล้วก็ผ่อนเชลยลงมายังแดนของตนทีละน้อย ไม่ใช่รวบรวมเชลยจำนวนมากไว้ที่เดียวแล้วขนกลับเอาตอนได้ชัยชนะแล้ว เพราะไม่มีทางจะหาอาหารมาป้อนเชลยแน่

ในส่วนที่จะกวาดต้อนผู้คนมาได้เป็นหมื่น ทำได้ก็เฉพาะเมื่อชนะขาดแล้ว อาจได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองกลุ่มใหม่ที่ตนตั้งขึ้นเอง หรือมีเวลาให้เชลยได้เตรียมตัวอพยพด้วยการรวบรวมอาหารและญาติพี่น้องร่วมเดินทางมาพร้อมกับกองทัพ ซึ่งไม่มีทางจะเลี้ยงดูผู้คนจำนวนมากที่ถูกกวาดต้อนลงมาอย่างแน่นอน

 

ยังมีวิธี “ลดปากท้อง” ผู้คนที่ไม่มีส่วนในการสู้รบอีกสองอย่าง หนึ่งคือปล่อยให้หนีเข้าป่าไป แต่ต้องไม่เป็นชุมชนใหญ่พอที่จะกลายเป็นกำลังในการต่อสู้กับกองทัพได้ (เช่น บ้านระจัน ซึ่งที่จริงก็คือคนที่หนีพม่ามาจากแถบเขานางบวช สุพรรณบุรี) และเพื่อให้สำเร็จตามความมุ่งหมายก็คือทำให้การหลบหนีของชาวบ้านเป็นการ “แตกหนี” คือกระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มก้อน (ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ก็ทำได้ไม่ยากนัก เพราะกำลังในการจัดองค์กรมีอยู่กับชนชั้นนำจำนวนน้อยเท่านั้น เช่น เจ้าเมืองและพรรคพวก ถ้าคนเหล่านี้ตายหรือหลบหนีไป ที่เหลือก็มักไม่มีกำลังพอจะจัดองค์กรอะไรได้ใหญ่โตนัก)

เพื่อให้ “แตกหนี” ก็อาจต้องทำอะไรที่จัดเป็นหฤโหดได้ เช่น เผาเมืองทิ้งทั้งเมือง ผู้คนพากันหลบหนีโดยไม่มีโอกาสรวบรวมผู้คน ทำทารุณกรรมต่างๆ จนผู้คนในชุมชนต่างพากันหนีเอาตัวรอดอย่างไม่เป็นขบวน เป็นต้น

อีกวิธีหนึ่งคือฆ่าทิ้งอย่างซื่อๆ เลย วิธีนี้นอกจากช่วยลดปากท้องแล้วยังก่อความตื่นตระหนกหวาดกลัวอย่างสุดขีดแก่คนอื่น ต้องจำนนเสียยิ่งกว่าจำนน

ข่าวเรื่องทหารยูเครนฆ่าเชลยรัสเซียทิ้งนั้น ทางยูเครนยังไม่ได้ปฏิเสธ แต่สัญญาว่าจะสอบสวนเอาผิดผู้กระทำ สมมุติว่าได้เกิดขึ้นจริงก็เข้าใจได้ไม่ยากนะครับ ผมอยากเดาว่า แม้แต่การส่งเสบียงอาหารให้แก่ทหารยูเครนอย่างทั่วถึงก็ไม่น่าจะทำได้ดีนัก ส่วนหนึ่งซึ่งคงไม่น้อย ต้องพึ่งอาหารของชาวบ้านยูเครนในเมืองหรือในชนบทก็ตาม นอกจากความแค้นความเกลียดชังแล้ว ฆ่าเชลยทิ้งจึงแก้หรือบรรเทาปัญหาให้แก่กองทัพยูเครนไปได้หลายส่วน

 

ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของสงครามคือการทำลายขวัญข้าศึก กัมพูชา, ไทย, พม่า ล้วนใช้วิธีเดียวกันคือยึดเอา “ขวัญ” (palladium) ของข้าศึกมาเป็นของตน ส่วนใหญ่คือพุทธเจดีย์สำคัญ เช่น พระแก้วมรกต, พระเสริม, พระใส, พระพุทธสิหิงค์, พระมหามุนีของยะไข่ ฯลฯ เป็นต้น แต่การทำลายขวัญอย่างหฤโหดก็มีด้วยนะครับ ไม่ใช่เพียงแต่ยึด “ขวัญ” สำคัญอย่างเดียว เช่นเผาเชลยทิ้งทั้งเป็น, ฆ่าฟัน, ข่มขืน ฯลฯ

สิ่งที่กองทัพรัสเซียทำอยู่ในยูเครน ก็ไม่ต่างอะไรจากที่กองทัพเวียดนามใต้ภายใต้การกำกับและอุปถัมภ์ของสหรัฐทำกับประชาชนเวียดนามใต้ นั่นคือการทำลายขวัญข้าศึก

ยังมีการจัดการกับผู้คนที่ไม่เกี่ยวกับการสู้รบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความหฤโหดที่เกิดขึ้นได้ง่ายมากในสงครามทุกครั้ง นั่นคือความระแวงไม่ไว้วางใจในความปลอดภัยของตนเอง สงครามอินโดจีน ทั้งที่ทำโดยฝรั่งเศสและสหรัฐ เต็มไปด้วยเรื่องราวของความหฤโหดนานาชนิดที่กระทำแก่ประชาชนซึ่งไม่เกี่ยวกับการสู้รบโดยตรง ทั้งนี้เพราะพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสามารถดึงเอาประชาชนเข้ามาร่วมสนับสนุนการสู้รบของกองทัพได้อย่างกว้างขวาง หน้าของชาวเวียดนามแก่ฝรั่งเศสหรืออเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นหน้าเด็ก ผู้หญิง หรือคนแก่คือฆาตกรที่อาจคร่าชีวิตของตนได้ทุกขณะ เด็กขายพวงมาลัยอาจเอาระเบิดมาวางไว้ใต้โต๊ะเหล้าในบาร์ที่ทหารเข้าไปหย่อนใจก็ได้

นักจิตวิทยาบางคนอธิบายความหฤโหดของทหารอเมริกันที่กระทำแก่ชาวบ้าน ณ หมู่บ้านมีไลว่า มาจากสำนึกความหวาดกลัวอย่างลึกๆ เช่นนี้

ความหฤโหดของทหารรัสเซียในยูเครน ก็น่าจะมาจากเหตุเดียวกันด้วย เพราะถ้าโครงสร้างพื้นฐานด้านการทหารของยูเครนถูกทำลายไปอย่างย่อยยับในสัปดาห์แรกของสงครามดังที่รัสเซียอ้างแล้ว กองทัพยูเครนยังอาจสู้รบอย่างเข้มแข็งอยู่ได้อย่างไร ยายแก่ที่อุ้มหมาหนีอย่างดูไม่เป็นพิษภัยต่อใครนั้น เมื่อวานนี้ยังเปิดประตูให้ทหารยูเครนนำจรวดนำวิถีไปติดตั้งที่ชั้นบนหลังคาแฟลตอยู่เลย

 

ความหฤโหดอีกชนิดที่มากับสงครามคือการรีดเอาข้อมูลข่าวสารจากเชลยด้วยการทรมาน ดูเหมือนจะทำกันในทุกกองทัพ แต่ที่จริงแล้วไม่ได้ผลเท่าไรนัก เช่น อเมริกันสู้เอา “เชลย” จากสงครามก่อการร้ายไปขังไว้นอกดินแดนที่รัฐธรรมนูญสหรัฐครอบคลุมถึง (เช่น ประเทศไทย) เพื่อจะทรมานและรีดเอาข้อมูล

แต่ข้อมูลที่รีดได้ ส่วนใหญ่มักไม่จริง เพราะคนที่ทนการทรมานไม่ไหว ก็พร้อมจะให้ข้อมูลที่ผู้ทรมานอยากฟัง ซ้ำเมื่อนำขึ้นศาล ปรากฏว่าศาลอเมริกันซึ่งเป็นศาลยุติธรรมจริงๆ กลับไม่ฟัง เพราะเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ความหฤโหดกับสงครามแยกออกจากกันไม่ได้มาแต่ยุคหินแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่ได้ต้องการแก้ตัวให้แก่ใครทั้งสิ้น เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่า ในทางตรงกันข้าม ก็มีความพยายามลดความหฤโหดในสงครามลงด้วยวิธีอันหลากหลาย เช่น องค์กรกาชาดสากลอาจขอเข้าเยี่ยมค่ายกักกันเชลยศึกได้ มีสัญญาเจนีวาว่าด้วยปฏิบัติการทางทหาร และสัญญาระหว่างประเทศอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ทำให้การใช้ความหฤโหดมีราคาที่ต้องจ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญก็คือสำนึกของผู้คนทั่วโลกที่เห็นว่า ความหฤโหดไม่จำเป็นในการทำสงคราม ใครใช้ความหฤโหดก็จะแพ้ในสงครามสื่อสาร ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นทุกทีในโลกปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน การทำสงครามที่ไม่มีความหฤโหดหรือมีน้อย ต้องลงทุนเพื่อเตรียมการมากมายหลายอย่างเสียจนกระทั่ง ผมให้สงสัยว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก (เช่นไทย, พม่า, กัมพูชา ฯลฯ) ไม่พร้อมจะทำสงครามในโลกสมัยใหม่หรอกครับ ขืนทำก็ต้องพ่ายแพ้ในสงครามสื่อสารเป็นเบื้องต้นก่อนทันที