THE BATTLE WOUND ศิลปะจากบาดแผลแห่งการต่อสู้ทางการเมืองแบบทะลุฟ้า / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

THE BATTLE WOUND

ศิลปะจากบาดแผลแห่งการต่อสู้ทางการเมือง

แบบทะลุฟ้า

 

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “ทะลุฟ้า” คอการเมืองไทยหลายคนคงคุ้นเคยชื่อนี้เป็นอย่างดีในฐานะนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นใหม่ ที่ทำกิจกรรมชื่อ “เดินทะลุฟ้า” ด้วยการเดินขบวนจากภาคอีสานถึงกรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางของอำนาจเผด็จการ เป็นระยะทาง 247.5 ก.ม. ในเวลา 21 วัน เพื่อรณรงค์และสื่อสารถึงข้อเรียกร้องต่างๆ อย่าง การปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง (ในแคมเปญ “ปล่อยเพื่อนเรา”), การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังจากกิจกรรมที่ว่านี้ ทะลุฟ้ายังดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้ง “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ค่ายพักแรมของผู้ประท้วงทางการเมือง ที่ปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อสานต่อข้อเรียกร้องต่างๆ

หรือการจัดกิจกรรมประท้วงเชิงสร้างสรรค์หลากหลาย อย่างกิจกรรม ‘Art Gallery’ การจัดแสดงผลงานศิลปะและการแสดงเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การเคลื่อนไหวเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการต่อสู้แบบสันติวิธีของประชาชนมือเปล่าที่ไม่มีอาวุธใดๆ

ในขณะเดียวกันก็เต็มเปี่ยมไปด้วยศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ศิลปินหน้าไหนเลย

ในช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ทะลุฟ้าออกมาขับเคลื่อน เรียกร้อง ตีแผ่ปัญหาสังคมบนท้องถนน เพื่อแสดงถึงเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการส่งไปให้ถึงภาครัฐ แต่ผลที่ได้รับคือการถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง, การถูกจับกุม, คุมขัง, ดำเนินคดี และถูกคุกคามโดยอำนาจรัฐ

ประสบการณ์และความทรงจำที่เป็นเหมือนร่องรอยแห่งความบอบช้ำและบาดแผลของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกลุ่มนี้ ถูกนำเสนอให้เห็นเป็นรูปรรม ในนิทรรศการครั้งแรกในพื้นที่ทางศิลปะของพวกเขาที่มีชื่อว่า “THE BATTLE WOUND”

ที่หยิบเอาพยานวัตถุอันเป็นหลักฐานแห่งการต่อสู้ทางการเมืองของนักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้มานำเสนอในรูปของงานศิลปะหลากรูปแบบ ทั้งประติมากรรมเชิงสัญลักษณ์, ป้ายประท้วง, โปสเตอร์, ใบปลิว, สิ่งพิมพ์, ภาพพิมพ์อิงก์เจ็ต, กราฟิตี้, เสื้อยืดรณรงค์ ไปจนถึงวัตถุเก็บตกเหลือใช้และข้าวของรอบตัวทั่วไปที่ใช้สอยในการชุมนุม ฯลฯ

ดังคำกล่าวของพวกเขาที่ว่า

“ถ้าจะมีใครสักคนกล่าวว่าความเจ็บปวดคือสิ่งที่บอกได้ว่าเรานั้นยังมีชีวิต ดังนั้น…บาดแผลก็คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกได้ถึงร่องรอยของความทรงจำในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่เช่นกัน”

ตัวแทนกลุ่มนักต่อสู้ทางการเมืองผู้มีนามสกุลแห่งอุดมการณ์เดียวกันอย่าง วอดอ ทะลุฟ้า, คิม ทะลุฟ้า และเอ็กซ์ ทะลุฟ้า บอกเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“นิทรรศการครั้งนี้เริ่มต้นจากการที่ทางทะลุฟ้าอยากจะจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการต่อสู้ของเราตอนสิ้นปี โดยใช้ชื่องานว่า ‘ลงถนน’ เป็นการแสดงงานศิลปะในพื้นที่ชุมนุมบนท้องถนน เพราะทะลุฟ้าต่อสู้เคลื่อนไหวบนท้องถนนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก่อนที่จะจัดงานที่ว่าขึ้นมา เรามีโอกาสได้ไปเชียงใหม่ และได้เจอกับคุณมิตร ใจอินทร์ ได้พูดคุยกับเขาว่าคิดเห็นอย่างไรกับการที่นักเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองอยากแสดงงานศิลปะ”

“เขาก็บอกว่า สิ่งที่พวกเราทำอยู่คือการใช้ศิลปะในการต่อสู้เคลื่อนไหวบนท้องถนนอยู่แล้ว เขายังเสนอให้พวกเราลองมาทำนิทรรศการในพื้นที่ Cartel Artspace ของเขาดู, เมื่อมีคนหยิบยื่นโอกาสให้ เราก็เลยทดลองทำกัน จนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะครั้งนี้ขึ้นมา”

ด้วยเหตุนี้ ทะลุฟ้าจึงเคลื่อนตัวเองจากการต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนนเข้ามาชิมลางในพื้นที่ทางศิลปะเป็นครั้งแรก

“ปกติเวลาเราทำม็อบก็มีการใช้ศิลปะในการเคลื่อนไหวและสื่อสารอยู่แล้ว อย่างในทะลุฟ้ามีคนที่เรียนมาทางด้านศิลปะ เรียนกราฟิกดีไซน์ เรียนภาพยนตร์ หรือบางคนก็เรียนด้านท่องเที่ยว เรียนนิติศาสตร์ คละกัน ก็ได้มุมมองที่แตกต่างกันไป”

“เรามองว่าม็อบคือสนามวัฒนธรรม ปกติเวลาเราลงม็อบก็จะมีมวลชนมาจากที่ต่างๆ หลากหลายอยู่แล้ว เราก็อยากลองเปิดสนามวัฒนธรรมที่เป็นการพูดคุยกับคนทำงานศิลปะมากขึ้น เพราะเราเองก็เคยได้รับความช่วยเหลือจากคนที่ทำงานในสายศิลปะ อย่างคุณตะวัน (วัตุยา) ที่เข้ามาวาดรูปผู้ชุมนุมในหมู่บ้านทะลุฟ้าบางทีเราก็เชิญศิลปินมาทำงานศิลปะ หรือทำศิลปะแสดงสดบนท้องถนนในระหว่างที่เรากำลังจัดม็อบกันอยู่ ซึ่งเชื่อมโยงกับคอนเซ็ปต์งาน ‘ลงถนน’ ที่เราวางเอาไว้ในตอนแรก”

“พอเรามีโอกาสได้พื้นที่แสดงงาน เราก็ลองคิดว่า ถ้าเราลองเอางานศิลปะบนท้องถนนมาแสดงในพื้นที่หอศิลป์ดู ก็อาจจะได้แง่มุมหรือความรู้สึกใหม่ๆ ได้สื่อสารกับคนกลุ่มอื่นๆ เพิ่มขึ้น และได้เปิดมุมมองให้คนกลุ่มใหม่ๆ เข้าใจการต่อสู้ของทะลุฟ้า หรือการต่อสู้ของเยาวชนและวัยรุ่นในปัจจุบันมากขึ้น”

“ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่เป็นวาระครบรอบ 1 ปี ที่ทะลุฟ้าก่อตั้งขึ้นมา”

“เราก็มองว่า ถ้าอย่างนั้นเราเล่าเป็นคอนเซ็ปต์ประมาณนี้แหละ เป็นการประมวลภาพและเหตุการณ์ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยเล่าเรื่องผ่านสิ่งของต่างๆ ที่นำมาจัดแสดง ด้วยความที่เรามีเวลาน้อย จนไม่สามารถสร้างชิ้นงานใหม่ขึ้นได้ทัน เราก็เลยเอาสิ่งของที่เรามี ซึ่งเรามองว่ามันคือศิลปะ มาจัดแสดง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวภายใต้คอนเซ็ปต์ที่มีชื่อว่า ‘THE BATTLE WOUND’ หรือ ‘บาดแผลแห่งการต่อสู้’ เพราะสิ่งของเหล่านี้ผ่านเหตุการณ์, ผ่านเรื่องราว, ผ่านสี (จากน้ำผสมสารเคมี), ผ่านแก๊สน้ำตา, ผ่านการถูกดำเนินคดีมา สิ่งเหล่านี้คือบาดแผลของนักกิจกรรม”

“เราก็เอาประสบการณ์เหล่านี้ของเรามาเล่าให้ผู้ชมฟัง ไม่ได้เล่าด้วยการพูดคุย แต่เล่าผ่านสิ่งของ อย่างป้ายผ้าประท้วงที่ใช้คลุมทับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือหุ่นศพจำลอง ที่เราใช้ในการเสียดสีและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แทนผู้เสียชีวิตในสถานการณ์โควิด, เสื้อผ้าของพวกเราแต่ละตัวที่ไม่ได้มีสภาพดีเท่าไหร่ หรือวัตถุข้าวของทุกอย่างที่เราใช้ในม็อบ ในกิจกรรมเคลื่อนไหวต่างๆ แม้แต่สิ่งของบางอย่างที่ดูไม่เหมือนมาจากม็อบอย่าง ตะหลิว ทัพพี ก็เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำกับข้าวให้พวกเรากินในม็อบทุกวัน หรือจักรเย็บผ้า ที่เราใช้เย็บป้ายผ้าประท้วง หรือทำหุ่นจำลอง”

“สิ่งของต่างๆ เหล่านี้ ถ้าคนอื่นมาเห็นก็อาจจะสงสัยว่าคืออะไร แต่ในข้าวของทุกชิ้นก็มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับการต่อสู้ของเรา ของคนในทะลุฟ้าจริงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่ช่วยขับเคลื่อนเราให้เดินหน้าต่อไปได้เหมือนกัน”

“เราเอาข้าวของเหล่านี้มาเล่าให้เชื่อมร้อยกันเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์หลักของเรา เราอยากให้เรื่องราวเหล่านี้ขยายความเข้าใจเกี่ยวกับม็อบ เกี่ยวกับการต่อสู้ของเราให้ขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น ไม่จำกัดอยู่แค่คนที่สนใจการเมืองเท่านั้น เพราะเราคิดว่าศิลปะเข้ากับคนได้ทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย เพราะฉะนั้น เราเลยมาลองลุยในสนามนี้กัน เพื่อให้การต่อสู้ของเราได้ถูกตีแผ่และสื่อสารกับผู้คนได้มากขึ้น”

ไม่เพียงนักต่อสู้เคลื่อนไหวอย่างทะลุฟ้า (และกลุ่มอื่นๆ) ที่ใช้ศิลปะในการขับเคลื่อนทางการเมืองได้อย่างเปี่ยมสีสันและทรงพลัง ในทางกลับกัน ศิลปินไทยหลายคนเองก็ต่างตบเท้าเข้ามาทำงานศิลปะเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองกันถ้วนหน้า ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ “การเมือง” เคยเป็นเรื่องต้องห้าม ราวกับเป็นเผือกร้อนในแวดวงศิลปะไทยก็ไม่ปาน

“เราจะเห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมา มีคนทำงานศิลปะเกี่ยวกับการเมืองเยอะมาก จริงๆ ก่อนหน้านี้อาจจะมีก็ได้ แต่เราไม่ค่อยเห็น เพราะเขาอาจถูกเซ็นเซอร์ก็เป็นได้ แต่ช่วงปีที่ผ่านมา ด้วยความที่เราเรียนศิลปะมา เราก็จะชอบไปดูนิทรรศการต่างๆ เราสังเกตได้ว่า ศิลปินกล้าที่จะพูด กล้าที่จะแสดงออกมาขึ้น สปอนเซอร์หลายแห่งเองก็กล้าที่จะสนับสนุนศิลปินที่ทำงานการเมืองกันมากขึ้น เราก็เลยคิดว่า การที่นักกิจกรรมฯ นักเคลื่อนไหวฯ อย่างเราจะมาทำงานศิลปะ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดแปลกอะไร เราก็เป็นแค่คนที่ทำงานการเมือง เป็นคนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง แล้วเอาประสบการณ์ของเรามาแสดงออกให้คนเห็นผ่านศิลปะเท่านั้นเอง”

“เหมือนที่อาจารย์ทัศนัย (เศรษฐเสรี) เคยพูดว่า ‘ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร’ ซึ่งเราคิดว่าจริงมาก เพราะศิลปะควรเป็นของทุกคน ทุกคนสามารถใช้งานมันได้ ศิลปะควรจะพูดได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร (แม้แต่เรื่องการเมืองก็ตาม) ศิลปะไม่ควรถูกจำกัดว่าห้ามพูดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ ศิลปะควรเป็นอิสระ และเป็นได้ทุกอย่างโดยไม่มีขอบเขต”

นิทรรศการ The Battle Wound of Thalufah จัดแสดงที่ Cartel Artspace ซอยนราธิวาส 22, ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม-30 เมษายน 2565 ทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 13:00-18:00 น. (ปิดทุกวันอังคาร)

เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook @Cartelartpace

ขอบคุณภาพจาก ทะลุฟ้า •