วงจรของน้ำและทะเลในคัมภีร์กุรอาน (จบ)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

วงจรของน้ำและทะเลในคัมภีร์กุรอาน (จบ)

 

ข้อความต่อไปนี้ต้องการคำอธิบายอยู่บ้าง ซูเราะฮ์ที่ 56 โองการที่ 68 และ 70 : “พวกเจ้าเคยสังเกตดูน้ำที่พวกเจ้าดื่มหรือไม่? พวกเจ้าเอามันมาจากเมฆฝนเองหรือ หรือว่าเราเป็นผู้นำมา? หากเป็นความประสงค์ของเรา เราก็อาจทำให้มันมีรสเค็มได้ แล้วเหตุไฉนพวกเจ้าจึงไม่สำนึกในบุญคุณเล่า?”

นี่เป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถทำให้น้ำสะอาดมีรสเค็มได้ นั่นเป็นวิธีแสดงถึงอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าอีกวิธีหนึ่งที่จะเตือนเราให้นึกถึงความมีอำนาจทั่ว เช่นเดียวกันนี้ก็คือการท้าทายมนุษย์ให้ทำให้ฝนตกลงมาจากก้อนเมฆ

อย่างไรก็ตาม ในสมัยใหม่นี้เทคโนโลยีสามารถสร้างฝนเทียมขึ้นมาได้ แต่จะมีใครคัดค้านคำกล่าวในกุรอานได้บ้างในเรื่องความสามารถของมนุษย์ในการทำให้น้ำไหลอย่างแรงได้?

คำตอบคือไม่มี เพราะดูเหมือนจะชัดเจนอยู่แล้วว่ามนุษย์มีความสามารถจำกัดในแวดวงนี้ เอ็ม.เอ.ฟาซี (M.A.Facy) ผู้เชี่ยวชาญแห่งสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งฝรั่งเศส ได้เขียนข้อความต่อไปนี้ไว้ในหนังสือเอนไซโคลปีเดียยูนิเวอร์แซล ภายใต้หัวข้อ การทำให้ฝนตกว่า “ไม่มีวันเป็นไปได้เลยที่จะทำให้ฝนตกลงมาจากก้อนเมฆที่ไม่ได้มีลักษณะที่เหมาะสมของเมฆฝนหรือที่ยังไม่บรรลุถึงขั้นที่จะวิวัฒนาไป (คือโตเต็มที่)”

เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงไม่มีวันที่จะเร่งกระบวนการทำให้ฝนตกโดยวิธีที่ใช้เทคโนโลยีเมื่อไม่มีสภาพธรรมชาติของมันเอง ถ้าไม่เป็นเช่นนี้หยดน้ำก็จะไม่มีอยู่ ดังนั้น การเข้าไปควบคุมฝนและทำให้อากาศดีจึงคงยังเป็นเพียงความฝันเท่านั้น

มนุษย์ไม่สามารถทำลายวงจรที่กำหนดเอาไว้ได้ ซึ่งรักษาการหมุนเวียนของน้ำในธรรมชาติไว้ วงจรนี้อาจเขียนคร่าวๆ ตามความคิดปัจจุบันในเรื่องอุทกศาสตร์ได้ดังต่อไปนี้

แคลอรีที่ได้มาจากรัศมีของดวงอาทิตย์ทำให้ทะเลและพื้นผิวของโลกส่วนที่ถูกปกคลุมหรือเปียกชุ่มอยู่ในน้ำมีการระเหยไป ละอองไอน้ำที่ระเหยจะลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศและกลายเป็นก้อนเมฆเพราะการทำให้เข้มข้น ครั้นแล้วลมก็เข้ามาเกี่ยวข้องและทำให้ก้อนเมฆเคลื่อนไหวไปเป็นระยะทางต่างๆ แล้วก้อนเมฆอาจจะกระจายไปโดยไม่ได้เกิดฝนหรือไปรวมกับก้อนเมฆก้อนอื่นๆ เพื่อทำให้มีความเข้มข้นมากขึ้นหรือมันอาจจะแตกตัวออกและทำให้เกิดฝนได้ในขั้นตอนใดๆ แห่งวิวัฒนาการของมันก็ได้

เมื่อฝนไปถึงทะเล (ร้อยละ 70 ของพื้นผิวโลกถูกปกคลุมด้วยทะเล) ในไม่ช้าวงจรนี้จะเกิดซ้ำขึ้นใหม่ เมื่อฝนตกลงมาบนพื้นดิน มันอาจถูกพืชดูดซับไป ดังนั้น จึงเกิดการเจริญเติบโตของพืช ในทางกลับกันพืชจะคืนน้ำออกมา ดังนั้น จึงคืนน้ำบางส่วนให้แก่บรรยากาศ ส่วนที่เหลืออาจจะน้อยหรือมากก็ได้ก็จะแทรกซึมเข้าไปในเนื้อดินแล้วก็ไหลไปตามช่องทางต่างๆ ไปสู่ทะเล หรือมิฉะนั้นก็กลับมาสู่พื้นผิวโลกโดยอาศัยน้ำพุหรือการกลับมามีชีวิตใหม่

เมื่อเราเปรียบเทียบข้อมูลสมัยใหม่ของอุทกศาสตร์กับสิ่งที่มีอยู่ในโองการกุรอานหลายโองการที่ยกมาอ้างแล้ว เราก็จะต้องยอมรับว่ามีความคล้องจองระหว่างสิ่งทั้งสองนี้อยู่มากทีเดียว

 

ท้องทะเลในคัมภีร์กุรอาน

ในขณะที่โองการกุรอานข้างบนนี้ให้วัตถุดิบที่จะเปรียบเทียบกับความรู้สมัยใหม่เกี่ยวกับวงจรของน้ำในธรรมชาติ แต่สำหรับเรื่องท้องทะเลกลับไม่เป็นอย่างนั้น

ไม่มีคำพูดสักคำเดียวในกุรอานที่จะยกมาเทียบกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนั้นได้เลย อย่างไรก็ตาม นี่ก็มิได้ลบล้างความจำเป็นของการที่จะชี้ออกมาว่าไม่มีคำพูดในกุรอานที่เกี่ยวกับทะเลที่กล่าวถึงความเชื่อ นิยายหรือเรื่องทางไสยศาสตร์ซึ่งมีอยู่ในสมัยที่มีวะห์ยุ (วิวรณ์หรือการเปิดเผย) ลงมา

มีโองการจำนวนหนึ่งที่กล่าวถึงท้องทะเลและการแล่นเรือในฐานะที่เป็นเรื่องสำหรับการใคร่ครวญคิด โองการเหล่านี้ชี้ให้เห็นความมีอำนาจทั่วของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสังเกตธรรมดาๆ ตัวอย่างโองการเหล่านั้นคือ

ซูเราะฮ์ที่ 13 โองการที่ 32 : “(พระผู้เป็นเจ้า) ทรงให้พวกเจ้าได้ใช้เรือเพื่อแล่นไปมาในท้องทะเล โดยอนุมัติของพระองค์”

ซูเราะฮ์ที่ 16 โองการที่ 14 : “(พระผู้เป็นเจ้า) คือผู้ทรงควบคุมท้องทะเล เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้กินเนื้อสดจากมัน และพวกเจ้าจะได้เก็บเครื่องประดับที่พวกเจ้าสวมใส่จากมัน พวกเจ้าแลเห็นเรือแล่นฝ่าคลื่นไปเพื่อพวกเจ้าจะได้แสวงหาความอุดมสมบูรณ์ของพระองค์ บางทีพวกเจ้าอาจมีความขอบคุณ”

ซูเราะฮ์ที่ 31 โองการที่ 31 : “พวกเจ้าแลเห็นหรือไม่ว่าเรือแล่นไปในทะเลด้วยความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อจะได้ให้พวกเจ้าแลเห็นสัญญาณของพระองค์ แน่แท้ ในสิ่งนี้คือสัญญาณสำหรับคนทั้งหลายผู้อุตสาหะพยายามและมีความขอบคุณ”

ซูเราะฮ์ที่ 36 โองการที่ 41-44 : “ข้อพิสูจน์สำหรับพวกเขาคือเราบรรทุกลูกหลานของพวกเขาไว้ในเรือใหญ่ที่บรรทุก เราได้สร้าง (เรือ) ที่เหมือนอย่างนั้นให้พวกเขาซึ่งพวกเขาขับขี่ไป ถ้าเราประสงค์เราจะทำให้พวกเขาจมน้ำเสียและจะไม่มีความช่วยเหลือ และพวกเขาจะไม่ได้รับการช่วยชีวิตไว้เว้นเสียแต่ด้วยความเมตตาจากเราและในฐานะที่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความอิ่มใจชั่วพักหนึ่ง”

คำกล่าวในที่นี้เห็นได้ค่อนข้างชัดว่าพูดถึงเรือที่บรรทุกมนุษย์ไปในท้องทะเลเช่นเดียวกับที่นานมาแล้ว นูฮ์ (โนอา) และคนอื่นๆ ในเรือถูกบรรทุกไปในเรือใหญ่ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถไปถึงแผ่นดินที่แห้งได้

มีข้อเท็จจริงอีกข้อหนึ่งที่เกี่ยวกับทะเลที่โดดเด่นออกมาเพราะลักษณะอันพิเศษของมัน จากโองการกุรอานที่เขียนถึงทะเล มีโองการสามโองการที่กล่าวถึงลักษณะบางอย่างของแม่น้ำใหญ่ๆ เมื่อมันไหลไปสู่มหาสมุทร

ปรากฏการณ์นี้เป็นที่รู้จักกันดีและแลเห็นกันอยู่บ่อยๆ ตรงที่น้ำทะเลที่มีรสเค็มและน้ำจืดในแม่น้ำมิได้ผสมกันในทันที กุรอานกล่าวถึงเรื่องนี้ในกรณีที่คิดกันว่าเป็นปากแม่น้ำไทกริสและแม่น้ำยูเฟรตีสตรงที่มันมาบรรจบกันและกลายเป็นสิ่งที่เราอาจเรียกว่า “ทะเล” ยาวกว่า 100 ไมล์ นั่นคือแม่น้ำชัตตุลอรับที่ส่วนในของอ่าว

ผลของกระแสน้ำคือทำให้เกิดปรากฏการณ์ของการไหลของน้ำจืดเข้าไปยังส่วนในของแผ่นดินที่แห้ง ดังนั้น จึงทำให้แน่ใจว่ามีการทดน้ำที่พอเพียง

ในการที่จะเข้าใจความได้อย่างถูกต้องนั้นเราจะต้องรู้คำภาษาอังกฤษว่า “sea” (ทะเล) นั้น มีความหมายทั่วไปของคำภาษาอาหรับว่า บะฮัร ซึ่งหมายถึงน้ำจำนวนมากและใช้สำหรับทะเลและแม่น้ำใหญ่ๆ เช่น แม่น้ำไนล์ ไทกริส และยูเฟรตีส

ต่อไปนี้คือโองการสามโองการที่บรรยายถึงปรากฏการณ์นี้

ซูเราะฮ์ที่ 25 โองการที่ 53 : “(พระผู้เป็นเจ้า) ทรงเป็นผู้ที่ปล่อยให้ทะเลสองทะเลเป็นอิสระ ทะเลหนึ่งรสหวานเป็นที่น่าพอใจ อีกทะเลหนึ่งมีรสเค็มและขม พระองค์ทรงวางเครื่องกั้นไว้ระหว่างทะเลทั้งสองเป็นเครื่องกั้นที่ห้ามไม่ให้มันผ่านไป”

ซูเราะฮ์ที่ 35 โองการที่ 12 : “ทะเลทั้งสองไม่เหมือนกัน น้ำในทะเลหนึ่งนั้นเป็นที่น่าพอใจ หวานน่าดื่ม ส่วนอีกทะเลหนึ่งเค็มและขม พวกเจ้ากินเนื้อสดจากมัน และพวกเจ้าเก็บเครื่องประดับซึ่งพวกเจ้าสวมใส่มาจากมัน”

ซูเราะฮ์ที่ 55 โองการที่ 19-20 และ 22 : “พระองค์ทรงปล่อยทะเลสองทะเลออกมา มันมาบรรจบกันในระหว่างทะเลทั้งสองนั้นมีสิ่งกีดขวางซึ่งมันมิได้ล่วงล้ำ จากทะเลทั้งสองมีไข่มุกและกัลปังหา”

นอกจากจะบรรยายถึงข้อเท็จจริงสำคัญแล้ว โองการเหล่านี้ยังกล่าวถึงสิ่งนี้ว่าได้มาจากน้ำดื่มและน้ำทะเล เช่น ปลา เครื่องประดับส่วนตัวคือกัลปังหาและไข่มุก

ในเรื่องที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ว่าน้ำในแม่น้ำไม่ได้ผสมกับน้ำทะเลที่ปากน้ำนั้น เราต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้มิได้มีอยู่ที่แม่น้ำไทกริสและยูเฟรตีสเท่านั้น ในกุรอานไม่ได้กล่าวชื่อไว้แต่คิดกันว่ากล่าวถึงแม่น้ำทั้งสองนี้ แม่น้ำที่มีน้ำไหลออกอย่างกว้างใหญ่อย่างเช่น แม่น้ำมิสซิสซิปปีและแม่น้ำแยงซีก็เช่นเดียวกัน คือน้ำจืดในแม่น้ำจะไม่ผสมกับน้ำเค็มในทะเลและจะไม่ใคร่เกิดขึ้นเช่นนั้นจนกว่ามันจะอยู่ไกลออกไปในทะเลแล้ว