บริติช เคานซิล ร่วมกับเอฟซีดีโอ เปิดตัวโครงการ Climate Change and Girls’ Education ชี้การค้นพบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อการศึกษาของผู้หญิง

·      บริติช เคานซิล เชิญชวนเยาวชนอายุระหว่าง 14 – 17 ปี ร่วมแชร์ไอเดียในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการศึกษาของเด็กผู้หญิง

·      บริติช เคานซิล เปิดให้ดาวน์โหลดสื่อการสอนสำหรับครูผู้สอน ในหัวข้อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการศึกษาของเด็กผู้หญิงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

กรุงเทพฯ 25 มีนาคม 2565บริติช เคานซิล ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา สหราชอาณาจักร (FCDO) เปิดตัวโครงการ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการศึกษาของเด็กผู้หญิง วงจรอุบาทว์หรือวงจรประเสริฐ” ในกลุ่มประเทศอาเซียน (Climate Change and Girls’ Education in ASEAN–a vicious or virtuous circle?) สร้างความตระหนักในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการศึกษาของเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นวาระสำคัญอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสและพื้นที่เพื่อการหารือร่วมกันระหว่างกลุ่มเยาวชน ผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา และผู้กำหนดนโยบายจาก 10 ประเทศทั่วอาเซียน และประเทศติมอร์-เลสเต ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การประกวดออกแบบสื่อโปสเตอร์ 2.สื่อการเรียนการสอน และ 3.เวทีสนทนาเชิงนโยบาย ตามพันธกิจที่มุ่งมั่นเป็นกระบอกเสียงในการสะท้อนเสียงของเยาวชนรุ่นใหม่ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ดีขึ้น

            มร.เลห์ตัน เอิร์นสเบิร์กเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและภาษาอังกฤษ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก บริติช เคานซิล กล่าวว่า ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นด้านความไม่เท่าเทียมทางเพศต่างเป็นประเด็นระดับโลกที่หลากหลายประเทศให้ความสนใจ ซึ่งแท้จริงแล้ว หลากหลายงานวิจัยได้สะท้อนว่าทั้งสองปัญหาระดับโลกนี้มีล้วนความเกี่ยวข้องกัน บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรนานาชาติจากสหราชอาณาจักรเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและโอกาสทางการศึกษา จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา (Foreign, Commonwealth & Development Office – FCDO) สหราชอาณาจักร เปิดตัวโครงการ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการศึกษาของเด็กผู้หญิงในอาเซียน” (Climate Change and Girls’ Education in ASEAN) เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นดังกล่าว และเป็นกระบอกเสียงในการสนับสนุนสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศในการศึกษา

มร.เลห์ตัน กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ และยังมีความเชื่อมโยงกับปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางเพศ สภาวะสุดขั้วของสภาพอากาศไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์อุทกภัยที่รุนแรงหรือภัยแล้งนอกฤดูกาล ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเยาวชนและเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาส จากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศที่มีอยู่ก่อนแล้วยิ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่เด็กผู้หญิงจะได้กลับไปเรียนที่โรงเรียน รวมถึงได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างที่ควรจะเป็น

สำหรับโครงการดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่เยาวชนรุ่นใหม่ บุคลากรในวงการการศึกษา รวมถึงผู้กำหนดนโยบายในกลุ่มประเทศทั่วอาเซียนและติมอร์-เลสเต ประกอบด้วย 3 กิจกรรมตามรายละเอียด ดังนี้

·      การประกวดออกแบบสื่อโปสเตอร์ (Poster Competition) เพื่อเชิญชวนเยาวชนอายุระหว่าง 14 – 17 ปี ไม่จำกัดเพศ ใน 10 ประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต เข้าร่วมการประกวดออกแบบสื่อโปสเตอร์อินโฟกราฟิกในหัวข้อ Climate Change and Girls’ Education ที่อธิบายความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการศึกษาของเด็กผู้หญิงในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจโดยผู้ชนะรวมถึงครูที่ปรึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรจาก บริติช เคานซิล และได้รับโอกาสในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเวทสนทนาเชิงนโยบายระดับภูมิภาคอาเซียน เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 24 เมษายน2565

·      สื่อการเรียนการสอน (School Resource Pack) ชุดเครื่องมือสื่อการเรียนการสอนสำหรับครูที่ออกแบบมาเพื่อใช้บูรณาการในรายวิชาหลักของโรงเรียนและในห้องเรียนที่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความสำคัญของการศึกษาของเด็กผู้หญิง โดยเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษจะเริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะได้รับการแปลเป็น 8 ภาษาหลักของอาเซียน ได้แก่ บาฮาซาอินโดนีเซีย บาฮาซามาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ เขมร ลาว ไทย และเวียดนาม ซึ่งจะเปิดให้บริการในช่วงต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้  

 

·      เวทีสนทนาเชิงนโยบาย (Policy Dialogue Event) กิจกรรมที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหารือเกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากเยาวชนผู้ชนะการประกวด รวมไปถึงการมุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ในรูปแบบออนไลน์

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียด กำหนดการจัดงาน และเงื่อนไขเพื่อสมัครเข้าร่วมกิจกรรมรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.britishcouncil.or.th/en/programmes/climate-connections/girls-education สามารถติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของกิจกรรมตลอดทั้งปี ของบริติช เคานซิล ได้ที่เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th หรือ เฟสบุ๊คแฟนเพจ British Council Thailand

###

เกี่ยวกับบริติช เคานซิล

บริติช เคานซิล คือ องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร เราทำงานกับประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกผ่านงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ การศึกษา และภาคประชาสังคม ในปีที่ผ่านมาเราสื่อสารโดยตรงกับผู้คนมากกว่า 80 ล้านคน และสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์กับผู้คนกว่า 791 ล้านคน เราสร้างประโยชน์แก่ประเทศที่เราทำงานด้วยผ่านทรัพยากรทางวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นโดยการสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย และสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน บริติช เคานซิล ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2477 ภายใต้พระบรมราชานุญาตและพระราชบัญญัติองค์การอิสระแห่งสหราชอาณาจักร เราได้รับเงินสนับสนุนร้อยละสิบห้าโดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร